โครงการวิจัยประวัติพรรณพืชทางศิลปวัฒนธรรมไทย
โครงการอนุรักษ์และพัฒนาพรรณพืชทางศิลปวัฒนธรรมไทย
The History of Plants with Thai Cultural Values
Conservation and Development of Plants with Thai Cultural Values
อรไท ผลดี
ภาควิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

            พรรณพืชทางศิลปวัฒนธรรมไทยส่วนใหญ่จะเป็นพรรณพืชพื้นเมืองที่ขึ้นอยู่เองโดยธรรมชาติในเขตของประเทศไทยมาแต่ดั้งเดิม ซึ่งถือได้ว่าพืชพื้นเมืองดังกล่าวมีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย แต่ยังมีการค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับถิ่นกำเนิดของพรรณพืชไทยน้อยมาก รวมทั้งมีการวิจัยน้อยมาเกี่ยวกับประวัติของพรรณพืชไทยในด้านการอ้างถึงครั้งแรก และสมัยที่นำพรรณพืชที่มีถิ่นกำเนิดจากที่อื่นเข้ามาปลูกในประเทศไทย จึงสมควรที่จะได้มีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับพรรณพืชทางศิลปวัฒนธรรมไทยในด้านถิ่นกำเนิดและหลักฐานการอ้างถึงเป็นครั้งแรกรวมทั้งพรรณพืชที่เกี่ยวข้องกับศิลปวัฒนธรรมไทยในด้านต่าง ๆ อาทิ พรรณพืชทางโบราณคดี ตำนานเมือง พุทธประวัติ จารึก วรรณคดี วิถีชีวิตไทย พิธีกรรมเป็นต้น เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการอนุรักษ์พรรณพืชทางศิลปวัฒนธรรมไทย

พรรณพืชในตำนานการเกิดมนุษยชาติของชนเผ่าไท
            ในตำนานการเกิดมนุษยชาติของชนเผ่าไท เชื่อว่ามนุษยชาติกำเนิดจากน้ำเต้าปุง ดังปรากฏในพงศาวดารล้านช้างว่าเกิดมนุษยชาติ 5 เผ่าคือ ไทลม ไทลี ไทเลิง ไทลอ และไทควาง เกิดจากน้ำเต้าปุง 3 ลูก ที่มีขนาดใหญ่เท่าพ้อม และส่วนพงศาวดารเมืองแถง กล่าวถึงตำนานชาวผู้ไทยว่า เทวดานางฟ้า 5 คู่ ได้เข้าไปจุติในน้ำเต้าปุง แล้วแตกออกมาเป็นมนุษย์ เผ่าต่าง ๆ คือ ข่าแจะ ผู้ไทยดำ ลางพุงขาว ฮ่อ และแกว

พรรณพืชในตำนานการสร้างโลกของชนเผ่าไท
            ตำนานการสร้างโลกตามความเชื่อของคนไทยปรากฏในไตรภูมิพระร่วง ของพระมหาธรรมราชาลิไทย พ.ศ.1888 กล่าวคือ ภูมิ 4 ภูมิ คือ กามภูมิ รูปภูมิ และอรูปภูมิ ในกามภูมิ จะประกอบด้วย ภูมิ 4 ภูมิ คือ มนุสสภูมิ ดาวดึงสภูมิ อสุรกายภูมิ และครุฑภูมิ มีต้นไม้ประจำภูมิ แบ่งทิศจากศูนย์กลางคือ เขาพระสุเมรุ ได้แก่ ในมนุสสภูมิ มี 4 ทวีป
ทิศเหนือ มี กัลปพฤกษ์ ประจำ อุตตรกุรุทวีป, ทิศใต้ มี หว้า ประจำชมพูทวีป, ทิศตะวันออก มี ซึก ประจำ บุพพวิเทหทวีปทิศตะวันตก มี กระทุ่ม ประจำ อมรโคยานทวีป, ยอดเขาพระสุเมรุ มีปาริชาต ประจำ ดาวดึงสภูมิ, ข้างใต้เขาพระสุเมรุมีแคฝอย ประจำ อสุรกายภูมิ, เชิงเขาพระสุเมรุ มี งิ้ว ประจำ ครุฑภูมิ

