“หน่วยปฏิบัติการวิจัยเชี่ยวชาญเฉพาะพัฒนาวัคซีนเลปโตสไปโรซีสในปศุสัตว์”
“Leptospirosis Vaccine Development for Livestock Special Research Unit”

ศิริวรรณ พราพงษ์1 สมชัย พงศ์จรรยากุล1 มลิวัลย์ ชุนถนอม1 ธีระศักดิ์ พราพงษ์1
ศุภชัย นิติพันธ์2 สันติ ขันทอง2 อดิลัน หนิมัน2 นรสุทธิ์ บางภูมิ2

1คณะสัตวแพทยศาตร์ 2บัณฑิตวิทยาลัย
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์


การสร้างเครื่องหมายโมเลกุล จากยีน LipL36 สำหรับจำแนกซีโรวาร์เชื้อเลปโตสไปรา
โดยวิธี Low Stringency PCR

         โรคเลปโตสไปโรซีสเป็นโรคที่พบได้ทั่วไปสามารถติดต่อจากสัตว์มาสู่คนได้ การเกิดโรคนี้ในปศุสัตว์ทำให้เกิดการสูญเสียทางด้านเศรษฐกิจ และการจำแนกชนิดของเชื้อเลปโตสไปราที่ก่อโรคด้วยวิธี microscopic agglutination test (MAT) ต้องอาศัยการเกิดปฏิกิริยาระหว่างเชื้ออ้างอิง ซึ่งมีความยุ่งยากและต้องดูแลรักษาเชื้ออ้างอิงอยู่ตลอดเวลาซึ่งต้องใช้เวลานานในการตรวจ ทั้งนี้การจำแนกชนิดของเชื้อที่แม่นยำมีความสำคัญต่อการเฝ้าระวังการระบาดของเชื้อ เพราะเชื้อต่างซีโรวาร์มีผลให้เกิดความรุนแรงของโรคแตกต่างกัน พบว่าสารพันธุกรรมของเชื้อมีความแตกต่างกันในระดับ species และอาจถึงระดับซีโรวาร์ การศึกษาครั้งนี้ใช้เทคนิคปฏิกิริยาลูกโซ่โพลิเมอเรสแบบ low stringency ที่มีอุณหภูมิในขั้นตอน annealing ที่ 40OCโดยใช้ไพรเมอร์ชุด LipL36 ประกอบด้วย LipL36-F1 LipL36-B1 และ LipL36-B2 ที่จำเพาะต่อยีน LipL36 ของเชื้อเลปโตสไปราและทำการติดฉลากไพรเมอร์ LipL36-F1 ด้วยสี 6-carboxy fluorescent (6-FAM) เพื่อสร้างเครื่องหมายโมเลกุลจากผลผลิต PCR สำหรับตรวจสอบความแตกต่างในระดับซีโรวาร์ของเชื้อเลปโตสไปรา วิเคราะห์เปรียบเทียบขนาดผลผลิต PCR ที่ได้ ด้วยเทคนิค Capillary Electrophoresis (CE) บนเครื่อง Applied Biosystems 310 Genetic Analyzer (ABI 310) โปรแกรม GeneScan 2.1 พบว่าสามารถสร้างเครื่องหมายโมเลกุลจากผลผลิต PCR สำหรับใช้จำแนกความแตกต่างของเชื้อเลปโตสไปราในระดับ species และในระดับ ซีโรวาร์ได้ ดังนั้นเทคนิคการใช้ยีนLipL36 เป็นเครื่องหมายร่วมกับปฏิกิริยาลูกโซ่โพลิเมอเรสแบบ low stringency และเทคนิค Capillary Electrophoresis อาจนำไปประยุกต์ใช้เป็นวิธีตรวจมาตรฐานสำหรับตรวจจำแนกเชื้อเลปโตสไปราในระดับสายพันธุ์สำหรับห้องปฏิบัติการได้

การสร้างเครื่องหมายโมเลกุลสำหรับจำแนกซีโรวาร์เชื้อเลปโตสไปราด้วยเทคนิค IS1533-based PCR assay

ในการศึกษานี้ได้ให้ความสนใจต่อ IS1533 ในจีโนมของเชื้อเลปโตสไปราโดยนำมาสร้างเป็นเครื่องหมายโมเลกุลจากเชื้อเลปโตสไปรา L kirschneri L. inadai L. santorasai L. meyeri L. interrogans L. borgpetersenii L. noguchii L. welii   จำนวน 30 ซีโรวาร์และ Leptonema sp.โดยใช้ไพรเมอร์ IS-1 และเมื่อนำไปวิเคราะห์ด้วย Capillary Electrophoresis ทำให้ได้เครื่องหมายโมเลกุลในการจำแนกเชื้อเลปโตสไปราแต่ละสปีชีส์และระดับซีโรวาร์ได้ ยกเว้นซีโรวาร์ djasiman pomona manhao mini maintenon patoc bataviae และsaopaolo และเมื่อสร้างเป็น Phylogenetic tree ด้วยวิธี UPGMA ทำให้พบว่าเชื้อ L. interrogan L. noguchii L. kirschneri  และ  L. biflexa เป็นเชื้อเลปโตสไปราที่มีความใกล้ชิดกันทาง genetic organization และ L. meyeri เป็นสปีชีส์ที่มี genetic organization แตกต่างจากเลปโตสไปราอื่นมากที่สุด อย่างไรก็ตามการใช้เครื่องหมายโมเลกุลที่ได้จาก IS1533 ในการจำแนกเชื้อเลปโตสไปราระดับซีโรวาร์จะต้องมีการปรับความทันสมัยของฐานข้อมูลเชื้อแต่ละซีโรวาร์เมื่อระยะเวลาผ่านไปอย่างสม่ำเสมอ