เรื่องโคเนื้อพันธุ์กำแพงแสน
(Kampaengsaen Beef Breed)
คณะกรรมการบริหารสภาวิจัยแห่งชาติ ได้พิจารณาเห็นว่าผลงานประดิษฐ์คิดค้น
เรื่องโคพันธุ์กำแพงแสน (Kampaengsaen Beef Breed) ของนายปรีชา อินนุรักษ์
และคณะแห่งศูนย์วิจัยและพัฒนาการผลิตกระบือและโค มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
วิทยาเขตกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม ผลงานการประดิษฐ์นี้เป็นการสร้างและปรับปรุงพันธุ์ขึ้นใหม่ของโคเนื้อซึ่งเป็นพันธุ์แรกของประเทศไทย
โดยการผสมพันธุ์ระหว่างพันธุ์พื้นเมือง บราห์มัน และชาโลเลส์ ซึ่งมีความเด่นในเรื่องกล้ามเนื้อ
การเจริญเติบโตได้เนื้อคุณภาพสูง คือเนื้อโคมีไขมันแทรกในกล้ามเนื้อ
ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นในการจำหน่ายโคขุนและพันธุ์โค
ที่มาของการประดิษฐ์คิดค้น
ในอดีต ประเทศไทยยังไม่มีโคพันธุ์เนื้อที่สามารถเลี้ยงเป็นโคขุนในเชิงธุรกิจเหมือนโคเนื้อพันธุ์ต่างประเทศ
เช่น ยุโรป และอเมริกา ส่วนโคพื้นเมืองของประเทศไทย แม้ว่ามีคุณสมบัติดีเด่นหลายประการ
แต่ก็มีขนาดเล็กและโตช้า ดังนั้น นักวิชาการของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จึงได้พัฒนาโคพันธุ์ใหม่ขึ้นมาเพื่อใช้เป็นโคเนื้อพันธุ์แรกของประเทศ
ชื่อว่าพันธุ์กำแพงแสน ซึ่งปรับปรุงพันธุ์มาจากโคพื้นเมืองกับโคพันธุ์บราห์มัน
และโคพันธุ์ ชาโรเลส์ โดยได้รับลักษณะที่ดีจากโคพื้นเมืองไทย คือ การปรับตัวได้ดีในสภาพอากาศร้อนชื้น
ทนต่อเห็บและแมลงรวมทั้งโรคและพยาธิ และสามารถเจริญเติบโตได้ในสภาพที่อาหารสัตว์มีคุณภาพต่ำและปริมาณจำกัด
ได้รับโครงร่างใหญ่จากโคพันธุ์บราห์มัน แล้วเพิ่มเติมความสามารถในการสร้างเนื้อคุณภาพดีและโตเร็วจากโคพันธุ์ชาโรเลส์
ลำดับการดำเนินงานเกี่ยวกับการสร้างโคเนื้อพันธุ์กำแพงแสนตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันมีดังนี้
- พ.ศ. ๒๕๐๗-๒๕๑๒ เริ่มโครงการโคเนื้อที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ณ สถานีฝึกนิสิตทับกวาง และวิทยาเขตกำแพงแสน โดยมี ศสตราจารย์ ดร.จรัญ
จันทลักขณา เป็นหัวหน้าโครงการได้สั่งน้ำเชื้อแช่แข็งพันธุ์ชาโรเลส์
เฮอร์ฟอร์ด แองกัส และบราห์มัน มาผสมกับแม่โคพื้นเมือง โดยศึกษาสมรรถภาพของโคพันธุ์ผสมต่างๆ
เพื่อตัดสินใจใช้พันธุ์ที่เหมาะสมที่สุด
