การผลิตเส้นใยสับปะรดและงานสิ่งทอ
Extraction of pineapple leaf fiber and its utilization for textile purposes

สุชาดา อุชชิน1 รังสิมา ชลคุป1 วิบูลย์ น้อยใจบุญ2 สงคราม เสนาธรรม1 พรชัย ตุลพิจิตร2 วนิดา ผา
สุขดี1 จันทรา สวัสดิบุตร3 และ วิชัย หฤทัยธนาสันติ์1

1สถาบันผลิตผลเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร 2มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ วิทยาเขตเทคนิคกรุงเทพ
3กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

         ในปัจจุบันนี้เส้นใยสังเคราะห์ (Synthetic fibers) ได้มีการแข่งขันและมีบทบาททำให้สัดส่วนการผลิตเส้นใยเซลลูโลสลดลงเป็นอย่างมาก ดังในภาพรวมของการผลิตเส้นใยของโลกมีประมาณ 36 ล้านตันตามสถิติของปี 2545 สัดส่วนของเส้นใยเซลลูโลสเพียง 6 % เท่านั้น ลดลงจากสัดส่วนแบ่งการตลาดในปี 2525 เส้นใยเซลลูโลสที่มีการผลิตเป็นการค้าที่สำคัญมีหลากหลายชนิด ส่วนใหญ่ได้จากพืชประมาณ 90% สำหรับประเทศไทยที่มีการปลูกสับปะรด (pineapple : Ananas comosus (L.) Merr.) ถึง 552,302 ไร่ (สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร, 2547) และมีการส่งออกอุตสาหกรรมสับปะรดอันดับหนึ่งของโลก การสร้างโอกาสการใช้เส้นใยจากใบสับปะรดซึ่งเป็นวัสดุชีวมวลที่เป็นเศษเหลือทางการเกษตรจะเป็นบทบาทหนึ่งของการเพิ่มศักยภาการใช้เส้นใยเซลลูโลสเพิ่มขึ้นได้

         จากภูมิปัญญาของชาวพื้นเมืองของประเทศฟิลิปปินส์ มีการแยกเส้นใยจากใบสับปะรดและนำมาทอเป็นผืนผ้าบารองซึ่งเป็นเสื้อผ้าประจำชาติของประเทศฟิลิปปินส์ที่นำชื่อเสียงให้แก่ประเทศฟิลิปปินส์ตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 และยิ่งไปกว่านั้น ศาสตราจารย์พิเศษ อัจฉราพร ไศละสูต, อาจารย์วนิดา ผาสุขดี และ คณะ (2525) ได้นำเส้นใยสับปะรดมาผสมกับโพลิเอสเตอร์ในอัตราส่วน 35:65 แล้วมาปั่นเป็นเส้นด้ายในระบบฝ้าย (cotton spinning system)ได้สำเร็จ และเช่นเดียวกันกับของสถาบัน South India Textile Research Association (SITRA) ซึ่งตั้งอยู่ที่เมือง Coimbatore ประเทศอินเดีย ได้นำเส้นใยสับปะรดมาปั่นเป็นเส้นด้ายตามระบบปั่นด้ายได้เช่นกันในปี 2536 จากข้อมูลดังกล่าวจึงเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดโครงการวิจัยการใช้ประโยชน์เส้นใยจากใบสับปะรดอีกครั้งซึ่งเป็นการศึกษาต่อยอดจากงานวิจัยในอดีต โดยในปี 2545-2547 สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตผลทางการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้เริ่มดำเนินการชุดโครงการวิจัยเรื่องการใช้ประโยชน์จากเส้นใยของใบสับปะรดเพื่ออุตสาหกรรมสิ่งทอ และได้รับเงินทุนสนับสนุนการวิจัยจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.).

