การตรวจประเมินและรับรอง EUREPGAP
และเกษตรอินทรีย์ที่เป็นมาตรฐานสากล


รุ่งนภา ก่อประดิษฐ์สกุล
ชัยณรงค์ รัตนกรีฑากุล และ ชวนพิศ อรุณรังสิกุล

     ความเป็นมาตรฐานที่เป็นสากลของคุณภาพผลผลิตทางการเกษตรนั้น เป็นการกำหนดโดยกลุ่มผู้บริโภค โดยมีจุดมุ่งหมายในการคุ้มครองตลาดหรือเพื่อคุ้มครองให้ผู้บริโภคเกิดความเชื่อมั่น ว่าผลผลิตทางการเกษตร หรืออาหารที่มีองค์ประกอบจากผลผลิตทางการเกษตรตลอดห่วงโซ่อาหารนั้น ผลิตภายใต้ระบบที่มีความรับผิดชอบต่อชุมชน ผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม จากผลงานวิจัยด้านเทคโนโลยีการผลิต เป็นพื้นฐานสำคัญที่ช่วยส่งเสริมและสนับสนุนการผลิต แต่จากผลการวิจัยแบบการมีส่วนร่วมในการลงพื้นที่ในแปลงเกษตรกรพบว่า เทคโนโลยีดังกล่าวเป็นเพียงมิติหนึ่งที่ยังขาดการพัฒนาองค์ความรู้ดังกล่าวให้ง่ายและรวดเร็ว และผู้ต้องการใช้ความรู้นั้น (เกษตรกรหรือผู้ที่เกี่ยวข้อง) สามารถเข้าถึง (Accessibility) ได้

      ปัจจุบันตลาดผู้บริโภคมุ่งเน้นความปลอดภัยของอาหาร มีการตั้งข้อกำหนดด้านความปลอดภัยตั้งแต่แปลงปลูก การขนส่ง การแปรรูป และการปรุงประกอบตลอดห่วงโซ่อาหาร ดังนั้นเทคโนโลยีการผลิตที่แปลงปลูกเพียงมิติเดียว จึงไม่สามารถเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันด้านอุตสาหกรรมอาหารได้

EUREPGAP เป็นข้อกำหนดในระบบการผลิตซึ่งกำหนดโดยกลุ่มผู้ซื้อของตลาดยุโรปโดยมีลักการดังนี้

      “GAP เป็นระบบการจัดการคุณภาพด้านการผลิตทางการเกษตร ซึ่งใช้ในการควบคุมกระบวนการผลิตให้ได้ผลผลิตที่มีความปลอดภัย ปราศจากการปนเปื้อนจากสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช จุลินทรีย์ก่อโรค และโดยดำเนินการผลิตอย่างเป็นระบบ มีการจัดการที่ดี ถูกต้องและเหมาะสม โดยคำนึงถึงสุขภาพของผู้ปลูก ผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม”

มาตรฐานเกษตรอินทรีย์เป็นมาตรฐานที่กำหนดโดย IFOAM โดยมีหลักการดังนี้

      “ ระบบการเกษตรที่ผลิตอาหารและเส้นใย ด้วยความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ โดยเน้นหลักการปรับปรุงบำรุงดิน การเคารพต่อศักยภาพทางธรรมชาติของพืช สัตว์ และนิเวศการเกษตร เกษตรอินทรีย์จึงลดการใช้ปัจจัยการผลิตจากภายนอก และหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีสังเคราะห์ เช่น ปุ๋ยเคมี สารเคมีกำจัดศัตรูพืช และเวชภัณฑ์สำหรับสัตว์ ในขณะเดียวกันก็พยายามประยุกต์ใช้ธรรมชาติในการเพิ่มผลผลิต และพัฒนาความต้านทานต่อโรคของพืชและสัตว์เลี้ยง หลักการเกษตรอินทรีย์นี้ เป็นหลักการสากลที่สอดคล้องกับเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ สังคม ภูมิอากาศ และวัฒนธรรมของท้องถิ่นด้วย”

      ดังนั้นผลผลิตที่ผลิตภายใต้หลักการดังกล่าวอาจอ้างได้ว่าผลิตภายใต้ระบบใดระบบหนึ่งก็ได้ และผลผลิตนั้นสามารถขายได้ในท้องถิ่น หรือเมื่อมีการตกลงกับผู้บริโภค ในกรณีที่ผู้บริโภคเชื่อมั่นและเชื่อถือในกลุ่มผลิตนั้นๆ แต่ความจำเป็นในการตรวจประเมินและรับรองที่เกิดขึ้น เนื่องจากการที่เกษตรกรมีการขายผลผลิตไปยังตลาดที่ไม่ได้อยู่ในชุมชนที่รู้จักหรือต้องการส่งขายไปยังตลาดต่างประเทศเช่นตลาดร่วมยุโรปเป็นต้น การที่จะสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคจึงจำเป็นต้องมีหน่วยงานอิสระที่ช่วยในการทำหน้าที่ในการตรวจประเมินและรับรองกระบวนการผลิตของเกษตรกรหรือกลุ่มเกษตรกร ว่าสอดคล้องกับมาตรฐานหรือข้อกำหนดดังกล่าวหรือไม่

      หน่วยตรวจประเมินจะมีทั้งจากหน่วยงานของรัฐ ได้แก่ ตัวแทนของกรมหรือกระทรวงต่างๆ ในประเทศ และหน่วยงานเอกชน ดังเช่น การตรวจประเมินของ SGS, SKAL และ CMI เป็นต้น ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับระบบการรับรองที่ไปอ้างอิง โดยผู้ตรวจประเมินจะทำหน้าที่ในการตรวจสอบผลผลิตวาสอดคล้องกับข้อกำหนดของการรับรองของแต่ละระบบหรือไม่

      มีการจัดการระบบการผลิตและการรับรองพืชผักของภาคตะวันตก โดยยึดการปรับเปลี่ยนระบบการผลิตตามแบบ Good Agricultural Practice (GAP) มาเป็นหลักการในการใช้ควบคุมคุณภาพของผลผลิตพืชผัก ในการสร้างข้อกำหนดมาตรฐาน GAP ภาคตะวันตกนั้น อ้างอิงตามระบบ EUREPGAP

      กลุ่มเครือข่าย GAP ภาคตะวันตกได้รวมตัวกันเพื่อทำให้เกิดระบบการถ่ายทอด องค์ความรู้ ระบบกลุ่มเกษตรกรผู้ต้องการผลิตขายยังต่างประเทศโดยได้กำหนดมาตรฐานของกลุ่ม (Western Cluster GAP) โดยมีเนื้อหาเทียบเท่า EUREPGAP และได้ดำเนินการเพื่อสนับสนุนและพัฒนาเกษตรกรภายใต้ยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัดภาคกลางตะวันตก เพื่อเตรียมความพร้อมทุกๆ ด้าน ในการถูกตรวจประเมินและได้รับการับรองระบบผลิตจากองค์กรที่สาม

 
ฝ่ายปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน จ. นครปฐม
http://www.cluster.com E-mail : admin@gapcluster.com