การศึกษาเพื่อจัดทำคู่มือสัตว์ที่อาศัยอยู่ตามธรรมชาติในพระราชวังสวนจิตรดา
รองลาภ สุขมาสรวง1 นริศ ภูมิภาคพันธ์1 ประทีป ด้วงแค1 และ ลินจง ชารักษ์ภักดี 2
1ภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
2กองบำรุงรักษาราชอุทยาน สำนักพระราชวัง

             การศึกษาเพื่อจัดทำคู่มือสัตว์ที่อาศัยตามธรรมชาติในพระราชวังสวนจิตรลดา ดำเนินการระหว่าง เดือนมิถุนายน 2548 ถึงเดือน มิถุนายน 2549 เพื่อให้ทราบถึงชนิดของนก สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์เลื้อยคลาน และสัตว์สะเทิ้นน้ำสะเทินบก ปริมาณความมากน้อย การกระจายในพื้นที่ โดยใช้วิธีการสำรวจตามจุด (Point count method) สำหรับการศึกษานก ใช้การสำรวจตามเส้นทาง (Transect line) การวางตาข่าย (mist net) และกรงดัก (live trap) สำหรับการศึกษาสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ตลอดจนใช้การสำรวจตามแหล่งน้ำขังและทุ่งหญ้า และแปลงนาข้าว สำหรับการศึกษาสัตว์สะเทิ้นน้ำสะเทิ้นบก และสัตว์เลื้อยคลาน ทั้งยังทำการสำรวจเก็บข้อมูลชนิดพืชอาหารพื้นที่สร้างรังวางไข่ ของสัตว์ที่อาศัยตามธรรมชาติ เพื่อนำผลการศึกษามาจัดทำคู่มือสัตว์ที่อาศัยอยู่ตามธรรมชาติในพระราชวังสวนจิตลดา ผลการศึกษาเฉพาะในช่วงระหว่างเดือนมิถุนายนถึง เดือนพฤศจิกายน 2548 ที่เก็บข้อมูลสัปดาห์ละ 1 วัน บนจุดสำรวจ 60 จุด 4 เส้นทางสำรวจ และบริเวณแหล่งน้ำต่างๆ ในพระราชวังสวนจิตรลดา พบนกที่อาศัยอยู่ตามธรรมชาติในพื้นที่รวม 55 ชนิด ที่พบมาก เช่น นกกา นกพิราบ นกสีชมพูสวน นกเอี้ยงสาลิกา นกปรอดสวน นกกระจอกบ้าน นกกาเหล่า นกกิ้งโครงคอดำ นกเอี้ยงสาลิกา นกอีแพรดแถบอกดำ นกแอ่นตาล นกกินปลีอกเหลือง นกตีทอง นกยางกรอก นกยางเปีย นกยางเขียว ชนิดนกที่พบน้อย เช่น นกยางไฟ นกขมิ้นท้ายทอยดำ นกเค้าจุด เป็นต้น ซึ่งเป็นนกประจำถิ่น ส่วนนกอพยพ พบ 10 ชนิด ได้แก่ นกกะเต็นน้อยธรรมดา นกกะเต็นหัวดำ นกกะเต็นอกขาว นกอีเสื้อสีน้ำตาล นกเต้าลมเหลือง นกเด้าลมดง นกเด้าลมหลังเทา นกแซงแซวสีเทา นกจับแมลงจุกดำ และ นกคัดคูหงอน พบนกที่ไม่อาจระบุสถานสภาพได้จัดเจนพบ 2 ชนิด ได้แก่ นกกะรางหัวหงอก และนกแขกเต้า และพบนกต่างถิ่น 1 ชนิดคือ red lorry (Eos bornea) เพศผู้จับคู่ทำรังกับนกแขกเต้าเพศเมีย

             สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม พบ 8 ชนิด คือกระรอกหลากสี กระรอกปลายหางดำ กระแตธรรมดา ค้างคาวขอบหูขาวกลาง ค้างคาวขอบหูขาวเล็ก ค้างคาวแม่ไก่ หนูท่อ และ หนูท้องขาว
สัตว์เลื้อยคลานพบ 17 ชนิด ได้แก่ ตะพาบน้ำ ตะพาบจีน เต่าหับ เต่านา เต่าญี่ปุ่น และที่ไม่สามารถจำแนกได้แก 1 ชนิด ตุ๊กแกบ้าน จิ่งจกหางแบน จิ้งจกหางหนาม กิ้งก่าหัวสีฟ้า กิ้งก่าหัวสีแดง จิ่งเหลนหางยาว จิ้งเหลนบ้าน เขียดงู เหี้ย งูสายม่านพระอินทร์ และงูเหลือม

             สัตว์สะเทินน้ำสะเทิ้นบกพบ 4 ชนิด ได้แก่กบหนอง เขียดจะนา เขียดจิก และเขียดหลังขีด

             ผลการศึกษาที่ได้แม้ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ ได้ชี้ไห้เห็นว่าบริเวณพระราชวังสวนจิตรลดาเป็นแหล่งที่พักอาศัยของทั้งสัตว์ประจำถิ่น  และที่อพยพโยกย้ายตามฤดูกาลตามธรรมชาติโดยเฉพาะนกประเภทต่างๆ เป็นจำนวนมาก ทั้งนี้เนื่องจากความร่มรื่นของพรรณไม้ยืนต้น ไม้พุ่ม ที่ให้ร่มเงาสำหรับเป็นที่หลบภัย ทำโพรงรัง ที่สร้างรังวางไข่ และที่ให้ดอก ผล เป็นอาหารอยู่มาก ทั้งยังประกอบด้วยแหล่งทุ่งหญ้า แปลงนาข้า แหล่งน้ำสะอาด ที่เป็นที่อาศัยของน้ำอย่างชุกชุม เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้สัตว์เหล่านี้ได้ใช้ในการดำรงชีวิตตามธรรมชาติอย่างเหมาะสม