โครงการตามพระราชกระแสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
การพัฒนาน้ำเชื้อแช่แข็งและธนาคารอสุจิของสุนัข
Royal Initiative Project on Frozen Semen Development and Sperm Bank in Dogs


ผู้สนองพระราชกระแสฯ: รศ. สพ.ญ. ดร. เกษกนก ศิรินฤมิตร และคณะ
ภาควิชาเวชศาสตร์สัตว์เลี้ยง คณะสัตวแพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

            เป็นโครงการสนองพระราชกระแส ในเรื่องการสงวนและรักษาพันธุ์ของสุนัขพันธุ์ไทย จึงต้องศึกษาการทำน้ำเชื้อแช่แข็ง เพื่อใช้ในการอนุรักษ์ และปรับปรุงพันธุ์ได้ในอนาคต ซึ่งยังไม่มีการศึกษาอย่างเป็นรูปธรรมในประเทศ แต่มีความแพร่หลายมากในหลายประเทศ ผู้เพาะพันธุ์สุนัข ก็มีความต้องการที่จะเก็บน้ำเชื้อของสุนัขพ่อพันธุ์ และการผสมเทียมโดยใช้น้ำเชื้อแช่แข็ง กำลังเป็นที่นิยมมากขึ้น

           น้ำเชื้อแช่แข็งในสุนัขนั้นสามารถเก็บรักษาได้ใน 2 ลักษณะคือ เก็บรักษาในลักษณะเป็นของเหลว หรืออัดเม็ด เก็บไว้ในไนโตรเจนเหลว (-196oC) สามารถเก็บรักษาได้นานหลายสิบปี

ขั้นตอนการทำน้ำเชื้อแช่แข็ง
           1. เตรียมอุปกรณ์ ที่ใช้ในการรีดเก็บน้ำเชื้อ มีช่องคลอดเทียม ลักษณะเป็นกรวยยาง (รูป 1) ถุงมือยาง หลอดเก็บน้ำเชื้ออสุจิอบฆ่าเชื้อแล้ว สารหล่อลื่น และสุนัขตัวล่อ


รูปที่ 1
ช่องคลอดเทียมที่ใช้เก็บน้ำเชื้อโดยจะพับปลายเล็กน้อยที่ปลายด้านกว้าง ส่วนที่ปลายด้านแคบจะประกอบเข้ากับหลอดเก็บน้ำเชื้อ

           2. รีดเก็บน้ำเชื้ออสุจิ โดยนำสุนัขเพศเมียที่เป็นตัวล่อมาไว้ข้างหน้าสุนัขเพศผู้ พร้อมใช้มือกระตุ้นที่บริเวณ อวัยวะเพศผู้ ให้สุนัขเพศผู้ขึ้นขี่ แล้วสอดกรวยยางที่ต่อกับหลอดเก็บ น้ำเชื้อเข้าไปรองรับ โดยใส่เข้าไปถึงในส่วนโคนของอวัยวะเพศผู้ ใช้มือกำ บริเวณโคนให้แน่น และกระตุ้นขึ้นลงค่อนข้างแรง (รูป 2)

รูปที่ 2
การรีดเก็บน้ำเชื้อโดยใช้ช่องคลอดเทียมโดยใช้เทคนิค Manual stimulation

          สุนัขจะหลั่งน้ำอสุจิ ซึ่งประกอบด้วย 3 ส่วนคือ ส่วนใส (Pre-sperm fraction) มีปริมาณไม่มาก หลั่งออกมาเป็นส่วนแรก ส่วนที่สอง สีขาวขุ่น เพราะมีอสุจิเป็นจำนวนมาก (Sperm-rich fraction) ซึ่งมักจะหลั่งออกมาพร้อมๆ กับส่วนแรก และส่วนใสที่หลั่งออกมาตอนท้ายสุด มีปริมาณมากที่สุด เป็นน้ำที่มาจากต่อมลูกหมาก (Prostatic fluid)


รูปที่ 3
ลักษณะน้ำอสุจิในส่วนทีหนึ่งและส่วนที่สองที่เก็บได้ โดยพบว่าจะมีสีขาวขุ่น



