ไม้ไผ่จัดอยู่ในวงศ์ Bambuseae ที่สามารถขึ้นได้ในพื้นที่ต่างๆ
ทั่วประเทศ มีการเติบโตเร็ว ขยายพันธุ์ง่ายและใช้ประโยชน์ได้อย่างหลากหลาย
เช่น การบริโภค ผลิตเครื่องจักรสาน เชื้อเพลิง การผลิตเยื่อและกระดาษ เครื่องเรือนและเฟอร์นิเจอร์
เป็นต้น ซึ่งในปัจจุบันไม้ไผ่มีความต้องการของตลาดค่อนข้างสูงทั้งในและต่างประเทศ
ดังนั้นการพัฒนาเทคโนโลยีการใช้ประโยชน์และการแปรรูปไม้ไผ่จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างเร่งด่วนเพื่อถ่ายทอดสู่ชุมชนและพัฒนาสู่เชิงอุตสาหกรรม
โครงการวิจัยนี้ได้ศึกษาถึงกรรมวิธีการคลี่ไม้ไผ่ให้เป็นแผ่นราบด้วยไฟฟ้าคลื่นความถี่สูง
โดยใช้ไม้ไผ่หก (Dendrocalamus Hamiltonii Nees) เป็นไม้ไผ่ตัวอย่างที่มีความยาวของลำ
15-20 เมตร จำนวนปล้อง 30-40 ปล้องต่อลำ ความหนาของผนังปล้อง 0.5-3.0 เซนติเมตร
เส้นผ่าศูนย์กลาง 7-13 เซนติเมตร โดยกระบวนการคลี่ไม้ไผ่เริ่มตั้งแต่การกำหนดขนาดไม้ไผ่ตัวอย่าง
จากนั้นนำมาตัดออกเป็นปล้องและผ่าซีกออกตามขนาดความยาวที่ใช้ในการศึกษาทดลอง
เมื่อได้ขนาดที่เหมาะสมก็นำเข้าเครื่องให้ความร้อนด้วยคลื่นความถี่สูงเพื่อคลี่ไม้ไผ่ให้เป็นแผ่นราบ
นำไม้ไผ่ที่ผ่านกระบวนการคลี่เป็นแผ่นราบมาประกอบเป็นแผ่นไม้ไผ่ประกอบ
จากนั้นนำมาประดิษฐ์เป็นผลิตภัณฑ์โต๊ะ เก้าอี้ หรือตามลักษณะการนำไปใช้ประโยชน์อื่นๆ
รายละเอียดตามรูปภาพดังแนบ
นอกจากนี้การศึกษาได้ทำการทดสอบคุณสมบัติทางกายภาพและเชิงกล
(physical and mechanical properties) ของไม้ไผ่ก่อนและหลังคลี่เป็นแผ่นราบในส่วนข้อและส่วนปล้องโดยมีค่าเฉลี่ยดังนี้
ความชื้นสมดุลย์ 9 และ 10%, ความถ่วงจำเพาะ 0.9 และ 0.7, ความเค้นการอัดขนานเสี้ยน
(compression parallel to grain) 55.6 และ 67.2 MPa, ความเค้นเฉือนขนานเสี้ยน
(shear parallel to grain) 10.9 และ 13.5 MPa, โมดูลัสแตกหัก (modulus
of rupture) 140.58 และ 171.38 MPa, โมดูลัสยืดหยุ่น (modulus of elasticity)
13,331.24 และ 15,887.00 MPa, ความเหนียว 448.67 และ 528.36 kPa และความเค้นดึงขนานเสี้ยน
(tension parallel to grain) 229.26 และ 234.74 MPa จากค่าแสดงให้เห็นว่าการทดสอบคุณสมบัติทางกายภาพและเชิงกลของไม้ไผ่หกหลังการคลี่เป็นแผ่นราบสูงกว่าไม้ไผ่หกตามธรรมชาติ
ยกเว้นความเค้นดึงขนานเสี้ยนซึ่งมีค่าไม่แตก ต่างกัน และพบว่าเนื้อไม้ส่วนปล้องมีค่าสูงกว่าส่วนข้อ
การศึกษากรรมวิธีการคลี่ไม้ไผ่ให้เป็นแผ่นราบด้วยไฟฟ้าคลื่นความถี่สูง
เป็นงานวิจัยที่ได้รับเงินทุนสนับสนุนจากสถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ในปี พ.ศ. 2541โดยใช้ระยะเวลาในการศึกษา 3 ปี และปี พ.ศ. 2545 ทางศูนย์ฯ
ได้ดำเนินการจดสิทธิบัตร นอกจากนี้งานวิจัยชิ้นนี้ได้ให้การสนับสนุนนิสิตบัณฑิตวิทยาลัยในการทำวิทยานิพนธ์ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จนได้รับรางวัลวิทยานิพนธ์ดีเด่น
ประจำปี 2545