ไม้กฤษณา…..ความเป็นไปได้ในการปลูกเชิงเศรษฐกิจ


สมภัทร คลังทรัพย์ และจงรัก วัชรินทร์รัตน์
สถานีวิจัยวนเกษตรตราด สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่ง มก.

      จากกระแสความนิยมปลูกไม้กฤษณาของเกษตรกรที่เพิ่มมากขึ้นในปัจจุบันและได้กระจายไปทั่วทุกภาคของประเทศ และมีแนวโน้มการปลูกที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงนับเป็นสิ่งน่าสนใจอย่างยิ่งว่า การปลูกไม้กฤษณาเป็นสวนป่าเพื่อหวังผลตอบแทนทางเศรษฐกิจจะได้รับผลคุ้มค่าตามที่ผู้ปลูกคาดหวังไว้หรือไม่ และมีปัญหาอุปสรรคมากน้อยเพียงใด

      ไม้กฤษณา (Aquilaria spp.) หรือ Agarwood เป็นไม้ที่มีกลิ่นหอมที่นิยมใช้ในงานประเพณีของชาวมุสลิม น้ำมันใช้เป็นน้ำหอม กลิ่นกฤษณาจะติดผิวนาน นอกจากนี้ยังมีคุณสมบัติสามารถป้องกันแมลง เห็บ และเหาได้ ในทางอุตสาหกรรมใช้เข้าเครื่องยา และที่สำคัญคืออุตสาหกรรมน้ำหอมใช้เป็นตัวปรุงแต่งกลิ่นน้ำหอมที่ดีมีราคาแพง กฤษณาเป็นของป่าที่ได้จากต้นกฤษณา เป็นพวกน้ำมันระเหยหรือชัน หรือยาง (Terpenoid) เช่น เดียวกับน้ำมันยูคาลิปตัส หรือน้ำมันสน ยางหรือชันที่พบในต้นกฤษณาให้กลิ่นแรงที่แตกต่างไปจากน้ำมันระเหยตัวอื่นๆ คือ มีกลิ่นหอมหวาน ทำให้กฤษณาเป็นน้ำมันหอมระเหยหรือยางหรือชันที่มีราคาแพงมาก อาจจะกล่าวได้ว่ามีราคาแพงที่สุดในโลกก็ได้ หรือที่บางคนเรียกว่า ไม้ของพระเจ้า (Wood of God)

      ไม้ในสกุล Aquilaria มีปรากฏอยู่ทั่วโลกประมาณ 15 ชนิด กระจายอยู่ในประเทศต่างๆ ของเอเชียเขตร้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย นอกจากนี้ยังกระจายอยู่ในประเทศเอเชียเขตร้อนอื่นๆ เช่น อินเดีย ปากีสถาน เนปาล บังกลาเทศ รวมทั้งยังกระจายไปถึงประเทศจีน สำหรับในประเทศไทย จะพบขึ้นอยู่ในป่าดิบแล้ง และป่าดิบชื้นของประเทศไทย โดยพบอยู่จำนวน 3 ชนิด ได้แก่ Aquilaria subintegra พบเฉพาะภาพตะวันออก (ระยอง จันทบุรี ตราด โดยเฉพาะที่เขาสอยดาว) A. malacensis พบเฉพาะทางภาคใต้ที่มีความชื้นมาก (เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ระนอง กระบี่ ตรัง พัทลุง ยะลา) มีชื่อไทยอีกชื่อว่า ไม้หอม และชนิด A. crassna พบทั้งในภาคกลาง (กำแพงเพชร นครนายก เพชรบูรณ์) โดยเฉพาะที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (นครราชสีมา บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ) และภาคเหนือ (เชียงราย แพร่ น่าน) ซึ่งในปัจจุบันอาจกล่าวได้ว่าจำนวนไม้กฤษณาที่พบในป่าธรรมชาติอยู่ในขั้นวิกฤต เนื่องจากมีผู้ลักลอบตัดโค่นต้นกฤษณาเพื่อนำเอาแก่นซึ่งมีราคาแพงมากส่งขายให้กับพ่อค้า ตลอดจนนำเอาชิ้นส่วนเนื้อไม้ที่มีสารกฤษณามาต้มกลั่นเพื่อผลิตน้ำมันหอมระเหยกฤษณา ซึ่งการกระทำดังกล่าวผิดต่อข้อกฎหมายที่ถือว่าไม้กฤษณาเป็นของป่าหวงห้ามประเภท ข

      อย่างไรก็ดี จากงานวิจัยที่ผ่านมาของนักวิจัยหลายท่าน พบว่า สารกฤษณาที่พบในเนื้อไม้เกิดจากกระบวนการหลั่งสารบางชนิดของต้นกฤษณาเพื่อมารักษาบาดแผลที่เกิดขึ้น จากข้อมูลดังกล่าว จึงได้มีการส่งเสริมให้มีการปลูกไม้กฤษณาเป็นสวนป่า เนื่องจากเล็งเห็นถึงความเป็นไปได้ในการทำให้เกิดสารกฤษณาโดยการทำให้บาดแผลบริเวณลำต้นของไม้กฤษณาที่ปลูก