        3. ตรวจคุณภาพน้ำเชื้อ

      1. สีของน้ำอสุจิ ที่ดีคือสีขาวขุ่น ถ้ามีสีแดงแสดงว่ามีเลือดปน ถ้ามีสีเหลืองแสดงว่ามีน้ำ ปัสสาวะปน และถ้ามีสีเขียว แสดงว่าอาจมีหนองปนอยู่
      2. จำนวนอสุจิ ในสุนัขควรมีจำนวนอสุจิอยู่ในช่วงประมาณ 300- 2,000 ล้านตัว ต่อการหลั่ง 1 ครั้ง (1-30 มล.)
      3. การเคลื่อนไหวของตัวอสุจิ (Progressive motility) ที่ดี ควรไม่น้อยกว่า 70%
      4. รูปร่างของตัวอสุจิ (รูป 4) ที่ปกติต้องไม่น้อยกว่า 80%

ขั้นตอนที่สี่ การทำน้ำเชื้อแช่แข็ง

  1. เติมส่วนผสมของสารละลายที่ใช้ทำน้ำเชื้อแช่แข็งที่ยังไม่มีสารกลีเซอร์รอล กับน้ำอสุจิที่ดีเท่านั้น ในอัตราส่วน 1 ต่อ 1 และนำไปไว้ในตู้ควบคุมอุณหภูมิที่ 5 เซลเซียส นาน 1 ชั่วโมง (รูปที่ 5)
  2. เติมส่วนผสมของสารละลายที่มีสารกลีเซอร์รอล ในอัตราส่วน 1 ต่อ 1 โดยแบ่งผสมให้1 ใน 4 ทุก 15 นาที โดยทำภายในตู้ควบคุมอุณหภูมิที่5 เซลเซียส (รูปที่ 6)
  3. ใส่น้ำเชื้อที่มีสารละลายทั้งสองชนิดแล้ว ลงในหลอดเก็บน้ำเชื้อแช่แข็งในขนาด 0.25 มล. หรือ0.5 มล. ในตู้ควบคุมอุณหภูมิที่ 5 เซลเซียส นาน 1 ชั่วโมงครึ่ง (รูปที่ 7)
  4. วางหลอดที่เก็บน้ำเชื้อแช่แข็งบนไอระเหยของไนโตรเจนเหลวนาน 6 นาที (รูปที่ 8)
  5. เก็บน้ำเชื้อแช่แข็งไว้ในถังไนโตรเจนเหลวและนำตัวอย่าง 1 หลอดขึ้นมาทดสอบคุณภาพภายหลังการแช่แข็ง (รูปที่ 9)

 

ประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากโครงการการทำน้ำเชื้อแช่แข็งในสุนัข

  1. เพื่อเป็นการเก็บรักษาน้ำเชื้ออสุจิสุนัขที่ดีทั้งสายพันธุ์ไทยและสายพันธุ์ต่างประเทศไว้
  2. เพื่อการการอนุรักษ์ และปรับปรุงสายพันธุ์ของสุนัขไทยในอนาคต
  3. ลดการนำเข้าสุนัขพ่อพันธุ์จากต่างประเทศและเป็นการลดโอกาสเสี่ยงที่จะนำโรคเข้ามา
  4. เป็นการลดต้นทุนในการที่จะปรับปรุงคุณภาพของสุนัขสายพันธุ์ต่างๆเนื่องจาก ค่าใช้จ่ายของการซื้อน้ำเชื้อแช่แข็งมีราคาถูกกว่าการซื้อสุนัขพ่อพันธุ์ ซึ่งในบางกรณีสุนัขพ่อพันธุ์ที่ซื้อเข้ามาบางตัวมีคุณภาพน้ำเชื้อที่ไม่ดีและไม่สามารถให้ผลผลิตได้
  5. เป็นต้นแบบในการเก็บรักษาน้ำเชื้ออสุจิของสัตว์ในตระกูลสุนัขอื่นๆ เพื่อการอนุรักษ์สัตว์ป่านั้นๆ
  6. เป็นเทคโนโลยีการช่วยผสมพันธุ์ที่เป็นพื้นฐานในการที่จะพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อช่วยในการผสมพันธุ์ที่มีความก้าวหน้า และซับซ้อนยิ่งขึ้นในอนาคต