การปลูกพืชเศรษฐกิจเชิงอนุรักษ์บนพื้นที่สูง


ประภาส ช่างเหล็ก1 ,วีระศรี เมฆตรง2 , ธนัดดา ศรีผ่อง1 ,
วีระยุทธ แสนยากุล1 และ วิศัลย์ เธียรเสถียรพงศ์1


      ปัญหาพื้นที่สูงของประเทศ เป็นปัญหาสำคัญที่ทุกฝ่ายให้ความสนใจและร่วมมือกันแก้ไขอย่างเอาจริงเอาจัง โดยเน้นเรื่องการทำการเกษตรโดยใช้หลักอนุรักษ์ดินและน้ำ รวมทั้งเร่งฟื้นฟูสภาพพื้นที่ป่าไม้ ต้นน้ำลำธาร เพื่อป้องกันและรักษาพื้นที่ไม่ให้เกิดการชะล้างและการพังทลายของหน้าดิน ป้องกันไม่ให้เกิดอุทกภัยและแผ่นดินถล่ม ซึ่งในระยะหลัง ๆ เกิดขึ้นบ่อยครั้งในหลายพื้นที่ และมีแนวโน้มว่าจะเกิดขึ้นซ้ำ ๆ ในพื้นที่เดียวกัน

      จังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นจังหวัดหนึ่งที่มีปัญหาเรื่องการทำการเกษตรบนพื้นที่สูง เกษตรกรยังทำไร่เลื่อนลอยและปลูกพืชล้มลุก โดยเฉพาะกะหล่ำปลี ขิง ข้าวไร่ ข้าวโพด และพืชผัก อาจเนื่องมาจาก เป็นพืชอายุสั้น ให้ผลตอบแทนเร็ว มีตลาดรองรับผลผลิต ได้ผลผลิตค่อนข้างดี ซึ่งปัจจุบันบริเวณบ้านทับเบิก อำเภอหล่มเก่า เป็นแหล่งปลูกกะหล่ำปลีที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย รวมทั้งมีความต้องการบริโภคผักภายในประเทศสูงถึง 3.2 ล้านตันต่อปี มีมูลค่าไม่น้อยกว่า 12,400 ล้านบาท แต่การผลิตของเกษตรกรยังขาดความเข้าใจในเรื่องการใช้ที่ดินบนพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน ไม่คำนึงถึงเรื่องการอนุรักษ์ดิน - น้ำและการปรับปรุงความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ปลูก มุ่งเพียงแต่ผลิตเพื่อให้ได้ผลผลิตสูงที่สุดเท่านั้น มีการจัดการที่ผิดวิธี เช่น ใช้รถแทรกเตอร์ขนาดใหญ่ไถพรวนพื้นที่ปลูกกะหล่ำปลีทั้งแปลงถึง 2 ครั้ง เพื่อให้ดินร่วนซุย เป็นการกำจัดวัชพืช ทำให้การทำงานในแปลงสะดวกและดูแลรักษาแปลงง่าย แต่พื้นที่มีความลาดชันสูงกว่า 30 เปอร์เซ็นต์

       นอกจากนั้นยังพบปัญหาโรคเน่าของขิงซึ่งเกษตรกรไม่สามารถปลูกซ้ำแปลงเดิมได้ สิ่งที่ตามมาคือ เกิดปัญหาการตัดไม้ทำลายป่าบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนในเขตอุทยานต่าง ๆ เพื่อขยายและเปลี่ยนพื้นที่ปลูก เนื่องจากพื้นที่ปลูกเดิมเกิดการสะสมเชื้อสาเหตุโรคพืช เกิดการชะล้างพังทลายของหน้าดิน ดินขาดความอุดมสมบูรณ์ ทำให้มีผลผลิตต่อพื้นที่ต่ำ แต่ต้องลงทุนสูงขึ้นทั้งในเรื่องปุ๋ยเคมีและสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช นอกจากปัญหาดังกล่าวข้างต้นแล้ว ปัญหาสำคัญอีกประการหนึ่งคือ เกิดการสะสมของสารเคมีในแหล่งต้นน้ำลำธาร ปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้จำเป็นต้องรีบแก้ไข โดยให้เกษตรกรมีความรู้ความเข้าใจในหลักของการใช้ที่ดินบนพื้นที่สูงอย่างถูกต้อง เพื่อช่วยปรับปรุงและรักษาระบบนิเวศของพื้นที่สูง รวมทั้งช่วยให้เกษตรกรสามารถใช้ประโยชน์ที่ดินบนพื้นที่สูงได้อย่างยั่งยืน