พรรณพืชดึกดำบรรพ์ในประเทศไทย
            พรรณพืชที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย คือ ต้นกระบาก อายุพันปี ที่เขตอุทยานแห่งชาติตากสินมหาราช จังหวัดตาก ต้นไทรใหญ่ที่สุดคือ ต้นเลียบ ที่ตำบลสะเตง จังหวัดยะลา
ต้นสักใหญ่ที่สุดในโลก คือ ต้นสักอายุพันปี บริเวณป่าสงวนลำห้วยถ้ำดิน ต. น้ำไคร้ อ. น้ำปาด จ. อุตรดิตถ์

พรรณพืชถิ่นกำเนิดในประเทศไทย
            มนุษย์เริ่มมีวิวัฒนาการจากลิงคนเมื่อ 2 ล้านปี ฉะนั้น พรรณพืชทางศิลปวัฒนธรรมไทยย่อมจะมีความเก่าแก่ถึง 500 ล้านปี เช่นเดียวกับพืชเซลล์เดียวของภูมิภาคอื่น โดยเฉพาะประเทศไทยอยู่ในเอเชียเขตร้อน มีภูมิอากาศและภูมิประเทศที่เหมาะสมแก่การเจริญเติบโตของพรรณพืช มีพื้นที่ป่าเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะป่าดงดิบ พรรณพืชส่วนมากจะออกดอกตลอดปีไม่เหมือนภูมิภาคที่มีอากาศหนาวเย็น พรรณพืชจะออกดอกปีละครั้ง แม้แต่กุหลาบซึ่งพบซากฟอสซิลว่ามีมาแต่ดึก ดำบรรพ์เมื่อประมาณ 40 ล้านปี มาแล้ว ก็มีกำเนิดในเอเชีย กุหลาบทั่วโลกจะผสมจากกุหลาบเอเชียเพียงไม่กี่ชนิด มีหลักฐานการพบพรรณพืชเป็นจำนวนมากที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย พืชน้ำ ได้แก่ โกมุท จงกลนี บุณฑริก บัวผัน บัวเผื่อน บัวขม ปทุม เป็นต้น หรือพืชมีดอก เช่น กัลปพฤกษ์ กุมาริกา กระดังงาสงขลา การเวก ขี้เหล็ก คัดเค้า แจง นมแมว ปันหยี พวงประดิษฐ์ พาดไฉน พิมาน มะค่าแต้ มะพลับ รวงผึ้ง สารภี รวก รัง อังกาบ เป็นต้น

พรรณพืชในโบราณคดี
            จากหลักฐานทางโบราณคดีพบว่าพรรณพืชที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทยมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ดังนี้ คือ พรรณพืชสมัยหินกลาง จากการค้นพบของ ดร.เชสเตอร์ กอร์แมน ที่แหล่งโบราณคดีถ้ำผี จังหวัดแม่ฮ่องสอน อายุประมาณ 8,500-13,000 ปีพบซากฟอสซิลของพืช (botanical macro-fossils) จำนวน 14 ชนิด ได้แก่ กระจับ แตงร้าน ถั่วเขียว ถั่วน้อย นางพญาเสือโคร่ง (พืชสกุลเดียวกับท้อ) น้ำเต้า พริกไทย พลู มะกอกเลื่อม มะซาง มะเยา สมอไทย สมอพิเภก และหมากนอกจากนั้น พรรณพืชที่สำคัญในสมัยหินกลางจากแหล่งโบราณคดีถ้ำปุงฮุง จังหวัดแม่ฮ่องสอน เมื่อประมาณ 7,000 ปี จากการขุดค้นของ ดร.กอร์แมน เช่นกัน คือ ข้าว จากหลักฐานดังกล่าวแสดงว่าข้าวมีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย ไม่ใช่มีถิ่นกำเนิดในประเทศจีนและอินเดียตามหลักฐานเดิม ประมาณ 4,000 ปี, บ้านนาดี จังหวัดอุดรธานี ประมาณ 3,000-4,000 ปี และโคกพลับ จังหวัดราชบุรี ประมาณ 2,000-3,000 ปี โดยเฉพาะการค้นพบที่ถ้ำปุงฮุง จังหวัดแม่ฮ่องสอน แสดงว่า คนไทยรู้จักปลูกข้าวเพื่อเป็นอาหารประจำวันมานานถึง 7,000 ปี มาแล้ว ก่อนจีนและอินเดียถึง 2,000 ปี และจากการพบหลักฐานพรรณพืชหลายชนิดที่ถ้ำผี จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีอายุเก่าแก่ถึงประมาณ 10,000 ปี ซึ่งเก่าแก่กว่าพืชชนิดเดียวกันที่พบในส่วนอื่นของโลก ทำให้น่าเชื่อถือได้ว่า ประเทศไทยในสมัยก่อนประวัติศาสตร์อาจจะเป็นดินแดนที่ให้กำเนิดการเกษตรกรรมของโลกมิใช่บริเวณตะวันออกกลางที่เรียกกันว่า ดินแดนอันอุดมสมบูรณ์รูปพระจันทร์เสี้ยว (The Fertile Crescent) ดังที่เคยเชื่อกันมา

