ภัยพิบัติทางธรรมชาติในประเทศไทย


พูลศิริ ชูชีพ
สถาบันค้นคว้าและพัฒนาระบบนิเวศเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์


      ภัยพิบัติทางธรรมชาติ หมายถึง มหันตภัยที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันเป็นการนำมาซึ่งการทำลายล้างทั้งชีวิตและทรัพย์สิน และก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากสภาพดั้งเดิม โดยยากที่จะคาดการณ์ได้ (Webster’s New Encyclopedic Dictionary, 1994) ภัยพิบัติทางธรรมชาติในประเทศไทยจำแนกออกเป็น 8 ประเภท ประกอบด้วย
วาตภัย จำแนกได้ 2 ประเภท ดังนี้

      1.1 วาตภัยจากพายุฤดูร้อน เกิดขึ้นในช่วงฤดูร้อน เกิดจากถูกกระแสอากาศกระทำให้ลอยขึ้นสู่เบื้องบนอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดการกลั่นตัวของไอน้ำเป็นละอองน้ำและมีการเสียดสีระหว่างลิงน้ำกับอากาศจนเกิดประจุไฟฟ้า จึงทำให้ เกิดพายุฝนฟ้าคะนองและอาจมีลูกเห็บทำความเสียหายได้ในบริเวณเล็กๆ ช่วงเวลาสั้นๆ ความเร็วลมประมาณ 50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
      1.2 วาตภัยจากพายุฤดูหมุนเขตร้อน จะเกิดขึ้นในช่วงฤดูฝน เป็นพายุที่เกิดขึ้นเหนือทะเลจีนใต้ และมหาสมุทรแปซิฟิกในเขตร้อน มีศูนย์กลางประมาณ 200 กิโลเมตร มีลมพัดเวียนรอบศูนย์กลางทิศทวนเข็มนาฬิกาในซึกโลกเหนือ ศูนย์กลางเป็นวงกลมประมาณ 15-60 กิโลเมตร
อุทกภัย เกิดจากฝนตกหนักต่อเนื่องเป็นเวลานาน มีสาเหตุจาก พายุหมุนเขตร้อน มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังแรง ร่องความกดอากาศต่ำกำลังแรง และแผ่นดินไหวทำให้เขื่อนแตก อุทกภัยแบ่งได้ 2 ประเภท
             1.1 อุทกภัยจากน้ำบ่าไหลหลากและน้ำท่วมฉับพลัน เกิดจากฝนตกหนักติดต่อกันหลายชั่วโมง ดินซึมซาบน้ำไม่ทัน น้ำฝนไหลบ่าเหนือผิวดินลงสู่พื้นราบอย่างรวดเร็ว ความแรงของน้ำทำลายต้นไม้ อาคาร ถนน สะพาน ชีวิต ทรัพย์สิน
            1.2 อุทกภัยจากน้ำท่วมขังและน้ำเอ่อนอง เกิดจากน้ำในแม่น้ำ ลำธารล้นตลิ่ง มีระดับสูงเกินจากสภาวะปกติ ท่วมและแช่ขัง ทำให้การคมนาคมชะงัก เกิดโรคระบาด ทำลายสาธารณูปโภค และพืชผลการเกษตร

      ทุกขภิกขภัย ภัยธรรมชาติซึ่งเกิดจาก ฝนแล้ง ไม่ตกตามฤดูกาล มีสาเหตุจาก พายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนผ่านประเทศไทยน้อย ร่องความกดอากาศต่ำมีกำลังอ่อน มรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีกำลังอ่อน เกิดสภาวะฝนทิ้งช่วงเป็นเวลานาน หรือเกิดปรากฏการณ์เอลนิโนรุนแรง ทำให้ฝนน้อยกว่าปกติ ทำให้ผลผลิตการเกษตรเสียหาย

      พายุฝนฟ้าคะนอง ภัยธรรมชาติซึ่งเกิดจากฝนฟ้าคะนอง และลมแรง อากาศร้อนลอยสูงขึ้น อากาศข้างเคียงไหลเข้ามาแทนที่ ไอน้ำกลั่นตัวเป็นเมฆ ทวีความสูงมากขึ้น มองเห็นคล้ายทั่งตีเหล็กสีเทาเข้ม มีฟ้าแลบ ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า เกิดพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง บางครั้งมีลูกเห็บ หากตกต่อเนื่องหลายชั่วโมง อาจเกิดน้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมฉับพลัน อาจ เกิดพายุลมหมุนหรือ พายุงวงช้างมีลมแรงมาก ทำความเสียหายบริเวณที่เคลื่อนผ่าน

