หอยมุกน้ำจืด จัดเป็นหอยกาบน้ำจืดชนิดหนึ่ง ซึ่งนับว่าเป็นสัตว์น้ำที่มีคุณค่าของไทย
เนื่องจากสามารถผลิตไข่มุกน้ำจืดได้ จากลักษณะของเปลือกที่มีความแวววาวสามารถทำประโยชน์ได้หลากหลายเช่น
เครื่องเรือนประดับมุก เครื่องประดับ เครื่องใช้ภายในครัว และของที่ระลึก
หอยชนิดที่มีเปลือกหนาสามารถทำเป็นนิวเคลียสเพื่อทำแกนสำหรับผลิตไข่มุกแบบมีแกนในหอยมุกทะเล
ส่วนของเนื้อสามารถใช้เป็นอาหารสำหรับมนุษย์และสัตว์ได้ นอกจากนี้ยังมีบทบาทสำคัญในการบำบัดน้ำ
โดยช่วยกรองตะกอนทำให้น้ำใส และช่วยย่อยสารอินทรีย์ให้มีขนาดเล็กลง
ซึ่งทำให้ผู้ย่อยสลายสามารถย่อยสารอินทรีย์ได้ง่ายขึ้น
ปัจจุบันจำนวนหอยลดลงและบางชนิดกำลังใกล้จะสูญพันธุ์
เนื่องจากสาเหตุหลายประการ เช่น การเก็บหอยขึ้นมาจำนวนมากโดยไม่คำนึงถึงการอนุรักษ์
สภาพแวดล้อมในแหล่งน้ำมีสภาพเสื่อมลง จากที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นถึงประโยชน์ของหอยมุกน้ำจืด
ดังนั้นการเพาะเลี้ยงหอยมุกน้ำจืดนับว่ามีความสำคัญ เพื่อจะได้เป็นการอนุรักษ์
ส่งเสริมผลิตภัณฑ์จากเปลือกหอยในเชิงเศรษฐกิจ และการเพาะเลี้ยงไข่มุกน้ำจืดซึ่งจะเป็นแนวทางในอุตสาหกรรมการผลิตยา
เครื่องสำอาง เพื่อเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มและเกิดการสร้างอาชีพรวมทั้งส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตร
นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งอาหารโปรตีนสูงอีกด้วย
การเพาะเลี้ยงหอยมุกน้ำจืดมี
3 ขั้นตอน คือ การเลี้ยงหอยระยะโกลคิเดีย ระยะจูวีไนล์ และระยะตัวเต็มวัย
1. การเลี้ยงหอยระยะโกลคิเดีย
วงจรชีวิตของหอยระยะนี้เป็นปรสิตกับปลา การเลี้ยงส่วนใหญ่จะเลียนแบบธรรมชาติโดยนำเอาปลาที่เป็นโฮสต์มาใส่รวมกันกับแม่หอยที่มีโกลคิเดียที่แก่เต็มที่
โกลคิเดียจะออกจากแม่หอยมาเกาะบริเวณเหงือก ครีบ และบริเวณลำตัวของปลา
หลังจากนั้นโกลคิเดียจะพัฒนาไปเป็นหอยระยะจูวีไนล์ แต่ปัจจุบันนี้สามารถเพาะเลี้ยงโกลคิเดียของหอยมุกน้ำจืดในอาหารสังเคราะห์
โดยนำโกลคิเดียมาเลี้ยงในตู้ควบคุมอุณหภูมิต่ำ (23?2 ?C) พร้อมให้แก๊สคาร์บอนไดออกไซด์
5% อาหารที่ใช้เลี้ยงโกลคิเดียมีส่วนผสมของ M199 พลาสมาปลา ยาปฎิชีวนะ
และยาป้องกันเชื้อรา พบว่ามีหอยมุกน้ำจืดและหอยกาบน้ำจืดหลายชนิดที่สามารถเลี้ยงในอาหารสังเคราะห์ได้
(Kovitvadhi et al. 2001; อุทัยวรรณ และสาธิต, 2545) การเลี้ยงโกลคิเดียในอาหารสังเคราะห์จะสะดวกกว่าการเลี้ยงเลียนแบบธรรมชาติ
เพราะไม่มีปัญหาการปนเปื้อนจากแบคทีเรีย เชื้อรา และ โปรโตซัว ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้หอยระยะจูวีไนล์ตายเป็นจำนวนมาก
การรอดตายและการเปลี่ยนแปลงจากโกลคิเดียไปเป็นจูวีไนล์สูงถึง 80-96
เปอร์เซ็นต์ ระยะเวลาในการเปลี่ยนแปลงจากโกลคิเดียไปเป็นจูวีไนล์ของหอยแต่ละชนิดใช้เวลาน้อยกว่าการเลี้ยงเลียนแบบธรรมชาติอยู่ระหว่าง
9-12 วัน
2. การเลี้ยงหอยระยะจูวีไนล์
ปัจจุบันสามารถเลี้ยงหอยมุกน้ำจืดระยะจูวีไนล์ที่ได้จากการเพาะเลี้ยงในอาหารสังเคราะห์ได้หลายชนิด
โดยหอยระยะจูวีไนล์อายุ 1-90 วัน จะเลี้ยงในห้องปฏิบัติการ อาหารที่ใช้เลี้ยงเป็นสาหร่ายสีเขียวเซลล์เดียวได้แก่
Chlorella sp. Kirchneriella incuvata มีการรอดตาย 40-70 เปอร์เซ็นต์
และจูวีไนล์ 90 จนถึงระยะก่อนสร้างเซลล์สืบพันธุ์ โดยเลี้ยงที่แหล่งน้ำธรรมชาติ
พร้อมได้รับอาหารจากแหล่งน้ำดังกล่าว มีการรอดตาย 80-100 เปอร์เซ็นต์
(สาธิต และคณะ, 2547; 2548)
3. การเลี้ยงหอยกาบน้ำจืดระยะตัวเต็มวัย
การเลี้ยงหอยระยะตัวเต็มวัยจะง่ายกว่าระยะอื่นๆ โดยเลี้ยงที่แหล่งน้ำธรรมชาติ
พร้อมได้รับอาหารจากแหล่งน้ำดังกล่าว ปัจจุบันสามารถเลี้ยงได้หลายชนิด
เพราะหอยระยะนี้จะมีความอดทนสูง พบว่าการเจริญเติบโตของหอยจะขึ้นอยู่กับชนิดและปริมาณแพลงก์ตอนพืช
คุณภาพของแหล่งน้ำ และรูปแบบของภาชนะที่เลี้ยง มีการรอดตาย 100 เปอร์เซ็นต์
(อุทัยวรรณ และคณะ, 2544 )

|