พรรณพืชที่อ้างถึงครั้งแรก
            พรรณพืชที่พบหลักฐานใหม่เกี่ยวกับการอ้างถึงครั้งแรก ได้เสนอเฉพาะพรรณพืชสำคัญจำนวน 80 ชนิด ดังต่อไปนี้
พรรณพืชสมัยก่อนสุโขทัย จำนวน 19 ชนิด ได้แก่ กระวาน ฝ้าย มะพร้าว กัลปพฤกษ์ พิกุล มะม่วง นิลุบล กระทุ่ม ไผ่ งา ถั่วสะแตก กำยาน กฤษณา การบูร จันทน์ สน อ้อย กุมุท และ โพธิ์ พรรณพืชสมัยสุโขทัย จำนวน 24 ชนิด ได้แก่ พิมเสน ข้าวสาลี คราม จงกลนี แตงโม ไทร ถั่วราชมาส บัวเผื่อน ลำดวน หญ้าแพรก เส้ง กรรณิการ์(ดอกสีเหลือง) ปาริชาต ชาติบุตร โยทะกา อโนชา(อังกาบ) นาคพฤกษ์ (กระทิง) แขม ดอกซ้อน (มะลิซ้อน) หวาย พลับ พุทธรักษา บุนนาค สารภี และประดู่ พรรณพืชสมัยอยุธยาตอนต้น จำนวน 22 ชนิด ได้แก่ พริก กระเทียม หอม ตะไคร้ ข่า กระชาย มะกรูด ส้มป่อย ยาสูบ ทุเรียน มังคุด ลางสาด ฝิ่น ฝาง กรักขี แก้ว เกด ราชพฤกษ์ ทองกวาว กระลำพัก กาหลง และชา พรรณพืชสมัยอยุธยาตอนกลาง จำนวน 9 ชนิด ได้แก่ ลำไย ละมุด เจตมูลเพลิง พลับพลึง สุพรรณิการ์ ทานตะวัน หงอนไก่ ดาวเรือง และน้อยหน่า พรรณพืชสมัยอยุธยาตอนปลาย จำนวน 4 ชนิด ได้แก่ ลั่นทม ชงโค ยี่เข่ง และยี่โถ พรรณพืชสมัยธนบุรี จำนวน 1 ชนิด คือ พุดตาน

พรรณพืชวรรณคดีที่สูญพันธุ์ไปแล้ว
            พรรณพืชวรรณคดีที่พบว่าสูญพันธุ์ไปแล้ว คือ กระจับบก กล้วยทองฝาแฝด โกฐสิงคลี ขนัน เขล็ญ ครวญ ช้างเช้า ชามชุน เชิงจำ ทองสิบอย่าง ปุ้มไก่ เปล้าราม พาดไฉน พุงจาบ มะม่วงพรวน ร้อยลิ้น รำดึง ว่านบุษราคัม ว่านฟันชน วานพระผนัง ว่านพระกราบ หมากข้า เป็นต้น