       แผ่นดินไหว ภัยธรรมชาติซึ่งเกิดจากการปลดปล่อยพลังงานใต้พิภพ จากการเกิดภูเขาไฟระเบิด แผ่นดินเลื่อน แผ่นดินถล่ม และเกิดจากมนุษย์ เช่นระเบิดปรมาณู แผ่นดินไหวในประเทศไทยมักเกิดขึ้นบริเวณภาคเหนือ มักเกิดแผ่นดินไหวขนาด 3-4 ริกเตอร์ และเคยเกิดขนาดใหญ่สุดที่บันทึกได้ 5.6 ริกเตอร์ ที่ อ.ท่าสองยาง จ.ตาก วันที่ 17 ก.พ.2518
แผ่นดินถล่ม การเคลื่อนที่ของแผ่นดินและกระบวนการซึ่งเกี่ยวกับการเคลื่อนที่ของดินและหิน เนื่องจากแรงดึงดูดของโลก ตามความลาดชันของลาดเขา

       ไฟป่า ภัยธรรมชาติซึ่งเกิดจากมนุษย์เป็นส่วนมาก ได้แก่การเผาหาของป่า เผาทำไร่เลื่อนลอย เผากำจัดวัชพืช ส่วนน้อยที่เกิดจากการเสียดสีของต้นไม้แห้ง ปลายเดือนกุมภาพันธ์-ต้นพฤษภาคม ทำให้เกิดมลพิษในอากาศมากขึ้น ผงฝุ่น ควันไฟกระจายในอากาศทั่วไป ไม่สามารถลอยขึ้นเบื้องบนได้ มองเห็นไม่จัดเจน สุขภาพเสื่อม พืชผลการเกษตรด้อยคุณภาพ แหล่งทรัพยากรลดลง
สึนามิ (Tsunami) เป็นคลื่นขนาดยักษ์ที่เกิดจากการแทนที่น้ำอย่างรุนแรง ทำให้มวลของน้ำเกิดการเคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูง ในลักษณะเดียวกันกับการโยนก้อนหินลงในน้ำ แล้วเกิดระลอกคลื่นแผ่ออกจากจุดที่ก้อนหินตกกระทบ ปรากฏการณ์ธรรมชาติบางอย่าง ได้แก่ ภูเขาไฟระเบิดในทะเล แผ่นดินไหวหรือแผ่นดินถล่มในทะเล และอุกกาบาต หรือดาวหางที่ตกลงในทะเล จะทำให้เกิดปรากฏการณ์แทนที่น้ำในลักษณะดังกล่าวอย่างรุนแรง ทำให้มวลของน้ำเคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูง เกิดเป็นคลื่นสึนามิที่มีพลังงานมหาศาลและมีความเร็วสูงมาก ในระหว่างที่สึนามิเคลื่อนที่อยู่ในมหาสมุทรจะมีลักษณะเป็นคลื่นใต้น้ำ ที่เห็นเป็นเพียงระลอกสูงราว 30 เซนติเมตร ถึง 1 เมตรเท่านั้น แต่เมื่อสึนามิเคลื่อนที่เข้าหาฝั่ง สู่เขตน้ำตื้น ความเร็วจะลดลง ในขณะที่ความสูงของคลื่นกลับยิ่งทวีขึ้น

       เมื่อวันอาทิตย์ที่ 26 ธันวาคม 2547 เวลา 7:58:53 ได้เกิดแผ่นดินไหวบริเวณใต้น้ำอย่างรุนแรง มีขนาดความรุนแรงระดับ 9 ตามมาตราริคเตอร์ บริเวณเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย ทำให้เกิดคลื่นสึนามิเคลื่อนเข้าสู่ชายฝั่งทะเลด้านทะเลอันดามันและชายฝั่งทะเลด้านตะวันออกของประเทศอินเดียและชายฝั่งทะเลของประเทศศรีลังกา รวมถึงทำให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินอย่างมหาศาล ในประเทศไทยเองก็ได้รับผลกระทบและก่อให้เกิดความเสียหายใน 6 จังหวัดทางภาคใต้ได้แก่ จังหวัดระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล มีผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บและผู้สูญหายจากภัยพิบัติในครั้งนี้เป็นจำนวนมาก

