การส่งเสริมการปลูกพลับไปสู่เกษตรกรในพื้นที่สูงของจังหวัดเพชรบูรณ์


โอฬาร ตัณฑวิรุฬห์1 วรวิทย์ ยี่สวัสดิ์2 วิสิฐ กิจสมพร2
กิตติพงศ์ ตรีตรุยานนท์1 และวีระศรี เมฆตรง1


เพชรบูรณ์มีความสำคัญอย่างไร ?

      จังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นจังหวัดหนึ่งที่มีพื้นที่สูงเป็นภูเขาหรือเทือกเขาต่าง ๆ กระจัดกระจายอยู่ทั่วไป และมีสภาพอากาศหนาวเย็นจัดในช่วงฤดูหนาว เช่น พื้นที่บางส่วนของอำเภอเขาค้อ และอำเภอหล่มเก่า ซึ่งมีความสูงตั้งแต่ 700 – 1,400 เมตรจากระดับน้ำทะเล เป็นแหล่งของต้นน้ำลำธาร แต่ปัจจุบันพื้นที่ดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นภูเขาหัวโล้น ป่าธรรมชาติส่วนใหญ่ถูกทำลาย และ ไม่มีการปลูกขึ้นใหม่ สภาพนิเวศวิทยาเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งอาจเป็นผลสืบเนื่องมาจากปัญหาการสู้รบกับผู้ก่อการร้ายในอดีต และการทำไร่เลื่อนลอย พืชที่ปลูกส่วนใหญ่เป็นพืชล้มลุกโดยเฉพาะกะหล่ำปลีและขิง ก่อให้เกิดปัญหาน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากและการพัดพาดินตะกอน ทำให้เกิดความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินของราษฎรในพื้นราบ ซึ่งจะเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างชัดเจนดังกรณีที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนสิงหาคม 2544 ในตำบลน้ำก้อ ตำบลน้ำชุน และตำบลหนองไขว่ อำเภอหล่มสัก นอกจากนั้นยังพบปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชอย่างมากบนพื้นที่สูง เกิดการสะสมในแหล่งต้นน้ำลำธาร

ทำไมจึงต้องเป็นพลับ ?

      พลับ เป็นไม้ผลยืนต้นชนิดหนึ่งที่มีราคาสูง มีอายุยืนยาว ต้องการสภาพอากาศหนาวเย็นระยะหนึ่ง เพื่อให้ตาแตกและเจริญเติบโตต่อไป ใช้สารเคมีป้องกัน – กำจัดศัตรูพืชน้อย เป็นพืชที่เจริญเติบโตได้ดีบนพื้นที่ที่มีความสูงตั้งแต่ 700 เมตรขึ้นไป “ พลับ ” จึงเป็นพืชที่มีศักยภาพและเหมาะสมสำหรับปลูกบนพื้นที่สูง ให้เป็นป่าไม้ผลทดแทนป่าธรรมชาติที่ถูกทำลาย ทำให้เกษตรกรบนพื้นที่สูงมีรายได้จากพืชยืนต้นทดแทนพืชล้มลุก ช่วยปรับปรุงและรักษาระบบนิเวศบนพื้นที่สูง

      การผลิตพลับในประเทศไทยปัจจุบันปลูกเป็นการค้าอยู่เฉพาะในเขตจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดเชียงรายเท่านั้น โดยมีมูลนิธิโครงการหลวงเป็นหน่วยงานส่งเสริม พันธุ์ที่ส่งเสริมมากที่สุดคือพันธุ์พี 2 (ผลผลิต 90 เปอร์เซ็นต์) เป็นพลับฝาดที่ต้องนำไปผ่านกรรมวิธีการลดความฝาดก่อนจำหน่าย อีกประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์เป็นพลับหวาน (พันธุ์ฟูยู) และอีก 5 เปอร์เซ็นต์ส่วนใหญ่จะเป็นพลับโรงงาน ซึ่งจำหน่ายผ่านฝ่ายตลาดมูลนิธิโครงการหลวง และเกษตรกรจำหน่ายเองในท้องตลาด มูลนิธิโครงการหลวงจะมีมาตรฐานคุณภาพผลผลิตสูงกว่าผลผลิตที่เกษตรกรจำหน่ายเอง ราคาจำหน่าย ณ ปัจจุบัน พันธุ์ฟูยูราคาประมาณ 100 บาทต่อกิโลกรัม พันธุ์พี 2 ราคาโดยเฉลี่ยต่ำสุด 30 บาท ตามเกรดมาตรฐานที่มูลนิธิโครงการหลวงกำหนดไว้ปริมาณผลผลิตภายในประเทศ