      การใช้พื้นที่บนที่สูงซึ่งมีความลาดชันในการปลูกพืชจำเป็นต้องมีวิธีการอนุรักษ์ดินและน้ำที่เหมาะสม เพื่อป้องกันไม่ให้หน้าดินเกิดการชะล้างพังทลาย ซึ่งจะมีผลทำให้พื้นที่เกิดการเสื่อมโทรมทั้งทางเคมีและกายภาพ รวมทั้งถ้าเกิดการชะล้างพังทลายของหน้าดินสูงมาก จะทำให้พื้นที่เกิดเป็นร่องลึก เกษตรกรก็อาจไม่สามารถใช้ประโยชน์ที่ดินนั้นเพื่อการเกษตรอีกต่อไป การปลูกพืชแบบผสมผสานในเชิงอนุรักษ์ที่เหมาะสมบนพื้นที่สูงร่วมกับการปรับปรุงบำรุงดิน เช่น การปลูกพืชตามแนวระดับร่วมกับการปลูกไม้ยืน / ไม้ผลเป็นแนวทางหนึ่งของการทำระบบเกษตรยั่งยืนบนพื้นที่สูง จะช่วยลดปัญหาการชะล้างพังทลายของหน้าดิน ช่วยปรับปรุงระบบนิเวศให้ดีขึ้น เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้น ที่สำคัญเกษตรกรจะสามารถใช้ประโยชน์ที่ดินที่มีอยู่อย่างจำกัดได้อย่างยั่งยืนตลอดไป

      การปลูกพืชตามแนวระดับ จะช่วยลดอัตราความเร็วของการไหลบ่าของน้ำหน้าผิวดิน เปลี่ยนทิศทางการไหลของน้ำ และเป็นตัวกักตะกอนดิน การชะล้างดินจากด้านบนของแต่ละแถบพืชจะมาตกตะกอนทับถมที่แถบด้านล่าง ระยะห่างที่เหมาะสมของแนวป้องกันแต่ละแนว ขึ้นอยู่กับความลาดชันของพื้นที่ คือ ที่ลาดชันมาก (มากกว่า 35 เปอร์เซ็นต์) ที่ลาดชันปานกลาง (ระหว่าง 26 – 35 เปอร์เซ็นต์) และที่ลาดชันน้อย (ระหว่าง 15– 25 เปอร์เซ็นต์) ควรทำแนวป้องกันทุก ๆ ระยะ 6 , 9 และ 12 เมตรตามลำดับ

      การผสมผสานไม้ยืนต้น / ไม้ผลในระบบเกษตรบนพื้นที่สูง ทำให้มีพืชที่ปลูกถาวรคลุมดิน ช่วยป้องกันการพังทลายและการเสื่อมสภาพของดิน ดังนั้นพื้นที่ที่มีความลาดชันสูงระหว่าง 35 – 55 เปอร์เซ็นต์ จึงแนะนำให้ปลูกไม้ยืนต้นเพียงอย่างเดียว และในพื้นที่ที่มีความลาดชันน้อยกว่า 35 เปอร์เซ็นต์ แนะนำให้ปลูกพืชไร่หรือพืชล้มลุกสลับกับไม้ยืนต้น ซึ่งขึ้นอยู่กับความลาดชันของพื้นที่

      สถานีวิจัยเพชรบูรณ์ สถาบันค้นคว้าและพัฒนาระบบนิเวศเกษตร เริ่มก่อตั้งมาจากโครงการพัฒนาการเกษตรในเขตที่สูงและเขตอากาศหนาวเย็นของจังหวัดเพชรบูรณ์ เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2534 เพื่อร่วมกับทางจังหวัดเพชรบูรณ์จัดทำโครงการพัฒนาการปลูกพืชเมืองหนาวในพื้นที่บางส่วนของจังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งเป็นเขตพื้นที่สูงและมีอากาศหนาวเย็น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนางานอาชีพทางการเกษตรยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชน และสร้างเสริมความมั่นคงในระบบเศรษฐกิจ และวางแนวทางการส่งเสริมการปลูกพืชเมืองหนาวบางชนิดที่มีศักยภาพในการผลิตเป็นการค้าต่อไปในอนาคต โดยสถานีวิจัยเพชรบูรณ์มีพื้นที่ตั้งแปลงทดลอง 3 แปลง ได้แก่ แปลงทดลองบ้านเข็กน้อย, แปลงทดลองบ้านห้วยน้ำขาว อำเภอเขาค้อ และแปลงทดลองบ้านทับเบิก ตำบลวังบาล อำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งแปลงทดลองจะมีความสูงตั้งแต่ 700 – 1,300 เมตรจากระดับน้ำทะเล จากปัญหาการใช้ที่ดินบนพื้นที่สูงของเกษตรกรตามที่กล่าวมาข้างต้น สถานีวิจัยเพชรบูรณ์จึงเห็นควรที่จะต้องเป็นต้นแบบของการใช้ที่ดินบนพื้นที่สูงให้เกษตรในพื้นที่ได้เป็นแหล่งเรียนรู้ เพื่อให้เป็นศาสตร์ที่ยั่งยืน แก่เกษตรกร ซึ่งได้ดำเนินการปลูกพืชเศรษฐกิจชนิดต่าง ๆ ทั้งพืชยืนต้นและพืชล้มลุก ร่วมกับการใช้แฝกและการปรับปรุงความอุดมสมบูรณ์ของดิน โดยปลูกตามแนวระดับของพื้นที่


1 สถานีวิจัยเพชรบูรณ์ สถาบันค้นคว้าและพัฒนาระบบนิเวศเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
2 ศูนย์วิจัยระบบนิเวศเกษตร สถาบันค้นคว้าและพัฒนาระบบนิเวศเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์