ต้นพระศรีมหาโพธิ์ของพระพุทธเจ้า 28 พระองค์

     
1. พระพุทธตัณหังกร(สัตตบรรณ)
2. พระพุทธเมธังกร(ทองกวาว)
3. พระพุทธสรณังกร(แคฝอย)
4. พระพุทธทีปังกร(เลียบ)
5. พระพุทธโกณฑัญญะ (ขานาง)
6. พระพุทธมงคละ (กระทิง, บุนนาค)
7. พระพุทธสุมนะ(กระทิง, บุนนาค)
8. พระพุทธเรวตะ(กระทิง, บุนนาค)
9. พระพุทธโสภิตะ(กระทิง, บุนนาค)
10. พระพุทธอโนมทัสสี(รกฟ้า)
11. พระพุทธปทุมะ(อ้อยช้าง, เพกา)
12. พระพุทธนารทะ(อ้อยช้าง, เพกา)
13. พระพุทธปทุมุตตระ(สน)
14. พระพุทธสุเมธะ(สะเดา)
15. พระพุทธสุชาตะ(ไผ่ใหญ่)
16. พระพุทธปิยทัสสี(กุ่ม)
17. พระพุทธอัตถทัสสี(จำปา)
18. พระพุทธธัมมทัสสี(มะกล่ำหลวง ,
มะพลับ)
19. พระพุทธสิทธัตถะ(กัณณิการ์)
20. พระพุทธติสสะ(ประดู่ลาย)
21. พระพุทธปุสสะ(มะขามป้อม)
22. พระพุทธวิปัสสี(แคฝอย)
23. พระพุทธสิขี(มะม่วงปา, กุ่มบก)
24. พระพุทธเวสสภู(สาละ, ส้านหลวง)
25. พระพุทธกกุสันธะ(ซึก)
26. พระพุทธโกนาคมนะ(มะเดื่อ)
27. พระพุทธกัสสปะ(นิโครธ)
28. พระพุทธโคตมะ(โพธิ)

 

พรรณพืชสมัยพุทธกาลจากพุทธประวัติ
           ตอนเจ้าชายสิทธัตถะประสูติ คือ สาละอินเดีย ตอนเจ้าชายสิทธัตถะในปฐมวัย คือ หว้า ตอนทรงบำเพ็ญทุกรกิริยา คือ มะม่วง ชมพูพฤกษ์ หรือ หว้า ตอนการบูชาพระพุทธองค์ คือ นิโครธตอนตรัสรู้ คือ พระศรีมหาโพธิ์ และหญ้ากุสะตอนพระพุทธองค์ประทับเสวยวิมุตติสุขในสถานที่ 7 แห่ง เรียกว่า สัตตมหาสถานประทับอยู่แห่งละ 1 สัปดาห์ คือ อัชปาลนิโครธ (ไม้นิโครธ) มุจลินทพฤกษ์ (ไม้จิก) ราชายตนพฤกษ์ (ไม้เกด) ตอนพระพุทธองค์เสด็จไปตำบลอุรุเวลา แขวงเมืองราชคฤห์ คือ กุ่ม ตอนยมกปาฏิหารย์ คือ คัณฑามพฤกษ์ (มะม่วง) ตอนพระพุทธองค์เสด็จดับขันธปรินิพพาน คือ สาละอินเดีย

