ประเทศไทยในสมัยก่อนประวัติศาสตร์เป็นแหล่งกำเนิดเกษตรกรรมของโลก เพราะปรากฏหลักฐานการพบพรรณพืชที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย
มีความเก่าแก่กว่าบริเวณอื่นของโลก โดยเฉพาะมีหลักฐานการพบซากฟอสซิลของข้าว
ที่ถ้ำปุงฮุง จังหวัดแม่ฮ่องสอน อายุประมาณ ๗,๐๐๐ ปี แสดงว่าข้าวมีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย
มิใช่มีถิ่นกำเนิดในประเทศจีนและอินเดียตามหลักฐานเดิม
ประเทศไทยในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ปรากฏหลักฐานการค้นพบข้าวที่แหล่งโบราณคดีหลายแห่ง
นับตั้งแต่หลักฐานถิ่นกำเนิดข้าวที่แหล่งโบราณคดีภาคเหนือ คือ ถ้ำปุงฮุง
จังหวัดแม่ฮ่องสอน (๗,๐๐๐ ปี) แหล่งโบราณคดีภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่บ้านเชียง
จังหวัดอุดรธานี (๕,๖๐๐ ปี), โนนนกทา จังหวัดขอนแก่น (๕,๕๐๐ ปี), บ้านนาดี
จังหวัดอุดรธานี (๓,๐๐๐ ๔,๐๐๐ ปี) แหล่งโบราณคดีภาคกลางที่โคกเจริญ
จังหวัดลพบุรี (๔,๐๐๐ ปี), โคกพลับ จังหวัดราชบุรี (๒,๐๐๐ ๓,๐๐๐
ปี) แสดงว่าชนเผ่าไทมีภูมิปัญญาเกี่ยวกับการทำนาสืบทอดมาถึงปัจจุบันมาไม่ต่ำกว่า
๗,๐๐๐ ปี ซึ่งก่อให้เกิดความเชื่อ พิธีกรรม และประเพณีเกี่ยวกับข้าวในพระราชพิธีสิบสองเดือนมากที่สุด
ประเพณีเกี่ยวกับข้าวเป็นประเพณีที่ชนเผ่าไทกระทำสืบทอดกันมานับตั้งครั้งก่อนประวัติศาสตร์
ในประเทศไทยมีประเพณีเกี่ยวกับข้าวที่ทำร่วมกันทั้ง ๔ ภาค ได้แก่
ประเพณีเดือนหก (พ.ค.) ภาคกลางจะประกอบพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ
ส่วนภาคเหนือจะมีประเพณีแฮกนา และพิธีเลี้ยงผีขุนน้ำในเดือนเก้า (มิ.ย.)
ภาคอีสาน มีประเพณีทำบุญบั้งไฟ บูชาแถนเพื่อขอฝนในเดือนหก (พ.ค.) และพิธีบวงสรวงตาแฮก
(พระภูมินา) ในเดือนเจ็ด (มิ.ย.) ส่วนภาคใต้ก็มีประเพณีแรกนาขวัญ และพิธีลาซัง
บวงสรวงเจ้าที่นาในเดือนหก (พ.ค.) และทำขวัญคอกก่อนลงมือไถนา
ประเพณีเดือนเก้า (ส.ค.) เมื่อข้าวอุ้มท้อง ภาคกลางมีพระราชพิธีพิรุณศาสตร์เพื่อขอฝน
มีพิธีทำขวัญข้าว ทำขวัญแม่โพสพ เทพธิดาดูแลต้นข้าว ภาคเหนือมีพิธีปูมท้างแม่โคสก
