ในห้วง
3-4 ทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยเน้น การเกษตรเพื่อการส่งออก โดยส่งเสริมให้เกษตกรกรปลูกพืชเศรษฐกิจชนิดเดียวเป็นพื้นที่ใหญ่ๆ
ใช้พันธุ์พืชที่ให้ผลผลิตสูง แต่การผลิตต้องใช้ปุ๋ยและสารเคมีในปริมาณมาก
การเพิ่มผลผลิตมักเน้นการขยายพื้นที่มากกว่าวิธีการเพิ่มผลผลิตต่อไร่
และการผลิตที่ขาดการอนุรักษ์ส่งผลให้ ป่า-ดิน-น้ำ เสื่อมโทรมอย่างรวดเร็ว
ความหลากหลายทางชีวภาพลดลงส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ
ผลที่ตามก็คือ ประสิทธิภาพการผลิตลดลง ต้องใช้ปัจจัยการผลิตมากขึ้นเรื่อยๆ
ซึ่งนอกจากจะทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นแล้วยังก่อให้เกิดปัญหาสารพิษตกค้างในผลผลิตและสิ่งแวดล้อม
ค่าใช้จ่ายปัจจัยการผลิตที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วไม่สมดุลกับรายได้จากการขายผลผลิต
โดยเฉพาะในยุคโลกาภิวัฒน์ ปัจจัยการผลิตส่วนใหญ่เป็นสินค้านำเข้าจึงมีราคาแพง
ผนวกกับภัยธรรมชาติและการระบาดของโรคและแมลงศัตรูพืชที่รุนแรงขึ้น
ทำให้เกษตรกรประสบภาวะขาดทุน มีหนี้สินล้นพ้นตัว บางรายต้องขายที่ทำกินแล้วไปบุกรุกพื้นที่ป่าหรือไม่ก็ทิ้งถิ่นฐานไปทำงานในเมือง
จากสภาพปัญหาข้างต้น การพัฒนาการเกษตรแบบยั่งยืนนับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งในสถานการณ์ปัจจุบัน
การเกษตรยั่งยืน (Sustainable agriculture) เป็นหลักการที่ว่าด้วยการจัดการทรัพยากรเพื่อการผลิตทางการเกษตรที่ประสบความสำเร็จ
เพื่อสนองความจำเป็นอันเปลี่ยนแปลงของมนุษย์ โดยสามารถดำรงหรือบำรุงคุณภาพสิ่งแวดล้อม
และอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ นอกจากนี้การพัฒนาการเกษตรในปัจจุบันยังจำเป็นจะต้องดำเนินการให้เป็นไปทั้งระบบ
กล่าวคือ ต้องคำนึงถึงความเหมาะสมของการใช้ที่ดินรูปแบบต่างๆ และผลกระทบที่จะมีต่อกันและกัน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำการเกษตรที่มีความจำเป็นต่อชีวิตความเป็นอยู่ของชาวชนบท
จะต้องคำนึงถึงผลกระทบที่จะมีต่อการฟื้นฟูสภาพป่าไม้และสิ่งแวดล้อมโดยรวมด้วย
โดยเฉพาะป่าไม้ที่เป็นฐานทรัพยากรที่สำคัญของการพัฒนาประเทศ

วนเกษตร (Agroforestry) นับเป็นแนวทางหนึ่งของรูปแบบการใช้ที่ดินที่จะเปลี่ยนจากระบบการเกษตรดั้งเดิมไปสู่ระบบการเกษตรที่ยั่งยืน
เป็นการผสมผสานความกลมกลืนให้เกิดขึ้นระหว่างไม้ยืนต้นกับกิจกรรมการเกษตรต่างๆ
ที่ก่อให้เกิดความสมดุลทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของที่ดินหน่วยหนึ่งๆ
ซึ่งอาจเป็นในระดับแปลง ระดับฟาร์ม ระดับลุ่มน้ำ ระดับภูมิภาค ไปจนถึงระดับประเทศ
วนเกษตรก่อให้เกิดผลดีทั้งทางด้านระบบนิเวศและเศรษฐกิจสังคมอย่างไร
คำตอบคือ การทำวนเกษตรซึ่งมีต้นไม้เป็นองค์ประกอบรวมอยู่ด้วยนั้น เป็นการใช้ทรัพยากรในพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพทั้งทรัพยากรที่อยู่เหนือพื้นดินได้แก่
แสงสว่าง อากาศ และน้ำ และที่อยู่ใต้ดิน ได้แก่ น้ำและธาตุอาหาร ช่วยฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของดินโดยการหมุนเวียนธาตุอาหารของต้นไม้
ช่วยอนุรักษ์ดินและน้ำ เป็นระบบที่ก่อให้เกิดผลผลิตที่หลากหลายและยั่งยืน
ทั้งไม้ใช้สอย ไม้ฟืน แหล่งอาหารเสริม แหล่งอาหารสัตว์ เส้นใย สมุนไพร
ฯลฯ และช่วยลดต้นทุนการผลิตในฟาร์ม
ตัวอย่างการทำวนเกษตร ได้แก่ การปลูกไม้อเนกประสงค์ในพื้นที่เกษตรกรรม
สวนไม้ควบพืชสวน การปลูกไม้ยืนต้นบนคันนา การปลูกพืชควบในสวนป่า แถบไม้กันลม
การปลูกไม้พุ่มในทุ่งหญ้า การปลูกต้นไม้ริมบ่อเลี้ยงปลา การปลูกไม้หลายชั้นเรือนยอด
สวนบ้าน สวนไม้ป่าชุมชน รั้วไม้อาหารสัตว์ รั้วไม้อเนกประสงค์ในพื้นที่ฟาร์มผสมผสาน
ฯลฯ
บทเรียนจากอดีตจนถึงปัจจุบัน หากเรายังไม่มีการปรับเปลี่ยนการทำการเกษตรจากแบบเดิมๆ
อนาคตเกษตรกรไทยโดยเฉพาะชาวชนบทคงหนีไม่พ้นการทำการเกษตรแบบเจ็บป่วยเรื้อรัง
ดังนั้นวนเกษตรจึงเป็นเกษตรทางเลือกใหม่สำหรับเกษตรกรไทยหรือมองอีกมุมหนึ่ง
วนเกษตรเปรียบเสมือนการทำการเกษตรตามแนวพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในเรื่องเกษตรทฤษฎีใหม่และเศรษฐกิจพอเพียงนั่นเอง
|