พรรณพืชในตำนานเมืองและพงศาวดาร
           พรรณไม้ในตำนานกรุงสุโขทัย คือ ตาล พรรณไม้ในตำนานกรุงศรีอยุธยา คือ หมัน, พรรณไม้ในตำนานกรุงธนบุรี คือ ทองหลาง, พรรณไม้ในตำนานกรุงรัตนโกสินทร์ คือ ราชพฤกษ์, พรรณไม้ในตำนานเมืองเชียงใหม่ คือ ไทร พรรณไม้ในตำนานเมืองหริภุญไชย คือ ยางทราย, พรรณไม้ในตำนานเมืองฝาง คือ ฝาง พรรณไม้ในตำนานเมืองเงินยางเชียงแสน คือ พุทรา, พรรณไม้ในตำนานดอยสุเทพ คือ อ้อย, พรรณไม้ในตำนานพระธาตุหริภุญไชย คือ สมอ, พรรณไม้ในตำนานพระปฐมเจดีย์ คือ พระศรีมหาโพธิ์, พรรณไม้ในพงศาวดารเหนือ คือ น้ำเต้า หมาก, พรรณไม้ในตำนานพระนางจามเทวี คือ มะตูม สักสองพี่น้อง, พรรณไม้ในพงศาวดารล้านช้าง คือ น้ำเต้า, พรรณไม้ในตำนานพระร่วง คือ ไม้แก้งขี้พระร่วง (ต้นหาดเยือง), พรรณไม้ในตำนานพระยามังราย คือ มะเดื่อ โพธิ์ลังกา พรรณไม้ในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช คือ พุทรา (ดอนพุทรากระแทก)

พรรณพืชในจารึก
           จารึกวัดเสมาเมือง นครศรีธรรมราช (พ.ศ.1318) กล่าวถึงมะม่วงและพิกุล, จารึกวัดศรีชุม หลักที่ 2 (พ.ศ. 1900) กล่าวถึง พระศรีมหาโพธิ์, กระทิง อินทนิล ซึก ดอกซ้อน (มะลิซ้อน) ดอกพุด, จารึกวัดอโสการาม (พ.ศ.1942) กล่าวถึง สารภี บุนนาค พิกุล มะม่วง ขนุน มะขวิด มะพร้าว, จารึกลานทองวัดส่องคบ ชัยนาท (พ.ศ. 1951) กล่าวถึง แก้ว เกด, จารึกวัดบูรพาราม (พ.ศ. 1955) กล่าวถึง พิกุล มะม่วง สมอ บุนนาค กระทิง สารภี ประดู่ ไทร สาละ มะพร้าว กอปทุม อุบล

พรรณพืชในวรรณคดี
พรรณพืชสำคัญสมัยก่อนสุโขทัย มิลินทปัญหา (พ.ศ. 500) กล่าวถึงเมืองตักโกละ(กระวาน) สันนิษฐานว่าคือ เมืองตะกั่วปา พงศาวดารราชวงศ์ชุง (พ.ศ. 1560) กล่าวถึงอาณาจักรศรีวิชัย ผลิตกำยานเป็นสินค้าออก

           พรรณพืชสำคัญสมัยสุโขทัย ไตรภูมิพระร่วง (พ.ศ. 1888) กล่าวถึงพรรณไม้ประจำทวีปแบ่งตามทิศจากศูนย์กลางคือเขาพระสุเมรุ ทิศเหนือ (อุตตรกุรุทวีป) กัลปพฤกษ์, ทิศใต้ (ชมพูทวีป) หว้า, ทิศตะวันออก (บุพพวิเทหทวีป) ซึก (จามจุรีสีทอง), ทิศตะวันตก (อมรโคยานทวีป) กระทุ่ม, ยอดเขาพระสุเมรุ (ดาวดึงสภูมิ) ปาริชาต(ทองหลาง), ใต้เขาพระสุเมรุ (อสุรกายภูมิ) แคฝอย, เชิงเขาพระสุเมรุ (ครุฑภูมิ) งิ้ว พรรณพืชในไตรภูมิพระร่วงที่พบหลักฐานใหม่เกี่ยวกับชนิดของพรรณพืช คือ ปาริชาต ในไตรภูมิพระร่วง แปลว่า ทองหลาง ในตำราต้นไม้ของอินเดียจะหมายถึง กรรณิการ์ ดอกขาว ก้านแสด, ชาติบุตร น่า จะหมายถึงมะลิ ชาติเป็นภาษาบาลี หมายถึง มะลิ, โยธกา น่าจะมีความหมายตามภาษาบาลีสันสกฤต คือ ยูถิกามาเป็นโยถิกา หมายถึงพุทธชาด ส่วนคนไทยจะแปลยูถิกาหรือโยถิกาว่า คัดเค้า, กัณณิการ์ที่ไตรภูมิพระร่วงระบุว่าเหลืองงามดั่งทองเนื้อสุก ผู้วิจัยพบว่า คือ ต้นกัณณิการ์ของอินเดีย ซึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์ตรงกับต้นหูควายอันเป็นไม้ทางภาคพายัพของไทย, สะเอ้ง ที่ระบุว่าพระแท่นบัณฑุกัมพล แดงเข้มแดงฉันดั่งดอกสะเอ้ง ผู้วิจัยพบว่า หมายถึงดอกเส้งหรือดอกบานเที่ยง

