ธนาคารพันธุกรรมพืช 50ปี แห่งการวิจัยของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
Plant germplasm bank, 50 year-research out come of Kasetsart University


ภาณี ทองพำนัก1 มานะชัย ทองบุญรอด1
เนตรชนก นุ้ยสีรุ่ง1และบัวหลวง พันแปร1

      จากการที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ดำเนินการวิจัย รวบรวม และปรับปรุงพันธุ์พืช ทั้งพืชไร่ และพืชสวน มาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งมหาวิทยาลัย ล่วงเลยมากว่า 60 ปี มีพันธุ์และสายพันธุ์และเก็บรักษาไว้ตามหน่วยงานต่างๆ ของมหาวิทยาลัย ซึ่งสถานที่และระบบการเก็บยังไม่ได้มาตรฐาน หรือมีปัญหาเรื่องกระแสไฟฟ้า ทำให้เชื้อพันธุ์ที่เก็บรักษาไว้เสื่อมคุณภาพการงอก เป็นการสูญเสียทรัพยากรที่มีค่าไปเป็นจำนวนมาก อีกประการหนึ่งงานดังกล่าวต้องการบุคลากรที่มีความรู้เฉพาะพืชดูแลอย่างต่อเนื่อง ทางโครงการธนาคารพันธุกรรมพืช 50 ปี แห่งการวิจัยของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (2546-2550) จึงได้เก็บรวบรวมและอนุรักษ์เชื้อพันธุกรรมพืชที่ได้จากการวิจัยปรับปรุงพันธุ์แล้ว หรือพันธุ์ที่เป็นฐานพันธุกรรมสำหรับใช้ในการปรับปรุงพันธุ์พืชในอนาคตของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยเฉพาะเมล็ดพันธุ์ พืชไร่ พืชสวน และพืชสมุนไพร ในสภาพเย็นยิ่งยวดในไนโตรเจนเหลว ณ อุณหภูมิ -196 องศาเซลเซียส

      การเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ภายใต้สภาพเย็นยิ่งยวด (cryopreservation) ในไนโตรเจนเหลวอุณหภูมิ -1960ซ เป็นการหยุดปฏิกิริยาการย่อยสลายและแบ่งเซลล์โดยสิ้นเชิง เมื่อละลายเกล็ดน้ำแข็งออกเซลล์ยังคงมีชีวิตดังเดิม เมล็ดภายใต้สภาพเย็นยิ่งยวดไม่มีปฏิกิริยาการย่อยสลายเป็นผลทำให้ไม่มีการเสื่อมชีวิต (deterioration) และไม่มีความจำเป็นที่จะต้องนำเมล็ดไปปลูกเพื่อสืบทอดพันธุ์ ในช่วงเวลาของการเก็บรักษาพันธุ์แต่อย่างใด เป็นการลดปัญหาอันเนื่องจากการกลายพันธุ์ การผสมข้าม หรือข้อผิดพลาดจากการปฏิบัติงาน เมื่อใดต้องการทำพันธุ์สามารถนำไปปลูกได้ทันที

      การเก็บรักษาในสภาพเย็นยิ่งยวดนี้สามารถเก็บรักษาเชื้อพันธุ์จำนวนมากได้ในพื้นที่จำกัด ไม่ต้องใช้กระแสไฟฟ้าเป็นการประหยัดค่าใช้จ่าย ในการเก็บรวบรวมพันธุ์พืชดังกล่าวมีการเก็บข้อมูลประวัติของพันธุ์พืช และประวัตินักปรับปรุงพันธุ์ไว้ในฐานข้อมูล เพื่อเป็นการเชิดชูเกียรติให้ผู้สร้างพันธุ์พืช
ขณะนี้ทางโครงการได้รวบรวมเมล็ดพันธุ์จากการปรับปรุงพันธุ์ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และเก็บรักษาในไนโตรเจนเหลวแล้ว 19 ชนิด 233 accessions และรอรับเมล็ดที่ปลูกอยู่อีกเป็นจำนวนมาก พืชที่เก็บรักษาในขณะนี้ ได้แก่ ข้าวโพด หน่วยงานหลักที่ปรับปรุงพันธุ์ได้แก่ ภาควิชาพืชไร่นา

