การคัดเลือกและเพิ่มประสิทธิภาพของยีสต์ปฏิปักษ์
ในการควบคุมโรคราสีเขียว (Penicillium digitatum) บนผลส้มพันธุ์สายน้ำผึ้ง
Selection and Enhancement of Antagonistic Yeasts for Controlling
Green Mold (Penicillium digitatum) of Citrus Fruit cv. Sai-Numphaung
สรวงสรรค์ เนียมแจ้ง และ สมศิริ แสงโชติ
ภาควิชาโรคพืช คณะเกษตร
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

           ผลส้ม เกิดการเน่าเสียจากการเข้าทำลายของเชื้อจุลินทรีย์ชนิดต่างๆ ในระหว่างขบวนการเก็บรักษาและการขนส่งเป็นจำนวนมาก แต่โรคของส้มที่สำคัญหลังการเก็บเกี่ยวและระหว่างกระบวนการขนส่งที่พบมากได้แก่ โรคราสีเขียวที่เกิดจากเชื้อ Penicillium digitatum ด้วยสาเหตุดังกล่าวจึงได้มีการหาวิธีควบคุมโรคหลังการเก็บเกี่ยวที่มีความปลดภัยต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม การควบคุมโรคพืชโดยยีสต์จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ที่มีการนำมาทดลองใช้ควบคุมโรคหลังการเก็บเกี่ยว เพื่อลดปัญหาการใช้สารเคมี ซึ่งนอกจากจะสามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อราสาเหตุโรคแล้ว ยังสามารถมีชีวิตรอดและเพิ่มปริมาณได้มากเมื่อได้รับอาหารหรืออยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม การใช้ยีสต์ในการควบคุมเป็นสิ่งที่น่าสนใจ เนื่องจากยีสต์สามารถอาศัยอยู่บริเวณผิวผลไม้ตามธรรมชาติ และยีสต์เจริญเติบโตได้เร็วบนอาหารโดยใช้ธาตุคาร์บอนเป็นแหล่งอาหาร เช่น ใช้อาหารบริเวณแผลบนผิวผลไม้ ด้วยเหตุนี้จึงทำการศึกษาการควบคุมโรคหลังการเก็บเกี่ยวของส้มโดยการใช้ยีสต์ปฏิปักษ์ เพื่อเป็นข้อมูลและแนวทางในการป้องกันโรคราสีเขียวของส้มต่อไป

           จากการทดสอบประสิทธิภาพของยีสต์ปฏิปักษ์ 11 ชนิด พบว่ามี 4 ชนิดที่สามารถควบคุมโรคราสีเขียวที่เกิดจากเชื้อรา Penicillium ditgitatum บนส้มสายน้ำผึ้งคือ Candida tropicalis , Candida utilis , Pichia sp. และ Debaromyces hansenii โดยพบว่าเชื้อยีสต์Candida utilis มีประสิทธิภาพดีที่สุด การปลูกเชื้อยีสต์ปฏิปักษ์และเชื้อรา Penicillium ditgitatum ในระยะเวลาที่แตกต่างกัน แล้วบ่มที่ 25o เป็นเวลา 7 วัน พบว่าการปลูกเชื้อด้วยยีสต์ปฏิปักษ์ก่อนเชื้อสาเหตุโรค 12 และ 24 ชั่วโมง สามารถควบคุมโรคราสีเขียวบนส้ม(เกิดโรค 0%) ได้ดีกว่าการปลูกเชื้อสาเหตุโรคและยีสต์ปฏิปักษ์พร้อมกัน (เกิดโรค 20.51-46.15%) และปลูกเชื้อด้วยยีสต์หลังเชื้อสาเหตุ เกิดโรค41.02-61.53% โดยยีสต์ Candida utilis มีประสิทธิภาพสูงสุดในการควบคุมการเกิดโรคราสีเขียว โดยการฉีดพ่นเชื้อยีสต์ก่อน 12 ชั่วโมงสามารถควบดุมการเกิดโรคได้ 100% การงอกของสปอร์และการเจริญของเชื้อรา Penicillium ditgitatum บนผลส้มถูกยับยั้งที่มีเชื้อยีสต์ C. utilis

           เมื่อนำยีสต์ C. utilis มาใช้ร่วมกับ 2% โซเดียมไบคาร์บอเนต พบว่าการใช้ยีสต์ C. utilis มาใช้ร่วมกับ 2% โซเดียมไบคาร์บอเนต มีประสิทธิภาพในการควบคุมโรคราสีเขียวได้ดีกว่าการใช้ยีสต์ หรือ 2% โซเดียมไบคาร์บอเนตเพียงอย่างเดียว โดยไม่พบการเกิดโรคในวิธีการดังกล่าว
        
            

ภาพที่ 1. การทดสอบประสิทธิภาพของยีสต์ Candida utilis เมื่อการใช้ร่วมกับ 2% โซเดียมไบคาร์บอเนต ในการควบคุมโรคผลเน่าของส้มที่เกิดจากเชื้อรา Penicillium digitatum (ภาพขวา) เปรียบเทียบกับที่ไม่ใช้เชื้อและสารโซเดียมไบคาร์บอเนต (ภาพซ้าย)