       แผ่นดินไหว เป็นปรากฎการณ์ธรรมชาติ เกิดจากการเคลื่อนตัวโดยฉับพลันของเปลือกโลก ส่วนใหญ่แผ่นดินไหวมักเกิดตรงบริเวณขอบ ของแผ่นเปลือกโลกเป็นแนวแผ่นดินไหวของโลก การเคลื่อนตัวดังกล่าว เกิดขึ้นเนื่องจากชั้นหินหลอมละลาย ที่อยู่ภายใต้เปลือกโลก ได้รับพลังงานความร้อนจากแกนโลก และลอยตัวผลักดันให้เปลือกโลกตอนบนตลอดเวลา ทำให้เปลือกโลกแต่ละชิ้นมีการเคลื่อนที่ในทิศทางต่าง ๆ กันพร้อมกับสะสมพลังงานไว้ภายใน บริเวณขอบของชิ้นเปลือกโลกจึงเป็นส่วนที่ชนกันเสียดสีกัน หรือแยกจากกัน หากบริเวณขอบของชิ้นเปลือกโลกใด ๆ ไม่ผ่านหรืออยู่ใกล้กับประเทศใดประเทศนั้น ก็จะมีความเสี่ยงต่อภัยแผ่นดินไหวสูง เช่น ประเทศญี่ปุ่น ประเทศฟิลิปปินส์ ประเทศอินโดนีเซีย นิวซีแลนด์ เป็นต้น

แหล่งกำเนิด

1. แนวแผ่นดินไหวของโลก ตรงบริเวณขอบของแผ่นเปลือกโลก ในกรณีของประเทศไทย แนว แผ่นดินไหวโลกที่ใกล้ ๆ ได้แก่ แนวในมหาสมุทรอินเดีย สุมาตรา และ ประเทศพม่า
2. แนวรอยเลื่อนต่าง ๆ ในกรณีประเทศไทย ได้แก่ แนวรอยเลื่อนในประเทศเพื่อนบ้าน พม่า จีนตอนใต้สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
3. บริเวณที่มนุษย์มีกิจกรรมกระตุ้นให้เกิดแผ่นดินไหว เช่น เหมือง เขื่อน บ่อน้ำมัน เป็นต้น

จุดกำเนิดแผ่นดินไหว (Epicenter)



Fault scarp
=ผารอยเลื่อน
Epicenter=จุดเหนือศูนย์เกิดแผ่นดินไหวแผ่นดินไหว
Focus=ศูนย์กลางแผ่นดินไหว
Fault=รอยเลื่อน
Wave fronts= หน้าคลื่นสั่นสะเทือน




คลื่นจากแผ่นดินไหว


1. คลื่นในตัวกลาง (Body Wave)
เดินทางอยู่ในลำตัวกลางที่มีเนื้อชนิด เดียวกันตลอด มี 2 ชนิดได้แก่
      - คลื่นปฐมภูมิ (Primary, P-wave หรือ compressional wave) เป็นคลื่นที่อนุภาคของตัวกลางเคลื่อนที่ในทิศทางเดียวกันกับการเคลื่อนที่ของคลื่น มีความเร็วมากกว่าคลื่นชนิดอื่น สามารถเคลื่อนผ่านตัวกลางที่เป็นของแข็ง ของเหลว และก๊าซ
      - คลื่นทุติยภูมิ (Secondary, S-wave หรือ shear wave) เป็นคลื่นที่อนุภาคของตัวกลางเคลื่อนที่ในแนวตั้งฉากกับทิศทางการเคลื่อนที่ของคลื่นเคลื่อนที่ผ่านตัวกลางเฉพาะของแข็งมีความเร็วน้อยกว่าคลื่นปฐมภูมิ

2. คลื่นพื้นผิว (Surface wave หรือ L-wave)
เป็นคลื่นที่เกิดจากการไหวสะเทือนซึ่งเคลื่อนที่ไปตามพื้นผิวโลก มี 2 ชนิด ได้แก่
      - คลื่นเลิฟ (Love wave) เป็นคลื่นที่อนุภาคของตัวกลางเคลื่อนที่ตามแนวนอนในทิศทางตั้งฉากกับทิศทางที่เคลื่อนที่ขนานกับผิวโลก มีขนาดของการสั่นที่ผิวสูงมากจึงมีผลให้เกิดการทำลายฐานรากสิ่งปลูกสร้าง มีความเร็วใกล้เคียงกับคลื่นทุติยภูมิ
      - คลื่นเรย์ลี (Rayleigh wave) เป็นคลื่นที่อนุภาคของตัวกลางเคลื่อนที่ในแนวดิ่งเป็นรูปวงรีในทิศทางเดียวกันกับทิศทางของคลื่น ทำให้พื้นแผ่นดินไหวขึ้นลงเนื่องจากมีขนาดของการสั่นสูงมากจึงมีผลทำลายสิ่งปลูกสร้างเป็นบริเวณกว้าง