         การศึกษาการผลิตเส้นใยสับปะรดและงานสิ่งทอ มี 5 ขั้นตอน คือ 1) การสร้างเครื่องขูดใบสับปะรดต้นแบบ (extraction machine) 2) การปรับปรุงสภาพเส้นใย 3) การย้อมสีเส้นใย 4) การผลิตเส้นด้ายจากเส้นใยสับปะรดระบบหัตถกรรม และ 5) การผลิตเส้นด้ายจากเส้นใยสับปะรดระบบอุตสาหกรรม

 

         ผลของการศึกษา พบว่า สามารถสร้างเครื่องขูดใบสับปะรดที่ได้รับการจดอนุสิทธิบัตร โดยมีศักยภาพที่สามารถขูดเนื้อใบออกได้หมดและมีอัตราการขูดเส้นใย 2.82 กิโลกรัมต่อชั่วโมง เส้นใยที่ได้หลังการขูดจำเป็นต้องปรับปรุงคุณภาพของเส้นใยก่อน เพื่อแยกเส้นใยเป็นเส้นเดี่ยวด้วยการขจัดเป๊กติน และสารเจือปนอื่น ๆ เพื่อให้ส่วนประกอบที่เหลืออยู่ของเส้นใยเป็นเซลลูโลสบริสุทธิ์ให้มากที่สุด โดยทำการปรับสภาพ เส้นใย 3 ขั้นตอน คือ 1) การเตรียมและทำความสะอาดเส้นใยสับปะรด (scouring) 2) การขจัดกัมและการฟอกขาว (degumming and bleaching) และ 3) การแยกเส้นใยเดี่ยวโดยเครื่องอัดบดเส้นใย (individual breaking machine) ผลการปรับปรุงคุณภาพเส้นใย พบว่าเส้นใยที่ได้ปริมาณกัมตกค้างลดลงเหลือเป็น 22.17 เปอร์เซ็นต์ และได้เส้นใยมีความละเอียด (fineness) 10.41 ดีเนียร์ ความแข็งแรงจำเพาะ (tenacity) 14.13 กรัมต่อดีเนียร์ และความยืดได้ (elongation) 6.83 %

         เส้นใยสับปะรดหลังการปรับปรุงคุณภาพเส้นใย สามารถย้อมสีด้วยสีรีแอคทีฟชนิดอุ่น ซึ่งให้สีที่มีความสดในและทนต่อการซักได้ดีมาก แล้วนำมาใช้ประโยชน์ทางหัตถกรรมได้ 3 วิธี คือ 1) การปั่นกลุ่มเส้นใยยาวด้วยเกลียวต่ำ 2) การผูกปมและมัคคราเม่ และ 3) การใช้กลุ่มเส้นใยสับปะรดเป็นเส้นพุ่ง และในการผลิตผืนผ้าได้ทำ 3 วิธี คือ 1) ทอด้วยมือโดยใช้เส้นใยเดี่ยวหรือกลุ่มเส้นใยเป็นด้ายพุ่ง 2) ทอด้วยเครื่องทอใช้กระสวยโดยใช้เส้นด้ายใยผสมเป็นด้ายพุ่ง และ3) ทอพรมปูพื้นและประดับผนัง

นอกจากนี้ยังใช้ประโยชน์ของเส้นใยสับปะรดด้วยการผสมกับฝ้าย เพื่อเข้าสู่ระบบการปั่นฝ้าย โดยตัดเส้นใยสั้น 40 มิลลิเมตร เพื่อนำมาผสมกับฝ้ายที่อัตราส่วนต่าง ๆ คือ 0/100, 25/75, 35/65, 50/50 สำหรับเบอร์ด้าย 4-8 Ne ในระดับหัตถอุตสาหกรรม และ สำหรับเบอร์ด้าย 5, 10, 14 และ 22 Ne ในระดับอุตสาหกรรม เพื่อผลิตด้ายและผ้าทอ หลังจากนั้นทำการตกแต่งผ้าทอจากเส้นด้ายเหล่านี้ ผลิตภัณฑ้ผ้าทอที่ได้สามารถนำมาทำผลิตภัณฑ์เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ประดับเฟอร์นิเจอร์ และตกแต่งบ้านได้