       ภาควิชาปฐพีวิทยา ภาควิชาโรคพืช ภาควิชากีฏวิทยา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และศูนย์วิจัยข้าวโพดและข้าวฟ่างแห่งชาติ สถาบันอินทรีจันทรสถิตย์ฯ ในความร่วมมือกับกรมวิชาการเกษตร จนประสบความสำเร็จได้ข้าวโพดพันธุ์ สุวรรณ 1 ซึ่งมีลักษณะต้านทานโรคราน้ำค้างดีเด่นเป็นที่ยอมรับกันทั่วโลก นักวิจัยผู้ปรับปรุงพันธุ์ได้แก่ ศ.ดร.สุจินต์ จินายน และดร.สุทัศน์ ศรีวัฒนพงศ์ ข้าวโพดฝักอ่อนได้รับการปรับปรุงพันธุ์โดย ศ.ดร.ชำนาญ ฉัตรแก้ว และผศ.ธวัช ลวเปารยะ ได้สร้างพันธุ์ข้าวโพดหวานต้านทานโรคราน้ำค้างชื่อ ซูปเปอร์สวิทดีเอ็มอาร์ และนักปรับปรุงพันธุ์รุ่นต่อ ๆ มา ได้แก่ ดร.โชคชัย เอกทัศนาวรรณ ปรับปรุงพันธุ์ข้าวโพดฝักอ่อน และข้าวโพดหวาน ดร.สรรเสริญ จำปาทอง ปรับปรุงพันธุ์ข้าวโพดไร่ และอาจารย์สุรณี ทองเหลือง ปรับปรุงพันธุ์ข้าวโพดข้าวเหนียว รศ.ดร.กฤษฎา สัมพันธารักษ์ ได้ปรับปรุงพันธุ์และสร้างฐานพันธุกรรมข้าวฟ่าง และยังได้ปรับปรุงพันธุ์ข้าวโพดอีกด้วย และยังมีนักวิจัยร่วมสร้างฐานพันธุกรรมข้าวโพดอีกหลายท่านที่ไม่ได้กล่าวถึงในที่นี้ เช่น อาจารย์ธวัชชัย ประศาสน์ศรีสุภาพ และอาจารย์วีระศักดิ์ ดวงจันทร์ เป็นต้น ฝ้ายต้านทานแมลง ปรับปรุงพันธุ์โดย รศ.ดร.งามชื่น รัตนดิลก และ ดร.ประพนธ์ บุญรำพรรณ

      ข้าวสาลีและข้าวบาร์เลย์ทนร้อนอายุสั้นคุณภาพดี ปรับปรุงพันธุ์โดย รศ.ดร.งามชื่น รัตนดิลก หญ้าไข่มุก ปรับปรุงพันธุ์โดย ดร.ชะบา จำปาทอง และข้าวฟ่าง ปรับปรุงพันธุ์โดย รศ.ดร.กฤษฎา สัมพันธารักษ์ และ รศ.ดร.วาสนา วงษ์ใหญ่ อาจารย์ธำรงศิลป์ โพธิสูง ถั่วลิสง ปรับปรุงพันธุ์โดย ดร.สุนทร ดวงพลอย และต่อเนื่องโดย ศ. ดร.อารีย์ วรัญญูวัฒก์ ได้ถั่วลิสงพันธุ์ดี ต่อมา รศ.ดร.จวงจันทร์ ดวงพัตรา ได้นำมาคัดเลือกได้ถั่วลิสงเมล็ดใหญ่พันธุ์เกษตรศาสตร์ 50 รศ.ดร.วาสนา วงษ์ใหญ่ และคณะได้ปรับปรุงพันธุ์ คำฝอย งาดำมก.18 งาขาว มก.19 และ งาขาวพันธุ์ใหม่ ซีพลัส 1 เมื่อสุกแก่ฝักไม่แตก พันธุ์พืชไร่ที่กล่าวมาเหล่านี้ล้วนถือกำเนิดที่ศูนย์วิจัยข้าวโพดและข้าวฟ่างแห่งชาติ ศ.ดร.สุมินทร์ สมุทรคุปติ์ นำคณะทำการปรับปรุงพันธุ์ ถั่วเหลืองพันธุ์ดอยคำและถั่วที่สูง ในมูลนิธิโครงการหลวง รศ.ดร.อภิพรรณ พุกภักดี ได้นำสายพันธุ์ถั่วเหลืองของประเทศบราซิลมาปลูกเปรียบเทียบและคัดเลือกจนได้ พันธุ์จักรพันธ์ซึ่งเหมาะกับพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ศ.ดร.พีระศักดิ์ ศรีนิเวศน์ ได้ปรับปรุงพันธุ์ ถั่วเขียว พันธุ์กำแพงแสน1 และ กำแพงแสน

      2 แหล่งวิจัยหลักอยู่ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาพืชผักเขตร้อนและนำไปทดสอบในหน่วยงานของกรมวิชาการเกษตรหลายแห่ง ผศ.ดร.ม.ล.อโณทัย ชุมสาย ได้ปรับปรุงพันธุ์ ผักกวางตุ้งดอกนอกฤดู มะเขือเทศพันธุ์สีดา มก. และถั่วฝักยาวพันธุ์ มก.7 ผศ. ดร.เกษม พิลึก ได้ต่อเนื่องในโครงการ KU-JICA ปรับปรุงพันธุ์ ถั่วฝักยาวพันธุ์ มก.8 กระเจี๊ยบเขียว พันธุ์ OK-5 และแตงกวาผลสั้นพันธุ์ ซี-4 มีดอกเพศเมียดก นายประเทือง ดอนสมไพร ได้สานต่อ ปรับปรุงพันธุ์ ถั่วฝักยาวพันธุ์มก. 9 หรือ กำแพงแสน20 ที่ฝ่ายปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง ขณะนี้โครงการธนาคารพันธุกรรมพืชฯ ได้ทยอยรับเมล็ดพันธุ์อีกหลาย accessions เพื่อจัดเข้าในคลังเก็บรักษา นอกจากนี้โครงการธนาคารฯ ยังได้จัดเก็บลักษณะประจำพันธุ์ ประวัติพันธุ์ ประวัติของนักปรับปรุงพันธุ์และผู้ร่วมวิจัย ไว้ในฐานข้อมูล


 
1 ฝ่ายปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน นครปฐม 73140