มาตราวัดแผ่นดินไหว

      - มาตราเมอร์คัลลิดัดแปร (Modified Mercalli Scale)
เป็นมาตราวัดแผ่นดินไหวที่ใช้ความรู้สึกของมนุษย์เป็นหลัก ซึ่งขึ้นกับผลของการไหวสะเทือนที่ตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่ง
      - มาตราริคเตอร์ (Richter Scale) เป็นมาตราวัดแผ่นดินไหวที่ใช้ความรู้สึกของคนและความกระทบกระเทือนต่ออาคาร

      สึนามิ (tsunami) เป็นคลื่นตามยาวเกิดจากแผ่นดินไหวและสั่นสะเทือนอย่างรุนแรง เช่น รอยแยกเปลือกโลกเคลื่อนตัว แผ่นดินถล่มใต้น้ำ หรือภูเขาไฟชายฝั่งหรือใต้น้ำระเบิด ทำให้เกิดการกระเพื่อมของน้ำอย่างรุนแรง และเกิดการเคลื่อนที่ของมวลน้ำ ซึ่งถูกผลักดันโดยแรงกระทำมหาศาลที่สามารถต่อต้านน้ำหนักของมวลน้ำ ณ.ที่ใดๆ ให้เคลื่อนที่ออกไปจากตำแหน่งเดิมเรียกว่าเป็น Gravity Wave ที่แผ่กระจายออกมาจากแผ่นดินไหว สึนามิมีความยาวคลื่น 100 – 200 กิโลเมตร มวลน้ำทั้งหมดเคลื่อนที่ไปด้วยความเร็วประมาณ 500-600 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความลึกของน้ำ ความสูงคลื่นในทะเลอาจจะเพียง 1-2 เมตร แต่ไม่สามารถสังเกตด้วยตาเปล่าได้เนื่องจากความยาวคลื่นยาวมาก แต่เมื่อเข้าสู่ชายฝั่งที่น้ำตื้นจะมีความยาวคลื่นลดลงและอาจมีความสูงได้ถึง 15 เมตร
ความเร็วสูงสุดของคลื่นสึนามิในมหาสมุทรสามารถคำนวณได้จากสมการคลื่นน้ำตื้น ดังนี้   

c = ความเร็วของคลื่น
g = ความเร่งจากแรงโน้มถ่วงของโลก (10 m/s2)
d = ความลึกของน้ำ

ลักษณะของคลื่นสึนามิที่เกิดจากแผ่นดินไหวใต้ทะเล

      แผ่นดินไหวใต้ทะเลที่อาจส่งผลให้เกิดคลื่นสึนามิและส่งผลต่อประเทศไทย ส่วนมากจะอยู่บริเวณฝั่งทะเลอันดามัน โดยศูนย์กลางแผ่นดินไหว ลักษณะของรอยเลื่อนที่เกิดบริเวณการเคลื่อนที่ของเปลือกโลกอาจมีส่วนต่อลักษณะของคลื่นสึนามิที่พัดเข้าสู่ฝั่ง สืบเนื่องมาจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะสุมาตรา ที่ละติจูด 3.316 oN และลองติจูด 95.854 oE เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ.2547 เวลา 07:59 น. ทำให้เกิดคลื่นสึนามิเคลื่อนเข้าสู่ชายฝั่งทะเลด้านทะเลอันดามันและชายฝั่งทะเลด้านตะวันออกของประเทศอินเดียและชายฝั่งทะเลของประเทศศรีลังกา ทำให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินอย่างมหาศาล