(โพสพ) และพิธีสู่ขวัญควายตรงกับเดือนสิบเอ็ด (ส.ค.) ภาคอีสานมีพิธีบุญข้าวประดับดิน
เพื่อทำบุญอุทิศแด่ผู้ตาย ภาคใต้มีพิธีกดขวัญข้าว คือ ทำขวัญข้าวเมื่อข้าวเริ่มตั้งท้อง
และอัญเชิญขวัญแม่โพสพ
ประเพณีเดือนสิบ (ก.ย.) ในภาคกลางมีพระราชพิธีสารทกับพิธีกวนข้าวทิพย์
ในภาคเหนือตรงกับเดือนสิบสอง (ก.ย.) มีพิธีทานขันข้าวแด่ผู้เฒ่าจำศีล
ภาคอีสานในเพ็ญเดือนสิบ (ก.ย.) มีพิธีทำบุญข้าวสาก (สลากภัต)
ประเพณีเดือนสิบสอง (พ.ย.) เมื่อออกพรรษาในภาคกลางมีเทศน์มหาชาติ ตรงกับเดือนยี่
(พ.ย.) ในภาคเหนือมีพิธีใส่บาตรข้าวพระเจ้าหลวง (ถวายข้าวมธุปายาส)
ส่วนภาคอีสานมีพิธีบุญข้าวเม่าถวายสงฆ์
ประเพณีเดือนอ้าย (ธ.ค.) เป็นเวลาเกี่ยวข้าวหลังจากข้าวตกรวง ในภาคกลางมีพิธีเฉวียน
พระโคกินเลี้ยง ตรงกับเดือนสาม (ธ.ค.) ในภาคเหนือมีพิธีเอามือหรือลงแขก
พิธีนวดข้าว พิธีสู่ขวัญข้าว เอาข้าวขึ้นหลอง (ยุ้ง) ภาคอีสานตรงกับเดือนเจียง
(ธ.ค.) มีพิธีทำลานตี (นวด) ข้าว ส่วนภาคใต้มีพิธีรวบข้าวและผูกข้าว
ตั้งเครื่องพลีกรรมทำขวัญข้าวก่อนเก็บเกี่ยวข้าว
ประเพณีเดือนยี่ (ม.ค.) มีพิธีกรรมฉลองหลังการเก็บเกี่ยวข้าว คือพิธีทำขวัญลานนวดข้าวและยุ้งเก็บข้าว
ในภาคเหนือ ตรงกับเดือนสี่ (ม.ค.) มีพิธีทานข้าวจี่ ข้าวหลาม ทานข้าวล้นบาตร
ทานดอยข้าว ทานข้าวท้างน้ำ (บูชาอาหารเทวดาประจำทางน้ำเข้านา) ในภาคอีสานมีพิธีปลงลอมข้าว
นำตะกร้าขวัญข้าว เชิญแม่โพสพออกจากลานนวดข้าว เพื่อตีฟาด (นวด) ข้าวในลาน
และมีพิธีบุญคูณลานเป็นพิธีทำบุญลานข้าวและเรียกขวัญข้าวบูชาแม่โพสพ
และพิธีขนข้าวขึ้นเล้า (ยุ้งฉาง) ส่วนภาคใต้มีพิธีทำบุญลานและพิธีเชิญขวัญข้าวขึ้นสู่ยุ้งฉางที่เรียกว่าคุก
ต่อจากนั้นจะต้องทำพิธีตักข้าวคือนำข้าวออกจากยุ้งฉางโดยใช้กระแชงขวัญตักข้าว
ประเพณีเดือนสาม (ก.พ.) ในภาคกลางมีพิธีธานยเทาะห์ คือ พิธีเผาข้าว
(พิธีครั้งกรุงเก่า) ภาคอีสานมีพิธีเลี้ยงตาแฮก (พระภูมินา) เพราะข้าวขึ้นเล้าแล้ว
จากนั้นมีพิธีเอนขวัญข้าว (สู่ขวัญข้าว) นำกระบุงข้าวเปลือกไปถวายวัด
พอถึงวันเพ็ญเดือนสาม (วันมาฆบูชา) จะมีพิธีทำบุญข้าวจี่เช่นเดียวกับภาคเหนือ