      สำหรับการปลูกสวนป่าไม้กฤษณา อาจปลูกในลักษณะของสวนป่าเชิงเดี่ยว หรือปลูกแบบวนเกษตร ที่นำปลูกไม้กฤษณาร่วมกับไม้ยืนต้นชนิดอื่น เช่น สวนยางพารา สวนไม้ผล สวนไม้ป่า เป็นต้น ควรปลูกในพื้นที่เนินไม่มีน้ำท่วมขัง และดินมีการระบายน้ำดี ตลอดจนควรมีความชื้นพอสมควร โดยการปลูกเป็นสวนป่าเชิงเดี่ยว จะใช้ระยะปลูกประมาณ 2-4 เมตร และในรูปแบบวนเกษตรจะปลูกระหว่างแถวของไม้ชนิดอื่น และมีระยะห่างระหว่างต้นประมาณ 2-4 เมตร

      การปลูกฤษณาควรปลูกในช่วงต้นฤดูฝนประมาณเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน ก่อนปลูกควรขุดหลุมให้มีขนาดใหญ่พอสมควร ประมาณ 30x30x30 เซนติเมตร รวมทั้งควรปรับปรุงดินโดยการใส่ปุ๋ยอินทรีย์ และกล้าที่ปลูกควรสูงประมาณ 30-50 เซนติเมตร เพื่อช่วยให้กฤษณาเจริญเติบโตในช่วงแรกได้ดี สำหรับการปลูกในที่โล่งแจ้งอาจมีการปลูกพืชพี่เลี้ยงเพื่อให้ร่มเงากล้ากฤษณา เช่น กล้วย หรืออาจใช้ตาข่ายพลาสติกสีดำช่วยกำบังแสงก็ได้ สำหรับการใส่ปุ๋ย ในพื้นที่ดินไม่อุดมสมบูรณ์ ควรมีการใส่ปุ๋ยมูลสัตว์ เช่น มูลวัว ในช่วงกล้าอายุ 1-3 ปี ประมาณ 3-4 ครั้งต่อปี อัตราส่วน 1-2 กก.ต่อต้น หลังจากนั้น 3 ปี อาจใส่ปุ๋ยปีละ 2 ครั้ง ครั้งละประมาณ 3-5 กก.ต่อต้น ทางด้านปัญหาโรคและแมลงศัตรูพืช ในช่วงอายุ 1-3 ปี ต้นกฤษณาจะมีแมลงศัตรูพืชที่สำคัญได้แก่ หนอนกินใบ โดยจะกัดกินใบอ่อนแทบหมดลำต้น จึงควรฉีดยากำจัดหนอน เช่น เซปวิน 85 เป็นต้น หลังจากกฤษณามีอายุมากขึ้นจะไม่ค่อยพบโรคและแมลงศัตรูพืช

      สำหรับการกระตุ้นให้เกิดสารกฤษณาในเนื้อไม้ จะเริ่มทำเมื่อไม้มีอายุตั้งแต่ 5-7 ปี ขึ้น หรือมีขนาดความโตประมาณ 10-15 เซนติเมตร โดยการกระตุ้นเพื่อชักนำให้เกิดสารในเนื้อไม้มีอยู่ด้วยกันหลายวิธี เช่น การตอกตะปู การเจาะสว่าน การสับ การใช้สารเคมี ฯลฯ แล้วปล่อยทิ้งไว้ประมาณ 1 ปี จะเก็บเอาส่วนของเนื้อไม้ที่เกิดสารกฤษณาไปขาย ซึ่งแต่ละวิธีจะให้ปริมาณและคุณภาพสารกฤษณาในเนื้อไม้ที่แตกต่างกันไป ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนว่า วิธีการใดที่มีประสิทธิภาพกระตุ้นให้เกิดสารกฤษณาได้ดีที่สุด นอกจากนี้การปล่อยให้แมลงหรือหนอนบางชนิดเจาะลำต้นเพื่อให้เกิดสารกฤษณาก็นับเป็นวิธีการหนึ่งแต่ต้องใช้ระยะเวลานานพอสมควร สำหรับราคาเนื้อไม้ที่มีสารกฤษณาจะตกอยู่ประมาณ 50-300 บาทต่อกิโลกรัม ขึ้นอยู่กับคุณภาพของชิ้นไม้ว่ามีสารอยู่มากน้อยเพียงใด สำหรับราคาน้ำมันหอมระเหยกฤษณานั้นจะขายกันมีหน่วยเป็นโตร่า (โตร่าละประมาณ 12.5 ซีซี หรือ 12 กรัม) โดยมีราคาโตร่าละ 3,000 -10,000 บาท ขึ้นอยู่กับคุณภาพของน้ำมันกฤษณา

      จะเห็นได้ว่า ไม้กฤษณามีความเป็นไปได้สูงในการปลูกเชิงเศรษฐกิจ ทั้งในรูปของการขายเป็นชิ้นเนื้อไม้กฤษณา หรือน้ำมันหอมระเหย อย่างไรก็ดี หากสามารถค้นหาคำตอบหรือแก้ไขในประเด็นที่สำคัญเกี่ยวกับวิธีการกระตุ้นเพื่อชักนำให้เกิดสารกฤษณาที่มีประสิทธิภาพ มีต้นทุนต่ำ วิธีการตรวจสอบและรับรองชิ้นไม้กฤษณาจากสวนป่าเพื่อให้ถูกต้องตามกฏหมาย ตลอดจนการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากไม้กฤษณาเพื่อขยายช่องทางการตลาดภายในประเทศ ก็จะเป็นการเพิ่มศักยภาพเชิงเศรษฐกิจของการปลูกไม้กฤษณาต่อไป