      สาเหตุการเกิดแผ่นดินไหวในครั้งนี้วิเคราะห์คลื่นไหวสะเทือนที่รับได้จากสถานีตรวจวัดแผ่นดินไหวทั่วโลก (ข้อมูลจาก United State Geological Survey, USGS) และสรุปได้ว่าจุดโฟกัสของแผ่นดินไหวครั้งนี้อยู่ที่ระดับความลึก 28.6 กิโลเมตร ซึ่งทำให้หินเปลือกโลกบริเวณเพลทพม่าที่ถูกดึงให้จมลงไปโดยการมุดของเพลทอินเดียและเพลทออสเตรเลียแตกหักและเลื่อนย้อนมุมต่ำ (Thrust Fault) โดยมีระยะเลื่อนของหินที่เลื่อนผ่านกันที่ความลึก 28.6 กิโลเมตรนั้น ประมาณ 15 เมตร แนวรอยเลื่อนวางตัวในทิศทาง N 45o W เอียงทำมุม 5o NE โดยปล่อยโมเมนต์ของแรงหลากทิศทางที่กระทำต่อกัน (Moment Tensor) ออกมาประมาณ 1022 นิวตันเมตร หรือคิดเป็นขนาดแผ่นดินไหวเท่ากับ 9 ตามมาตราริคเตอร์ และคิดเป็นพลังงานที่แผ่กระจายออกมาเท่ากับการระเบิดของ ทีเอ็นที ประมาณ 20,000 เมกกะตัน ซึ่งทำให้ผิวเปลือกโลกเหนือศูนย์กลางแผ่นดินไหวด้านขวาของรอยเลื่อน เคลื่อนที่ขึ้นซ้อนทับทางด้านซ้ายประมาณ 3-4 เมตร

      ด้วยเหตุดังกล่าวทำให้ผิวเปลือกโลกบริเวณศูนย์กลางแผ่นดินไหวนูนขึ้นแล้วลาดเอียงลงในขณะที่ผิวเปลือกโลกบริเวณโดยรอบศูนย์กลางแผ่นดินไหวที่ห่างออกไปหลายกิโลเมตรถึงหลายสิบกิโลเมตรค่อยๆ ยุบลงเหมือนผิวกลองที่ถูกตีแรงๆ ด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงทำให้น้ำทะเลบริเวณโดยรอบจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวยุบตัวลงตามผิวเปลือกโลกแล้วเข้ามากระแทกรวมตัวกันที่ตรงกลาง ซึ่งทำให้น้ำทะเลบริเวณชายฝั่งทะเลลดลงในช่วงเวลาต่อมา

      หลังจากนั้นน้ำทะเลที่เข้ามารวมกันบริเวณเหนือศูนย์กลางแผ่นดินไหวจะแผ่กระจายออกไปโดยรอบจึงทำให้เป็นมวลของน้ำปริมาณมหาศาลเคลื่อนที่ไปใต้ผิวน้ำออกไปทุกทิศทาง ส่วนใดที่เป็นช่องให้เลี้ยวเบนก็เลี้ยวเบน ส่วนใดที่ขวางทางก็จะสะท้อนออกไป คลื่นสึนามิที่เกิดจากแผ่นดินไหวในครั้งนี้เลี้ยงเบนผ่านหัวเกาะสุมาตรา พุ่งตรงเข้าชายฝั่งทะเลบริเวณจังหวัดพังงา และบางส่วนเลี้ยวเบนเข้าชายฝั่งทะเลบริเวณเกาะภูเก็ตและหมู่เกาะในจังหวัดกระบี่

      โดยปกติคลื่นสึนามิจะมีความยาวช่วงคลื่นประมาณร้อยถึงหลายร้อยกิโลเมตร เมื่อเข้าสู่ชายฝั่งที่น้ำตื้นจะมีความยาวคลื่นลดลงเหลือไม่เกิน 100 เมตร พร้อมทั้งเพิ่มความสูงของคลื่นเป็น 10-20 เมตร แต่เนื่องจากชายฝั่งทะเลอันดามันเป็นชายฝั่งทะเลแบบทรุดตัว บริเวณชายฝั่งที่ห่างออกไปประมาณ 20-30 กิโลเมตร จะเป็นแนวน้ำลึก ถ้าบริเวณดังกล่าวมีชายฝั่งที่ทรุดตัวลงเป็นหน้าผา คลื่นจะสะท้อนกลับในทิศทางตรงกันข้ามกับที่เคลื่อนที่เข้ามา ถ้าบริเวณใดมีชายฝั่งทะเลที่ค่อนข้างลาดชันมาก คลื่นสึนามิจะกระโจนขึ้นสู่ชายฝั่งทะเลอย่างรวดเร็ว พุ่งเข้าปะทะสิ่งกีดขวางทุกอย่างแล้วกวาดกลับลงสู่ทะเล บริเวณชายฝั่งที่มีความลาดชันไม่มาก คลื่นที่พุ่งเข้าสู่ชายฝั่งจะเข้ากระแทกเหมือนกับน้ำที่เอ่อล้นเข้ามาอย่างรวดเร็ว ไม่มีลักษณะที่เป็นการกระโจนเข้าหาชายฝั่ง