- พ.ศ. ๒๕๑๗ เริ่มโครงการปรับปรุงพันธุ์โคเนื้อระดับหมู่บ้าน
โดยดำเนินการร่วมกับกลุ่มเกษตรกรรอบ ๆ วิทยาเขตกำแพงแสน
- พ.ศ. ๒๕๒๗ เริ่มจัดฝึกอบรมหลักสูตรการเลี้ยงโคเนื้อให้แก่เกษตรกรและผู้สนใจจากทั่วประเทศ
- พ.ศ. ๒๕๓๐ จากผลงานวิจัย
สรุปได้ว่าโคที่มีสายเลือดพื้นเมือง ๒๕% บราห์มัน ๒๕% ชาโรเลส์ ๕๐%
มีคุณลักษณะเหมาะสมที่สุดในสภาพอากาศร้อนชื้น คือโตเร็ว เลี้ยงง่าย
และเนื้อมีคุณภาพสูง แล้วตั้งชื่อโคว่า โคเนื้อพันธุ์กำแพงแสน ตามชื่อของสถานที่ตั้งวิทยาเขต
- พ.ศ. ๒๕๓๔ ก่อตั้งสมาคมโคเนื้อพันธุ์กำแพงแสน
นายกสมาคมคนแรก คือ นายสุนทร นิคมรัตน์ ได้ขยายงานปรับปรุงพันธุ์ออกไปสู่ฟาร์มเอกชนในหลายๆ
จังหวัดทั่วประเทศ
- พ.ศ. ๒๕๓๖ ก่อตั้งสหกรณ์โคเนื้อมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
วิทยาเขตกำแพงแสน จำกัด เพื่อทำหน้าที่ส่งเสริมธุรกิจจำหน่ายเนื้อโคขุนพันธุ์กำแพงแสนไปยังศูนย์การค้า
ภัตตาคารต่างๆ
- พ.ศ. ๒๕๓๙ พ่อพันธุ์โคเนื้อพันธุ์กำแพงแสน
ชื่อ ขุนแผน K 11-36/241 ชนะการประกวดโคเนื้อ ได้รับรางวัลสุดยอดโคเนื้อของประเทศไทย
(Super Grand Champion) ในงานแสดงเกษตรและอุตสาหกรรมโลก WORLDTECH95
Thailand ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา
- พ.ศ. ๒๕๔๐ เริ่มโครงการปรับปรุงพันธุกรรมและสมรรถภาพการผลิตโคเนื้อพันธุ์กำแพงแสนอย่างเข้มข้นและกว้างขวาง
โดยมี ศาสตราจารย์ปรารถนา พฤกษะศรี เป็นหัวหน้าโครงการฯ ได้รับงบประมาณจากสถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โครงการนี้ดำเนินการร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กับสมาคมโคเนื้อพันธุ์กำแพงแสน
และสหกรณ์โคเนื้อมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยมีกรมปศุสัตว์ให้การสนับสนุนด้านการส่งเสริมและเผยแพร่
- พ.ศ. ๒๕๔๓ นายปรีชา อินนุรักษ์
เป็นหัวหน้าโครงการปรับปรุงพันธุกรรมและสมรรถภาพการผลิตโคเนื้อพันธุ์กำแพงแสนสืบต่อมา
และผลิตน้ำเชื้อแช่แข็งจากพ่อโคที่ผ่านการทดสอบคุณภาพแล้ว กระจายให้แก่สมาชิกในโครงการและเกษตรกรทั่วประเทศ
ระยะเวลาในการประดิษฐ์คิดค้น
ตั้งแต่การดำเนินงานที่วิทยาเขตกำแพงแสน คือ พ.ศ. ๒๕๑๒ ถึงปัจจุบัน
รวมประมาณ ๓๕ ปี
คุณสมบัติและลักษณะเด่น
- สามารถใช้เป็นโคขุนในสภาพอากาศร้อนของประเทศไทยได้ดี
ทนต่อเห็บและแมลง ขณะนี้มีเกษตรกรนำไปเลี้ยงได้ในทุกภาคของประเทศไทย