ทิพยพฤกษ์หรือปัญจพฤกษ์ คือ ดอกไม้สวรรค์ 5 ต้นในดาวดึงสภูมิ ได้แก่ ปาริชาต กัลปพฤกษ์มณฑารพ หริจันทน์ (จันทน์เทศ) สันตาน

พรรณพืชหอมในอุตตรกุรุทวีป ได้แก่ จวง จันทน์ กฤษณา ปาริชาต นาคพฤกษ์ (กระทิง) ลำดวน จำปา โยธะกา (พุทธชาดหรือคัดเค้า) มาลุตี (มะลุลี) มณีชาติบุตร (มะลิ)

พรรณพืชสำคัญที่ใช้ทำเครื่องดนตรีไทย
           วัฒนธรรมการดนตรีของไทย มีความเก่าแก่มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ดังปรากฎหลักฐานการพบเครื่องดนตรีไทย อายุราว 2,100 ปี ในหลุมฝังศพนางพระยาเผ่าไทที่ ต.หม่าหวังตุย อ.ฉางชา มณฑลหูหนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน อยู่ในสมัยราชวงศ์ฮั่น เป็นเครื่องดนตรีทำด้วยไม้ไผ่ มีขลุ่ย และแคน รวมทั้งเครื่องดนตรีขิม

           ไม้ในฝันที่หายากมากที่สุดของช่างทำเครื่องดนตรีไทย อยู่ในสกุลไม้มะเกลือ คือไม้มะริด ใช้ทำเครื่องดนตรีที่ถือว่าศักดิ์สิทธิ์มีอิทธิฤทธิ์เหมือนชื่อ ปัจจุบันเกือบจะสูญพันธุ์ไปแล้ว เมื่อครั้งทำระนาดถวายสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ยังต้องไปนำมาจากเมืองพม่า ทำเครื่องดนตรีได้หลายชนิด เช่น ซอด้วง ซออู้ กลอง โทน รำมะนา ฯลฯ ที่นิยมทำมาแต่โบราณ คือ ทำรางระนาดมักนิยมใช้งาช้างประกอบ ดังเช่นเครื่องดนตรีของหลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) นักดนตรีที่มีชื่อเสียงในสมัยรัชกาลที่ 5- 6 เป็นรางระนาดไม้มะริด มีงาช้างแบบไม่ต่อประกอบ ในภาพลูกระนาดทำด้วยไม้ชิงชัน มีสมญาว่าผืนทับทิม เป็นผืนที่จางวางศร ศิลปบรรเลง ได้ บรรเลงถวายพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จนได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นหลวงประดิษฐ์ไพเราะ

           ไม้สกุลไม้มะเกลืออีกชนิดหนึ่ง ที่ใช้เครื่องดนตรีไทย คือ ไม้มะเกลือ ทำซอด้วง ซออู้ ขลุ่ย กลอง ส่วนประกอบของระนาด เช่น คิ้ว คันทวนซอสามสาย ฯลฯ ดังเช่น กลองชาตรี ไม้มะเกลือของหลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ยังมีไม้อีกสกุลหนึ่งที่หายากเพราะเป็นไม้หวงห้าม คือ สกุลไม้ชิงชัน ไม้สกุลนี้นิยมนำมาทำเครื่องดนตรี เพราะมีเนื้อไม้และแก่นที่สวยงาม ได้แก่ ชิงชัน และพะยูง ชิงชัน ทำเครื่องดนตรีได้หลายชนิด เช่น ลูกระนาด ซอด้วง ซออู้ จะเข้ ขลุ่ย กลอง โทน รำมะนา กรับ ขาฆ้องวง ฯลฯ ดังตัวอย่างลูกระนาดไม้ชิงชันที่เรียกว่า ผืนทับทิม ของหลวงประดิษฐ์ไพเราะ ซึ่งเคยบรรเลงถวายพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเจ้าอยู่หัว จนได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นหลวงประดิษฐ์ไพเราะ นอกจากนั้นเครื่องดนตรีไทยที่ทำด้วยไม้ชิงชันของหลวงประดิษฐ์ไพเราะ ยังมีกลองทัด กลองชาตรี กลองแขก เป็นต้น