ประเพณีเดือนสี่ (มี.ค.) เป็นเทศกาลตรุษ ทางภาคกลางจะประกอบพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์และพิธีถวายข้าวบิณฑ์
ต่อด้วยพิธีตีข้าวบิณฑ์ในเดือนห้า (เม.ย.) ในภาคเหนือตรงกับเดือนหก
(มี.ค.) มีพิธีปอยข้าวสังฆ์ ส่วนภาคอีสานจะแห่ข้าวพันก้อนเพื่อขอฝนจากพระรัตนตรัยในวันเทศน์พระเวสส์และมีพิธีบุญแจกข้าวเปตพลี
วัฒนธรรมการแต่งกายของชนเผ่าไทในเทศกาลข้าว
1. ไทยเหนือ (ไทยยวน)
สตรี ไทยยวนสวมเสื้อฝ้ายสีขาวตุ่น
คอกลม แขนกระบอก ผ่าหน้าติดกระดุม จะนิยมนุ่งผ้าซิ่นก่านหรือซิ่นตา
มีลักษณะเป็นลายขวางอันเกิดจากฝ้ายเส้นยืน การแต่งกายในงานพิธีกรรม
จะห่มสไบเฉียงแบบ สะหว้ายแล่ง ประดับเครื่องเงินทอง เชิงของผ้าซิ่นต่อด้วยตีนจก

สตรีชาวไทยยวน อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่
ชายไทยยวน
นิยมแต่งกายโดยสวมเสื้อหม้อห้อมย้อมคราม หรือเสื้อใยฝ้ายสีขาวตุ่นเป็นเสื้อคอกลม
ผ่าหน้า ผูกเชือก มีกระเป๋า นุ่งกางเกงครึ่งแข้ง เรียกว่า เตี่ยวสะดอ
หรือ เตี่ยวหม้อห้อม มีผ้าขาวม้าคาดเอวมักเป็นฝ้ายสีแดงสลับดำ การแต่งกายในงานพิธี
จะสวมเสื้อคอตั้งแขนยาว พาดบ่าด้วยผ้าเช็ด นุ่งกางเกงขายาว
2. ไทยภาคกลาง
สตรีภาคกลางจะสวมเสื้อคอตั้ง
แขนยาว ติดกระดุมทองทรงกลม ห่มสไบแพรจีบ นุ่งโจงกระเบน หรือนุ่งจีบส่วนการแต่งกายของชายในภาคกลาง
นิยมสวมเสื้อแขนยาว สีขาวคอตั้ง ติดกระดุมกลม นุ่งผ้าม่วงแบบโจงกระเบน
หรือนุ่งกางเกงขายาว

สตรีชาวไทยภาคกลาง นุ่งผ้ายก
3. ไทยอีสาน
สตรีชาวไทยอีสานจะใส่เสื้อแขนกระบอก
ผ่าหน้า ติดกระดุมเงิน นุ่งซิ่นป้ายมัดหมี่สีคราม ในงานพิธีจะห่มผ้าเบี่ยงหรือสไบ
นุ่งซิ่นไหมมัดหมี่ เขตอีสานเหนือนุ่งไหมมัดหมี่เส้นพุ่งเป็นลายทางตั้งต่อตีนซิ่นด้วยฝ้ายหรือ
ไหมสามตะกอ เขตอีสานใต้ จะนุ่งผ้าเอกลักษณ์ คือ หมี่โฮล ของจังหวัดสุรินทร์
หรือนุ่งไหมมัดหมี่เส้นพุ่งทอสามตะกอ

สตรีชาวไทยอีสาน นุ่งผ้ายก
ชายชาวไทอีสานจะสวมเสื้อ
แขนยาว ผ่าหน้า ติดกระดุม นุ่งกางเกงขายาว มีผ้าขาวม้าคาดเอว ถ้าเป็นงานพิธีจะใช้ผ้าขิดพาดบ่า
