การยืดอายุการปักแจกันของดอกกุหลาบ
Prolongation of Cut Roses’ Vase Life

สายชล เกตุษา1 และ สนั่น ดาดวง2
1ภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
2วิทยาลัยเกษตรกรรมและเทคโนโลยีร้อยเอ็ด

         กุหลาบเป็นไม้ดอกที่ปลูกได้ทุกภาคของประเทศไทยและนิยมใช้เป็นไม้ตัดดอก ดังนั้นการใช้ดอกกุหลาบจึงเป็นที่นิยมแพร่หลายมาก อย่างไรก็ตามดอกกุหลาบที่ตัดจากต้นเดิมและนำมาใช้ประโยชน์จะมีอายุการปักแจกันหรือการบานทนลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับดอกกุหลาบที่ยังอยู่บนต้นเดิม ดอกกุหลาบที่ตัดจากต้นเดิมมีอายุการปักแจกันลดลง มีสาเหตุสำคัญมาจากการขาดน้ำและอาหาร ดอกกุหลาบที่อยู่บนต้นเดิมได้รับน้ำผ่านการดูดน้ำของรากและส่งขึ้นไปยังดอกกุหลาบ ขณะที่ดอกกุหลาบได้รับอาหารโดยการสังเคราะห์แสงของใบ เมื่อดอกกุหลาบถูกตัดจากต้นเดิมจะถูกตัดจากแหล่งน้ำและอาหารจากต้นเดิม จึงทำให้อายุการปักแจกันลดลง แม้ว่าดอกกุหลาบที่ตัดจากต้นเดิมและนำมาปักแจกันในน้ำทันที ดอกกุหลาบจะมีการดูดน้ำลดลง เนื่องจากการอุดตันของท่อลำเลียงน้ำโดยจุลินทรีย์และปฏิกริยาเคมีอื่น ๆ ดังนั้นการยืดอายุการปักแจกันของดอกกุหลาบจะต้องทำให้ดอกกุหลาบมีการดูดน้ำเพิ่มขึ้นและมีอาหารพอเพียงหลังการตัดจากต้นเดิม การยืดอายุการปักแจกันของดอกกุหลาบโดยการใช้สารละลายเคมีเป็นที่นิยมทำร่วมกับวิธีอื่น ๆ เพราะการใช้สารละลายเคมีสามารถทำได้ง่ายและเห็นผลได้อย่างชัดเจน

         ในการทดลองนี้ใช้สาร sodium dichloroisocyanurate (DICA) ซึ่งเป็นสารที่ปลดปล่อยคลอรีนและมีคุณสมบัติฆ่าจุลินทรีย์ (แบคทีเรีย) ในน้ำ แบคทีเรียในน้ำเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดการอุดตันของท่อลำเลียงน้ำของดอกกุหลาบระหว่างการปักแจกันในน้ำ ขณะเดียวมีการใช้ซูโครสเป็นสารอาหารร่วมกับ DICA ในสาละลายที่ใช้ปักแจกันดอกกุหลาบ สาร DICA ที่ใช้มีความเข้มข้น 10 20 30 40 50 และ 60 มก./ลิตร ร่วมกับซูโครส 5 และ 10% พบว่าสารละลาย DICA 30 มก./ลิตร + ซูโครส 5% มีความเหมาะสมที่สุดสำหรับการยืดอายุการปักแจกันของดอกกุหลาบและยังสามารถลดการโค้งงอของดอกกุหลาบได้ดีอีกด้วย (Figure 1)

         ดอกกุหลาบที่ปักแจกันในสารละลาย DICA 30 มก./ลิตร + ซูโครส 5% มีการดูดน้ำเพิ่มขึ้นและการดูดน้ำลดลงช้า มีน้ำหนักสดเพิ่มขึ้นและลดลงช้า (Figure 2) และการยอมให้น้ำไหลผ่านท่อลำเลียงน้ำได้ในอัตราที่สูงกว่า การอุดตันของท่อลำเลียงน้ำในก้านดอกกุหลาบที่ปักแจกันในสารละลาย DICA มก./ลิตร + ซูโครส 5% เกิดขึ้นน้อยกว่าดอกกุหลาบที่ปักแจกันในน้ำธรรมดา (Figure 3)

         ผลจากการทดลองนี้แสดงให้เห็นว่าการเพิ่มการดูดน้ำให้ดอกกุหลาบ โดยใช้สารฆ่าจุลินทรีย์ในน้ำและเติมน้ำตาลเพื่อเป็นสารอาหารในน้ำที่ใช้ปักแจกันดอกกุหลาบสามารถเพิ่มอายุการปักแจกันของดอกกุหลาบได้