การผลิตกุ้งก้ามกรามเพศผู้ล้วน โดยวิธีการทำลายต่อม androgenic gland
Production of All Male Giant Freshwater Prawn by Ablation of Androgenic glands
วิกรม รังสินธุ์1 อุทัยรัตน์ ณ นคร2 นายณัฐพงษ์ ปานขาว2
1ภาควิชาสัตววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ 2ภาควิชาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ คณะประมง
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์


             กุ้งก้ามกรามเพศผู้เจริญเติบโตเร็วกว่าเพศเมีย ทำให้การเลี้ยงกุ้งเพศผู้ล้วนเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น การผลิตลูกกุ้งเพศผู้ล้วนสามารถทำได้ ถ้าสามารถเหนี่ยวนำให้ กุ้งก้ามกรามเพศผู้ เปลี่ยนเพศไปเป็นเพศเมีย ซึ่งจะได้เพศเมียที่เรียกว่านีโอฟีเมล (neofemale) ซึ่งมีพันธุกรรมควบคุมเพศเป็น ZZ แทนที่จะเป็น ZW เหมือนเพศเมียปกติ เมื่อนำ นีโอฟีเมล นี้ไปผสมกับ กุ้งก้ามกรามเพศผู้ปกติ (เพศผู้ ZZ) ก็จะให้รุ่นลูกที่มีพันธุกรรมเป็น ZZ ซึ่งจะเป็นเพศผู้ทั้งหมด

         การวิจัยในครั้งนี้ มุ่งเน้น ที่จะเหนี่ยวนำให้ กุ้งก้ามกรามเพศผู้ เปลี่ยนเพศไปเป็นเพศเมีย ที่สมบูรณ์เพศ โดยการทำลายต่อมแอนโดรเจนิค (androgenic gland) ซึ่งแม้จะมีการรายงานวิธีการเหนี่ยวนำนี้ในต่างประเทศ แต่วิธีการยังขาดความชัดเจนในหลายประเด็น ทำให้ไม่สามารถนำมาปฏิบัติได้ เช่น ตำแหน่งที่แน่นอนของ ต่อมแอนโดรเจนิค อายุของกุ้งก้ามกรามเพศผู้ที่จะนำมาทำการเหนี่ยวนำ และวิธีการทำลายต่อม นอกจากนั้นผลการผสมระหว่าง
นีโอฟีเมล และเพศผู้ปกติก็ยังมีความผันแปร การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ ที่จะศึกษาสัดส่วนเพศของลูกกุ้งจากการผสมระหว่าง นีโอฟีเมล และกุ้งเพศผู้ปกติ ในกุ้งสายพันธุ์ไทย และในขณะเดียวกัน ก็จะพัฒนาประสบการณ์ในการแปลงเพศกุ้งก้ามกรามเป็นเพศเมีย ซึ่งจะสามารถถ่ายทอดให้เกษตรกรสามารถนำไปปฏิบัติจริงได้ต่อไป

            การแปลงเพศกุ้งก้ามกรามโดยการทำลายต่อมแอนโดรเจนิค นำลูกกุ้งก้ามกรามระยะคว่ำ มาศึกษาตำแหน่งของต่อมแอนโดรเจนิค และทดลองทำการผ่าตัดเพื่อทำลายต่อมตามวิธีของ Nagamine et al. (1980) และศึกษาเพื่อยืนยันผลการทำลายต่อมในลูกกุ้งอายุต่างๆ จากนั้นเมื่อได้วิธีการที่เหมาะสมแล้ว นำลูกกุ้งอายุ 45 วันหลังคว่ำ จำนวน 85 ตัว มาผ่าตัดเพื่อทำลายต่อมแอนโดรเจนิค จากนั้นเลี้ยงแยกในกล่องพลาสติกโปร่ง ที่ลอยในถังไฟเบอร์ สังเกตการเปลี่ยนเพศ เมื่อกุ้งแปลงเพศเจริญพันธุ์แล้ว นำมาผสม กับกุ้งเพศผู้ปกติ (ผสมแยกคู่) รวม 10 คู่ผสม เลี้ยงลูกกุ้งแยกครอบครัว จนสามารถแยกเพศได้ ก็ทำการนับจำนวนเพศผู้ เพศเมีย