           พะยูง ทำเครื่องดนตรี คือ ลูกระนาด ซอด้วง ซออู้ ขลุ่ย กลอง โทน รำมะนา ฯลฯ ตัวอย่างเช่น กลองแขก ไม้พะยูง อายุราวรัชการที่ 7 สมบัติของอาจารย์สุบิน จันทร์แก้ว ลูกระนาดเอกไม้พะยูงราวสมัยรัชการที่ 8 รางระนาดไม้สัก ฝีมือเจ๊กฝน ช่างทำระนาดมีชื่อเสียงมาตั้งแต่ยุครัชกาลที่ 5 เป็นต้น

           ไม้ในสกุลไม้สัก ที่นิยมทำเครื่องดนตรี คือ รางระนาด กลอง โทน รำมะนา ขาฆ้องวง ฯลฯ ดังตัวอย่างเครื่องดนตรีของหลวงประดิษฐ์ไพเราะ อาทิ รางระนาดเอกและทุ้ม ทำด้วยไม้สักแกะสลักลงรักปิดทอง ระนาดมโหรี ไม้สัก ตะโพนไทยไม้สักมีเท้าไม้มะริดฝังงา

           ไม้ในฝันที่สำคัญลำดับสุดท้ายที่จะกล่าวถึง คือ สกุลไม้ไผ่ ได้แก่ไม้ไผ่บง ไผ่บงที่มีคุณภาพจะมาจากจังหวัดตราด บริเวณคลองใหญ่ แหลมงอบ และ เกาะช้าง จะมีเนื้อแกร่งดีมาก นิยมนำมาทำลูกระนาด เพราะให้เสียงไพเราะมาก ลูกระนาดผืนไผ่บงที่มีชื่อเสียง คือ ผืนจำปา ของหลวงประดิษฐ์ไพเราะ นอกจากนี้ยังมีระนาดเอกผืน ย.ท. ซึ่งสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงลพบุรีราเมศร์ โปรดให้สลักพระนามย่อยุคลทิฆัมพร ประทานให้แก่หลวงประดิษฐ์ไพเราะเป็นพิเศษ และมีระนาดทุ้มคู่กับระนาดเอกทำด้วยไผ่บง

พรรณพืชในเพลงไทย
           พรรณไม้ในเพลงพระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี
ตับชมสวนขวัญ ดอกไม้ไทร

   
เพลินชมสายหยุดพุทธชาด ชมนาดหอมรื่นชื่นนาสา
การะเกดแกมแก้วกระดังงา กรรณิการ์สารภีจำปีพะยอม
โอ้ว่าพวงผกาของข้าเอ๋ย
กุหลาบหลากสีมีปลูกไว้ อยู่ใกล้กับพุ่มมะลิหอม
กรองเป็นมาลัยได้ดมดอม นำน้อมโน้มหทัยให้ชื่นบาน
โอ้ว่าพวงผกาของข้าเอ๋ย


พรรณพืชในพิธีกรรมและความเชื่อ พรรณไม้มงคล ไม้มงคล 9 ชนิด คือ
           1. ชัยพฤกษ์ มีโชคชัย 4. ไผ่สีสุก มีความสุข 7. สักทอง ความศักดิ์สิทธิ์
           2. ราชพฤกษ์ เป็นใหญ่เป็นโต 5. กันเกรา, กันภัย ป้องกันภัยอันตราย 8. พะยูง พะยุงฐานะให้มั่นคง
           3. ทองหลาง มีเงินมีทอง 6. ทรงบาดาล ความบันดาลใจ 9. ขนุน หนุนทรัพย์สินเงินทอง
ใบไม้มงคล 8 ชนิด คือ ใบมะตูม ใบเงิน ใบทอง หญ้าแพรก ใบพรหมจรรย์ (หมากผู้หมากเมีย) ใบส้มป่อย ใบชัยพฤกษ์ และ ใบมะกรูด

