การจัดทำระบบ Early Warning System
สำหรับพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย-ดินถล่มในพื้นที่ลาดชันและที่ราบเชิงเขา

สุเทพ จันทร์เขียว, นิพนธ์ ตั้งธรรม, วันชัย อรุณประภารัตน์, ชัชชัย ตันตะสิรินทร์,
วิชญ์ ศรีวงษา, วีระศักดิ์ อุดมโชค และ มนู โอมะคุปต์

ศูนย์วิจัยป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

             ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมานี้ประเทศไทยต้องประสบกับพิบัติภัยที่เกี่ยวข้องกับน้ำท่วมและดินถล่มหลายต่อหลายครั้ง ทำให้เกิดการสูญเสียทั้งชีวิต ทรัพย์สิน พืชผลทางการเกษตร สร้างความเดือนร้อนแก่ประชาชน สาเหตุใหญ่ของความสูญเสียเกิดจากปริมาณน้ำฝนที่ตกมากเกินศักยภาพการรับได้ของพื้นที่ลุ่มน้ำอันเนื่องมาจากพื้นที่ถูกเปลี่ยนแปลงไปใช้ประโยชน์รูปแบบที่ไม่เหมาะสม และไม่สามารถรับรู้ก่อนได้ล่วงหน้า การป้องกันและลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากภัยพิบัติดังกล่าวนี้ส่วนหนึ่งคือ

             การจัดทำระบบคาดการณ์และเตือนภัยล่วงหน้า หรือ Early Warning System ซึ่งถือเป็นเทคโนโลยีสนับสนุนการตัดสินใจ (Decision Support System) ในการเฝ้าระวังและเตือนภัยแบบล่วงหน้า มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยศูนย์วิจัยป่าไม้ คณะวนศาสตร์ ได้รับมอบหมายจาก กรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้ ศึกษาและจัดทำโครงการนี้ขึ้น โดยมีเป้าหมายในการเฝ้าระวังและเตือนภัยน้ำท่วม – ดินถล่ม ในพื้นที่ลาดชันและพื้นที่ราบเชิงเขาโดยใช้เทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นในประเทศและให้ประชาชนในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการพิบัติภัย

             ระบบสนับสนุนการเตือนภัยล่วงหน้าหรือ ระบบ Early Warning ที่พัฒนาขึ้นนี้เป็นเทคโนโลยีในประเทศไทยเกือบทั้งหมด เป็นผลงานการศึกษาวิจัยโดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประกอบด้วย ระบบการตรวจวัดข้อมูลปริมาณน้ำฝน ปริมาณน้ำท่า ความชื้นในดิน อุณหภูมิ ระบบการบันทึกข้อมูลและระบบการส่งข้อมูลจากระยะไกลเพื่อประมวลผลและเตือนภัย โดยระบบสนับสนุนการเตือนภัยนี้จะสามารถเตือนภัยที่สถานีประจำหมู่บ้านได้เลยเมื่อปริมาณน้ำในหรือปริมาณน้ำท่าถึงจุดวิกฤติ โดยแสดงสัญญาณเตือนใน 3 ระดับ คือ (1) สัญญาณให้เฝ้าระวัง (2) สัญญาณให้เตือนภัย (3) สัญญาณให้อพยพ โดยมีการฝึกอบรมให้ประชาชนได้รับรู้รวมไปถึงการซักซ้อม ทำความเข้าใจในด้านการดูแลรักษา และการอ่านข้อมูลด้วย

                          ผลการดำเนินงานโครงการได้ศึกษาทบทวนเพื่อกำหนดหมู่บ้านเสี่ยงภัยน้ำท่วมและดินถล่มในระดับสูงและคัดเลือกหมู่บ้านที่เป็นตัวแทนและศูนย์กลางในการเฝ้าระวังและเตือนภัยทั่วประเทศ เพื่อติดตั้งเครื่องมือ โดยใช้หลักวิชาการและข้อมูลการเกิดน้ำท่วมหรือดินถล่มในอดีตมาประกอบการพิจารณา พบว่ามีหมู่บ้านเสี่ยงภัยสูงจำนวน 410 หมู่บ้านและดำเนินการติดตั้งเครื่องมือหรือสถานีตรวจวัดข้อมูลเพื่อเฝ้าระวังและเตือนภัยรวมไปถึงการจัดฝึกอบรมประชาชนในพื้นที่เป้าหมาย ไม่น้อยกว่า 169 สถานี กระจายทั่วประเทศที่อยู่ในเขตเสี่ยงภัยน้ำท่วมและดินถล่มสูง

ภาพที่ 1 เครื่องระบบเตือนภัยสถานีลูกข่าย

            ระบบที่พัฒนาขึ้นนั้นประกอบด้วยอุปกรณ์ตรวจวัดข้อมูลปริมาณน้ำฝนแบบอัตโนมัติ ปริมาณน้ำท่าในกรณีที่หมู่บ้านอยู่ใกล้ลำน้ำ ความชื้นในดิน และอุณหภูมิ ทำการบันทึกข้อมูลใน Data Logger และส่งข้อมูลจากระยะไกลไปยังศูนย์ด้วยระบบการสื่อสาร เช่น ระบบสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ ระบบสัญญาณวิทยุ หรือระบบอื่น ๆ ที่มีผู้ให้บริการ

ภาพที่ 2 แสดงสถานีตรวจวัดระดับน้ำอัตโนมัติและระบบเตือนภัยสถานีลูกข่าย