            ช่วงอายุของกุ้งเพศผู้ที่เหมาะสมสำหรับการนำมาทำลายต่อมแอนโดรเจนิค การพัฒนาลักษณะเพศของกุ้งก้ามกรามเพศผู้ จะเริ่มแสดงลักษณะเพศภายนอกก่อนที่จะมีการเปลี่ยนแปลงของอวัยวะสร้างเซลล์สืบพันธุ์ โดยที่สามารถพบโครงสร้างของ ช่องเปิดของท่อนำน้ำเชื้อส่วนปลาย ที่เรียกว่าโกโนพอร์ คอมเพล็กซ์ ที่ด้านในของส่วนโคนของขาเดินคู่ที่ 5 ทั้ง 2 ข้าง ซึ่งในระยะนี้กุ้งก้ามกรามจะมีอายุหลังจากระยะคว่ำนานประมาณ 45 วัน กุ้งในระยะดังกล่าว ยังไม่มีการพัฒนาไปเป็นอัณฑะ ในระยะต่อมา (อายุหลังจากระยะคว่ำนานประมาณ 67 วัน) กุ้งก้ามกรามเพศผู้จะเริ่มพัฒนาโครงสร้างของ แอพเพ็นดิกซ์ มาสคูไลนา (appendix massculina) ที่ด้านในของส่วนปลายขาว่ายน้ำคู่ที่ 2 และเป็นระยะที่อวัยวะสร้างเซลล์สืบพันธุ์ พัฒนาไปเป็นอัณฑะแล้ว ดังนั้นช่วงอายุของกุ้งก้ามกรามเพศผู้ที่เหมาะสมสำหรับ การนำมาผ่าตัดเพื่อทำลายต่อมแอนโดรเจนิค จะอยู่ในช่วงเวลาตั้งแต่ 45 วันหลังจากระยะคว่ำเป็นต้นไป แต่การผ่าตัดจะไม่ได้ผล เมื่อกุ้งก้ามกรามเพศผู้มีอายุหลังจากระยะคว่ำเข้าใกล้ระยะเวลา 67 วัน

ภาพแสดง ต่อมแอนโดรเจนิค ลูกศรชี้ ( ซ้าย ) และโกโนพอร์ คอมเพล็กซ์ ลูกศรชี้ ( ขวา )

            การทำลายต่อมแอนโดรเจนิค ในกุ้งก้ามกรามเพศผู้ นั้น ทำโดยการผ่าตัดเพื่อนำเอาท่อนำน้ำเชื้อส่วนปลายที่มีต่อมแอนโดรเจนิค เกาะอยู่ ออกทั้งหมด ขั้นตอนดังกล่าวจะต้องทำการผ่าตัดภายใต้ กล้องกำลังขยายต่ำ ที่มีกำลังขยายอยู่ในช่วง 7.5- 64 เท่า โดยนำกุ้งก้ามกรามเพศผู้ที่มี โกโนพอร์ คอมเพล็กซ์ แต่ยังไม่มี แอพเพ็นดิกซ์ มาสคูไลนา มาผ่าตัดเอาขาเดินคู่ที่ 5 ออกทั้ง 2 ข้าง จากนั้นดึงท่อนำน้ำเชื้อส่วนปลายออกทั้งหมด โดยดึงผ่านออกมาทางบาดแผลที่ทำการตัดขาเดินออก หลังการผ่าตัด 2 สัปดาห์สามารถตรวจผลการเปลี่ยนเพศ ได้ โดยกุ้งก้ามกรามเพศผู้ที่เปลี่ยนไปเป็นเพศเมีย จะไม่มีการสร้างโกโนพอร์ คอมเพล็กซ์ และมี แอพเพ็นดิกซ์ มาสคูไลนา ส่วนขาเดินทั้ง 2 ข้างจะเจริญเข้าสู่สภาพเดิม และสามารถใช้งานได้ตามปกติ และ เมื่อกุ้งดังกล่าวมีอายุหลังจากระยะคว่ำนาน 5 เดือนเป็นต้นไป จะสามารถสืบพันธุ์วางไข่ได้

            อัตราส่วนเพศของลูกกุ้งก้ามกรามที่ได้จากการผสมระหว่างนีโอฟีเมล กับเพศผู้ปกติ ลูกกุ้งจาก 8 คู่ผสม (จำนวนลูกรวม 6,111 ตัว) เป็นเพศผู้ทั้งหมด ลูกจาก 2 คู่ มีเพศผู้ 99 และ 88% และอีก 2 คู่ผสมให้ลูกเพศผู้ต่อเพศเมีย 1:1 ซึ่งคาดว่าจะเกิดจากความผิดพลาดในการติดเครื่องหมาย ส่วนลูกกุ้งที่เกิดจากการผสมกุ้งที่ไม่ได้แปลงเพศ มีสัดส่วนเพศ 1:1 จำนวน 6 คู่ผสม อีก 4 คู่ ให้ลูกเพศเมียมากกว่าเพศผู้ (1.72:1)

            การแปลงเพศกุ้งก้ามกรามให้เป็นเพศเมียโดยการผ่าตัดดึงต่อมแอนโดรเจนิค ควรทำเมื่อกุ้งมีอายุ 45 วันหลังคว่ำ กุ้งแปลงเพศ (นีโอฟีเมล) สร้างไข่ได้คล้ายกุ้งเพศเมียปกติ และให้ลูกที่เป็นเพศผู้เกือบทั้งหมด ซึ่งแสดงแนวโน้มว่าจะสามารถนำเทคโนโลยีนี้ไปใช้ผลิตกุ้งเพศผู้ล้วนเชิงพาณิชย์ได้