กาแฟกับอันตรายของสารพิษเชื้อรา
Coffee and Mycotoxins Risk

วราภา มหากาญจนกุล1, สุวรรณา กลัดพันธุ์2, สิทธิพร ชมภูรัตน์2,จิราภรณ์ สิริสัณห์2 และนภัสพร ชื่นรัตน์2
1ภาควิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร คณะอุตสาหกรรมเกษตร
2ฝ่ายเครื่องมือวิทยาศาสตร์กลาง สถาบันวิจัยและพัฒนา
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์


            กาแฟเป็นเครื่องดื่มที่นิยมบริโภคกันอย่างแพร่หลายและมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ แต่ผู้บริโภคยังไม่ทราบถึงอันตรายที่อาจได้รับจากการดื่มกาแฟเป็นประจำเพราะปัจจุบันข้อมูลด้านความปลอดภัยของกาแฟยังมีไม่เพียงพอ รายงานการวิจัยจากต่างประเทศระบุว่าสารพิษจากเชื้อราโดยเฉพาะออคราทอกซินเอเป็นสิ่งปนเปื้อนที่มักพบในกาแฟและมีบทบาทสำคัญในด้านความปลอดภัยของสุขภาพผู้บริโภค

            ออคราทอกซินเอ (Ochratoxin A) เป็นสารพิษที่สร้างขึ้นโดยเชื้อราในตระกูล Aspergillus และ Penicilium บางชนิด มีความเป็นพิษทำให้เกิดโรคเกี่ยวกับไตทั้งในมนุษย์และสัตว์ทดลองและอาจเป็นสารก่อให้เกิดโรคมะเร็งได้ (International Agency for Research on Cancer; IARC) (1993) ออคราทอกซินเอจะปนเปื้อนหลังการเก็บเกี่ยวเมล็ดกาแฟในขั้นตอนการตากแห้ง ซึ่งขั้นตอนการผลิต ได้แก่การหมัก การให้ความร้อนและการคั่วไม่สามารถทำลายออคราทอกซินเอได้

            ดังนั้นโครงการวิจัยนี้จึงทำการตรวจสอบการปนเปื้อนของออคราทอกซินเอในผลิตภัณฑ์กาแฟที่ผลิตในประเทศและนำเข้าเพื่อทราบถึงโอกาสเสี่ยงต่อผู้บริโภค โดยเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์กาแฟสำเร็จรูปจากร้านค้าและห้างสรรพสินค้าในเขตกรุงเทพมหานคร 2 ครั้ง ครั้งที่ 1 ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมีนาคม 2548 จำนวน 21 ตัวอย่าง แบ่งเป็นกาแฟผลิตในประเทศ 15 ตัวอย่างและนำเข้า 6 ตัวอย่าง และครั้งที่ 2 ช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนธันวาคม 2548 จำนวน 24 ตัวอย่าง แบ่งเป็นกาแฟผลิตในประเทศ 17 ตัวอย่าง และนำเข้า 7 ตัวอย่าง

            ผลพบว่าครั้งที่ 1 มีกาแฟนำเข้า 1 ตัวอย่าง ที่มีการปนเปื้อนของออคราทอกซินเออยู่ 3.2 พีพีบี และครั้งที่ 2 มีกาแฟนำเข้าและผลิตในประเทศชนิดละ 1 ตัวอย่างที่มีการปนเปื้อนของออคราทอกซินเออยู่น้อยกว่า 1 พีพีบี และ 4.6 พีพีบี ตามลำดับ ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่ปลอดภัยเมื่อเปรียบเทียบกับมาตรฐานของกาแฟคั่วของยุโรปที่อนุญาตให้มีออคราทอกซินเอปนเปื้อนได้ไม่เกิน 5 พีพีบี (JECFA 2001)

            ดังนั้นสามารถสรุปได้ว่าผู้บริโภคยังสามารถดื่มกาแฟได้อย่างปลอดภัย และมีแนวโน้มความเสี่ยงต่อการได้รับสารออคราทอกซินน้อย แต่อย่างไรก็ตามยังควรต้องเฝ้าตรวจระวังอย่างต่อเนื่องด้วย เพราะงานวิจัยนี้เป็นการสุ่มตรวจตัวอย่างในช่วงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น ดังนั้นเพื่อเป็นการเฝ้าระวังการปนเปื้อนของสารออคราทอกซินเอในกาแฟที่บริโภคในประเทศ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงควรกำหนดค่ามาตรฐานของประเทศไทยเพื่อเป็นการคุ้มครองความปลอดภัยของผู้บริโภคภายในประเทศ และควรมีการวิจัยเพื่อพัฒนาวิธีการวิเคราะห์ที่ใช้อยู่เพื่อให้มีความไว และความสามารถในการวิเคราะห์ดีขึ้นควบคู่กันไปด้วย