โครงการอุทยานแมลงเฉลิมพระเกียรติ ฯ สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่ง มก. |
สมชาย ธนสินชยกุล ศูนย์วิจัยและพัฒนากีฏาวิทยาอุตสาหกรรม |
การศึกษานิเวศวิทยาของแมลงหายากของประเทศไทย
ศึกษานิเวศวิทยาของแมลงหายากจำพวกตั๊กแตนกิ่งไม้ ตั๊กแตนใบไม้ รู้จักในชื่อของแมลงกลุ่ม Phasmids พบกระจายอยู่ทั่วโลก พบมากในเขตร้อน และ เขตอบอุ่น ยกเว้นตั๊กแตนใบไม้ที่จัดว่าเป็นแมลงหายากในประเทศไทย และ พบกระจายอยู่เฉพาะแถบเอเซียตะวันออกเฉียงเหนือ และ ใน New Guinea เท่านั้น แมลงกลุ่มนี้มีความสำคัญในแง่ของการศึกษากระบวนการวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต ที่ใช้เทคนิคการพรางตัว เพื่อความอยู่รอด (วิชัย.2546) คำว่า Phasma มาจากภาษาละติน แปลว่า ผี ซึ่งมาจากกลไกที่ใช้ในการหลบหลีกศัตรูของแมลงกลุ่มนี้ การศึกษาแมลงกลุ่มนี้มีมาตั้งแต่ ศ.ต. ที่ 18 จนถึงปัจจุบันมีรายงานว่าพบชนิดพันธุ์ทั้งสิ้นประมาณ 3000 ชนิด (Tilgner.2003) จำแนกออกเป็น 6 วงศ์ ตามการจำแนกของ Toole (2002) ได้แก่ วงศ์ Heteromiidae วงศ์ Phamatidae วงศ์ Bacillidae วงศ์ Pseudophasmatidae วงศ์ Phyllidae วงศ์ Timenatidae ในประเทศไทยมีข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับตั๊กแตนกิ่งไม้ และ ตั๊กแตนใบไม้น้อยมาก พฤติกรรมของตั๊กแตนกิ่งไม้ จะวางไข่ในดิน บนใบพืช ลักษณะของไข่แตกต่างกันตามชนิด ตัวอ่อนในระยะแรกจะอาศัยการพรางตัวโดยใช้สีที่กลมกลืนกับกิ่งไม้แห้ง การเปลี่ยนสีของตั๊กแตนกิ่งไม้ และ ตั๊กแตนใบไม้ขึ้นกับอุณหภูมิ ความชื้น และ ความเข้มของแสง โดยเซลล์ epidermis ที่อยู่เหนือผิว cuticle จะมีเม็ดสี (pigment granules) เคลื่อนที่เข้าในเซลล์เพื่อตอบสนองกับสิ่งแวดล้อมจากการศึกษานี้จะพัฒนาเพื่อนำไปใช้สู่กระบวนการเรียนรรู้วิทยาศาสตร์โดยใช้แมลงเป็นต้นแบบ อีกทั้งมูลของตั๊กแตนกิ่งไม้บางชนิดสามารถนำมาใช้เป็นยาแผนโบราณในการรักษาโรคกระเพาะอาหาร สมานแผลในระบบทางเดินอาหาร จากการศึกษานิเวศวิทยาและความหลากชิดของตั๊กแตนกิ่งไม้ และ ตั๊กแตนใบไม้ในประเทศไทย ภายใต้โครงการอุทยานแมลงเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สถาบันวิจัยและพัฒนา แห่ง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผลการศึกษาแสดงในตารางที่ 1พบว่าตั๊กแตนกิ่งไม้และ ใบไม้ มีจำนวนชนิดทั้งหมด 32 ชนิด มีชนิดตรงกับรายงานของ Beagg (1997) 12 ชนิด ไม่สามารถจำแนกชนิดพันธุ์ได้ 18 ชนิด มีความสัมพันธ์กับพืชอาหาร ในกลุ่มของพืชสกุล กุหลาบ ตั๊กแตนใบไม้มีชนิดพันธุ์เพิ่มขึ้น 1 ชนิดพันธุ์ และ พืชอาหารคือ มะยมป่า และ มะม่วง ซึ่งจากจำนวนทั้งหมดนี้ทำการเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์ได้แล้วกว่า 15 ชนิด
|