นุ่งผ้าโสร่งตามะกอก หรือผ้าไหมหางกะรอก
4. ไทยถิ่นใต้
การแต่งกายหญิงชาวไทยใต้
จะห่มผ้าซีก (ผ้าแถบ) ฉ้อคอ อย่างห่มตะแบงมาน ชายผ้าซีกทั้งสองข้างผูกไว้ที่ต้นคอ
ชายหางผ้าซีกยาวพาดบ่าอย่างสไบเฉียง หรือใช้ผ้าห่มรัดอกผืนหนึ่ง และห่มสไบเฉียงซ้อนอีกผืนหนึ่ง
นุ่งผ้าโจงกระเบนเป็นผ้าพื้น ถ้าเป็นงานพิธีบุญจะนุ่งผ้ายกฝ้าย ผู้มีฐานะจะนุ่งยกดิ้นเงินทอง

สตรีชาวไทยถิ่นใต้ ต.พุมเรียง จ.สุราษฎร์ นุ่งผ้ายก
ชายชาวไทยใต้
จะนุ่งผ้าพื้นเลื้อยชาย หรือนุ่งผ้าโสร่ง ถ้ามีงานพิธีจะนุ่งผ้าโจงกระเบนไม่ใส่เสื้อ
ใช้ผ้าขาวม้าหรือผ้าห่มพาดบ่า ถ้ามีฐานะจะใช้ผ้าซักอาบ (ผ้าขาวม้า)
ทอด้วยไหม ห่มสะพายเฉียง
5. ไทยลื้อ
หญิงไทยลื้อจะโพกผ้าสีขาวเป็นเอกลักษณ์ สวมเสื้อปั้ด เป็นเสื้อรัดรูปสีดำคราม
เอวลอย แขนยาวตรงสาบหน้าตกแต่งด้วยผ้าแถบสี เฉียงมาผูกติดกันตรงมุมซ้ายทางลำตัว
ติดกระดุมเงิน นุ่งผ้าซิ่นลายขวาง ทอด้วยเทคนิคเกาะหรือล้วง เรียกว่า
ลายน้ำไหล

สตรีชาวไทยลื้อ อ.เชียงคำ จ.พะเยา
ชายไทยลื้อสวมเสื้อแขนยาวสีดำครามคล้ายเสื้อหม้อห้อม
มี ๒ แบบ แบบดั้งเดิมเป็นเสื้อเอวลอย สายหน้าขลิบด้วยผ้าแถบสี ป้ายมาติดกระดุมที่ใต้รักแร้และเอว
อีกแบบเป็นแบบเมืองเงิน เป็นเสื้อคอตั้ง มีแถบผ้าจกลายขอนาคตกแต่งนุ่งกางเกงขาใหญ่สีดำ
6. ไทยพวน
สตรีชาวไทยพวน
จะนุ่งซิ่นเทคนิคยกมุก เป็นเส้นยืนพิเศษ ต่อตีนซิ่นด้วยจก แต่เดิมจะเคร่งครัดเรื่องแต่งกาย
คือ หญิงสาวโสดจะนุ่งซิ่นตีนแดง คือ ตีนจกพื้นแดงเคียนอก (เรียกว่า
แฮงตู้) ด้วยผ้ามีสีสันงดงาม หญิงแต่งงานแล้วจะนุ่งซิ่นตีนดำ คือ ซิ่นตีนจกพื้นดำ
เคี่ยนอกด้วยผ้าย้อมมะเกลือหรือคราม

สตรีชาวไทยยวน ต.หาดเสี้ยว จ.สุโขทัย
ชายไทยพวนจะนุ่งชุดประจำวัน
เป็นเสื้อผ้าฝ้ายย้อมครามหรือมะเกลือคอกลม ผ่าหน้า ผูกเชือกแขนสามส่วน
เช่นเดียวกับชาวไทยยวน นุ่งกางเกงครึ่งแข้ง ย้อมคราม หรือมะเกลือ มีผ้าขาวม้าคาดเอว
ส่วนชุดไปงานพิธี จะสวมเสื้อผ้าฝ้ายคอตั้งแขนยาว นุ่งโจงกระเบนแบบทางกรุงเทพ
ฯ
7. ไทยโซ่ง (ไทยทรงดำหรือลาวโซ่ง)
ชาวลาวโซ่ง
จะแต่งกายสีดำเพราะสืบเชื้อสายมาจากชาวไทดำ สตรีลาวโซ่งสวมเสื้อก้อมแขนยาวคอกลมสีดำ