พรรณพืชมงคลตามทิศ
           ทิศบูรพา - ไผ่ กุ่ม มะพร้าว, ทิศอาคเนย์ - ยอ สารภี, ทิศทักษิณ - มะม่วง มะพลับ, ทิศหรดี - ชัยพฤกษ์ สะเดา ขนุน พิกุล, ทิศประจิม - มะขาม มะยม, ทิศพายัพ - มะกรูด, ทิศอุดร - พุทรา หัวว่าน, ทิศอีสาน- ทุเรียน

พรรณพืชมงคลตามอักษรนามประจำทิศนวเคราะห์
           ทิศบูรพา - แก้ว กรรณิการ์ กันเกรา, ทิศอาคเนย์ - แจง จันทน์, ทิศทักษิณ - กระถิน พุด, ทิศหรดี - มะตูม แต้ว เต็ง, ทิศประจิม - ปีบ ประดู่, ทิศพายัพ - ยอ รัง, ทิศอุดร - สน สัก, ทิศอีสาน - อินทนิล อ้อ, ทิศกลาง - เกด

ไม้มิ่งขวัญประจำปีเกิด
           ปีชวด มิ่งขวัญอยู่ที่ มะพร้าว กล้วย, ปีฉลู มิ่งขวัญอยู่ที่ ตาล, ปีขาล มิ่งขวัญอยู่ที่ ขนุน รัง, ปีเถาะมิ่งขวัญอยู่ที่ มะพร้าว งิ้ว, ปีมะโรง มิ่งขวัญอยู่ที่ งิ้ว ต้นไผ่, ปีมะเส็ง มิ่งขวัญอยู่ที่ โพธิ์ รัง, ปีมะเมีย มิ่งขวัญอยู่ที่ตะเคียน กล้วย, ปีมะแม มิ่งขวัญอยู่ที่ ปาริชาต ไผ่ปา, ปีวอก มิ่งขวัญอยู่ที่ ขนุน, ปีระกา มิ่งขวัญอยู่ที่ ยาง ฝ้ายเทศ, ปีจอ มิ่งขวัญอยู่ที่ สำโรง บัวหลวง, ปีกุนมิ่งขวัญอยู่ที่ บัวหลวง บัวบก

พรรณพืชในศิลปะไทย ลาดลายศิลปะสมัยหินใหม่ – ลายดอกหญ้า ลายปล้องอ้อย ลายมะลิเลื้อย ลายกาบไผ่ ลายหวีกล้วย ลายต้นสนและต้นดอกไม้ ลายตาสับปะรด ลายหมากจับ ลายดอกมะลิลวดลายศิลปะสมัยโลหะ – ลายบักโม (แตงโม) ลายเครือเถาก้านขด ลายผักกูด ลายกระหนกช่อ ลายบัวคว่ำบัวหงาย ลายดอกแก้ว (ดอกพิกุล) ลายพุ่มข้าวบิณฑ์, ลวดลายศิลปะสมัย
ก่อนทวารวดี – ลายประจำยามดอกจันทน์, ลวดลายศิลปะสมัยทวารวดี – ลายดอกบัว ลายพวงมาลัย, ลวดลายศิลปะสมัยสุโขทัย – ลายดอกก้านแย่ง ลายดอกสร้อย ลายกรวยเชิง (บัวสัตตบุษย์), ลวดลายศิลปะสมัยอยุธยา – ลายดอกไม้ร่วง
ดอกลำดวนลายใบเทศ (ต้นฝ้ายเทศหรือพุดตาน) ลายดอกชัยพฤกษ์ ลายดอกรัก ลายดอกสายหยุด ลายดอกจอก ลายรวงข้าว