ช่วยให้เกษตรกรมีรายได้สูงขึ้น
- เป็นโคพันธุ์เนื้อที่มีโครงร่างและการเจริญเติบโตดี
มีประสิทธิภาพการใช้อาหารสูง ไม่แพ้โคเนื้อพันธุ์ต่างประเทศ แต่โคพันธุ์ต่างประเทศไม่สามารถอยู่รอดในสภาพแวดล้อมของประเทศไทย
- คุณภาพซากและเนื้อดี ทัดเทียมกับเนื้อที่นำเข้าจากต่างประเทศ
เนื้อนุ่ม และปลอดจากโรควัวบ้า หากเลี้ยงถูกวิธีจะมีไขมันพอดี ไม่ทำให้คนเป็นโรคอ้วน
- มีสมาคมโคเนื้อพันธุ์กำแพงแสนและสหกรณ์โคเนื้อรับรองคุณสมบัติ
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดย ศูนย์วิจัยและพัฒนาการผลิตกระบือและโค
เป็นผู้ทดสอบคุณภาพ
- หลักการ วิธีการ และกรรมวิธี
การสร้างโคเนื้อพันธุ์
กำแพงแสน เป็นการปรับปรุงพันธุ์โคพื้นเมืองของไทย คุณสมบัติที่ดีเลิศของโคพื้นเมืองที่ไม่มีโคพันธุ์ใดเทียบได้
คือความสมบูรณ์พันธุ์ ได้แก่ การเป็นสัดเร็ว ผสมติดง่ายได้ลูกทุกปีทั้งๆ
ที่ได้รับอาหารตามสภาพการเลี้ยงของเกษตร กรไทย แต่เนื่องจากโคพื้นเมืองมีขนาดเล็กโตช้า
ไม่สามารถนำมาเลี้ยงเป็นโคขุนในระบบธุรกิจได้ จึงได้มีการปรับปรุงโคพื้นเมือง
โดยการนำโคพันธุ์บราห์มันมาผสมเพื่อให้ได้ลูกที่มีขนาดใหญ่และโตเร็วขึ้น
เนื่องจากโคบราห์มันเป็นโคพันธุ์เอเซียจึงผสมกันได้ดีกับโคไทย ทำให้ได้ลูกผสมตัวใหญ่ขึ้น
และให้ลูกดกอันเป็นข้อดีของโคพื้นเมืองไทยที่ถ่ายทอดมา ดังนั้น โครงการปรับปรุงพันธุกรรมโคเนื้อ
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงพยายามรักษาเลือดโคพื้นเมืองไว้ ๒๕% เพื่อให้คงความดีของความสมบูรณ์พันธุ์
และจำกัดเลือดพันธุ์บราห์มัน ไว้เพียง ๒๕% เพื่อให้ได้โครงสร้างใหญ่ขึ้น
แล้วนำพันธุ์โคชาโรเลส์มาช่วยเสริมเรื่องการให้เนื้อนุ่ม และการเจริญเติบโตเร็ว
แต่โคชาโรเลส์เป็นพันธุ์โคเมืองหนาว ซึ่งไม่สามารถทนต่ออากาศร้อนบ้านเราได้
จึงจำกัดเลือดพันธุ์ชาโรเลส์ไว้เพียง ๕๐% ทำให้โคลูกผสมมีสัดส่วนของลักษณะเด่นผสมกันพอดีและเหมาะสม
สรุปได้ว่า การสร้างโคพันธุ์ กำแพงแสน เป็นการสร้างพันธุ์โคเพื่อให้มีคุณสมบัติเป็นโคเนื้อที่ดีครบถ้วนสำหรับเลี้ยงในสภาพทั่วไปของประเทศไทย
โดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ (โคพื้นเมือง) เป็นพันธุ์พื้นฐาน นอกจากจะเหมาะสมกับประเทศไทยแล้ว
ยังใช้ได้ดีในสภาพแวดล้อมของประเทศในเอเซียอาคเนย์อีกด้วย
|