ติดกระดุมเงินลายกลีบบัว นุ่งซิ่นลายแตงโมหรือลายชะโด เป็นซิ่นสีครามเข้มขนานลำตัวด้วยริ้วขาว
ส่วนสตรีสูงอายุ จะนำผ้าปกหัวที่เรียกว่า ผ้าเปียว มาคาดอก ถ้ามีงานพิธี
จะสวมเสื้อฮีประดับแถบไหมสีตรงบ่าด้านหน้า เสื้อคลุมยาวถึงเข่า ปักลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์
คือลายดอกตะเหวน (ตะวัน) และดอกจันทน์

สตรีชาวลาวโซ่ง จ.เพชรบุรี
ชายชาวลาวโซ่งจะสวมเสื้อก้อมสีดำ ติดกระดุมเงินลายกลีบบัว นุ่งกางเกงขาใหญ่
ย้อมด้วยมะเกลือหรือคราม ส่วนในงานพิธี จะสวมเสื้อฮีสีดำแขนยาว คอกลมประดับด้วยแถบผ้าไหมสี
8. ไทยครั่ง
สตรีชาวไทยครั่ง
จะนุ่งเครื่องนุ่งห่มสีแดง เพราะสืบเชื้อสายมาจากชาวไทแดง แห่งอาณาจักร
สิบสองเจ้าไท สวมเสื้อย้อมครามหรือมะเกลือ คอตั้ง แขนยาว ตรงสาบหน้าและคอตกแต่งด้วยแถบผ้าจกจะห่มสไบในงานเทศการ
นุ่งผ้าซิ่นต่อด้วยตีนจก ถ้าตีนจกสีแดงสำหรับหญิงสาว ตีนจกสีดำสำหรับผู้สูงอายุ
ตัวซิ่นมี ๔ ประเภท คือ ซิ่นหมี่ตา (เทคนิคมัดหมี่สลับจกหรือขิด) ซิ่นก่าน
(จกหรือขิดทั้งผืน) ซิ่นหมี่ลวด (มัดหมี่ทั้งผืน) และซิ่นหมี่น้อย
(หรือหมี่คั่น)
|
|
สตรีชาวไทยครั่ง
นุ่งซิ่นก่าน ตีนแดง |
สตรีชาวไทยครั่ง
นุ่งซิ่นหมี่น้อย ตีนดำ |
ชายชาวไทยครั่งจะสวมเสื้อย้อมครามหรือมะเกลือ
คอตั้ง แขนยาว ตกแต่งแถบผ้าจกที่สาบหน้าและคอ นุ่งกางเกงขาใหญ่ย้อมด้วยครามหรือมะเกลือ
หรือผ้าโสร่งตามะกอกใช้ในชีวิตประจำวัน ถ้าในงานเทศกาลจะนุ่งผ้าโจงกระเบนมัดหมี่
หรือผ้าม่วง
9.ภูไท ( ผู้ไทย)
หญิงชาวผู้ไทยปกติจะสวมเสื้อแขนกระบอกย้อมด้วยมะเกลือหรือคราม
คอตั้ง ผ่าอกติดกระดุม มีสาบเป็นจกลายขอ นุ่งซิ่นมัดหมี่ลายนาค ย้อมด้วยมะเกลือหรือครามเช่นกัน
มีขิดที่ตีนซิ่น ในงานพิธีจะมีห่มผ้าเบี่ยงแพรวาสีแดง สวมเครื่องประดับเงิน
มีผ้าคลุมศีรษะเป็นผ้าสี่เหลี่ยมขนาดเล็ก เรียกว่า ผ้าแพรมน

สตรีชาวผู้ไทย จ.กาฬสินธุ์
ชายชาวผู้ไทยจะสวมเสื้อแขนยาวย้อมมะเกลือหรือคราม
คอตั้งผ่าหน้าติดกระดุม ตกแต่งขิดที่สาบเสื้อนุ่งกางเกงขาแคบสีดำ ในงานพิธีกรรมจะพาดบ่าด้วยผ้าขิด
นุ่งผ้าโสร่งตามะกอก
|