      ปัจจุบันยังไม่เพียงพอกับความต้องการของผู้บริโภค มีการนำเข้าจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก ทุกปี ซึ่งการผลิตพลับจำเป็นต้องปลูกบนพื้นที่สูงที่มีอากาศหนาวเย็นเท่านั้น และเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ในเดือนกรกฎาคม –สิงหาคม เป็นช่วงที่มีผลผลิตของผลไม้เขตร้อนน้อย จึงเป็นข้อได้เปรียบในเรื่องของตลาดพลับ

ประโยชน์ที่จะได้รับ

      1. เกษตรกรบนพื้นที่สูงมีรายได้ที่ยั่งยืนทดแทนรายได้จากพืชล้มลุก
      2. สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรควบคู่ไปกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ด้วยวิธีสร้างป่าไม้ผลทดแทนป่าธรรมชาติบนพื้นที่สูงที่ถูกทำลายไป
      3. ผลผลิตพลับของประเทศมีปริมาณสูงขึ้น อาจเป็นแนวทางลดการนำเข้าจากต่างประเทศ

การดำเนินงานที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน

      การทดสอบการปลูกพลับบนพื้นที่สูงของจังหวัดเพชรบูรณ์ เริ่มตั้งแต่ปี 2534-2535 ณ สถานีวิจัยเพชรบูรณ์ แปลงทดลองบ้านทับเบิก ตำบลวังบาล อำเภอหล่มเก่า พบว่าพลับพันธุ์พี 2 (พันธุ์ที่ปลูกเป็นการค้าของประเทศไทย) สามารถเจริญเติบโตและให้ผลผลิตที่มีคุณภาพดี เริ่มมีผลผลิตตั้งแต่ปี พ.ศ.2538 - 2539 ในปี พ.ศ.2543 และ พ.ศ.2545 ผลผลิตจากต้นที่ปลูกประมาณ 100 ต้น เก็บเกี่ยวได้ประมาณ 400 และ 2,000 กิโลกรัมตามลำดับ ในปี พ.ศ. 2547 พบว่า ตามแหล่งท่องเที่ยวและร้านขายของพื้นเมืองในเขตจังหวัดเพชรบูรณ์ มีพลับจากจังหวัดเชียงใหม่จำหน่ายเป็นจำนวนมาก

      งานส่งเสริม สืบเนื่องจากผลของการทดสอบการปลูกพลับบนพื้นที่สูงของจังหวัดเพชรบูรณ์ ปัญหาบนพื้นที่สูงของจังหวัดเพชรบูรณ์ และความต้องการของผู้บริโภคในภาพรวมของประเทศ จึงนำมาสู่เรื่อง การส่งเสริมการปลูกพลับไปสู่เกษตรกรในพื้นที่สูงของจังหวัดเพชรบูรณ์ เพื่อคืนทรัพยากรสู่ชุมชน

กลุ่มเป้าหมายของงานส่งเสริม

      1. นักวิชาการและเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานพื้นที่สูง
      2. เกษตรกรในเขตอำเภอเขาค้อและอำเภอหล่มเก่า
      3. นักเรียนและครูในเขตอำเภอเขาค้อและอำเภอหล่มเก่า

      ดำเนินงานตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 – 2547 โดยการจัดฝึกอบรม เยี่ยมแปลงให้คำปรึกษาแก่เกษตรกร สนับสนุนให้โรงเรียนทำแปลงตัวอย่าง และจัดเสวนาโต๊ะกลม ซึ่งประสานงานกับสถานีวิจัยเพชรบูรณ์และศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขาจังหวัดเพชรบูรณ์ ปัจจุบันพบว่ามีพื้นที่ปลูกพลับโดยรวมประมาณ 170 ไร่ (มียอดแจกและจำหน่ายต้นตอเต้าซื่อจำนวน 6,200 ต้น) ในเขตอำเภอเขาค้อ,อำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ และอำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก เกษตรกรปลูกทั้งลักษณะที่เป็นพืชเดี่ยวและปลูกแบบผสมผสานกับพืชล้มลุกและไม้ผลชนิดอื่น เกษตรกรที่ร่วมโครงการมีจิตสำนึกในการพัฒนาพื้นที่ โดยเฉพาะเรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อปรับปรุงระบบนิเวศของพื้นที่ให้ดีขึ้น เห็นความสำคัญของป่าไม้ แต่ต้องควบคู่ไปกับรายได้สำหรับนำมาใช้ในการดำรงชีวิต และเห็นความสำคัญของ “ พลับ ” เพื่อประโยชน์ดังกล่าวข้างต้น การส่งเสริมครั้งนี้จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นของการขยายพื้นที่ปลูกพลับจากจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดเชียงรายไปสู่พื้นที่สูงของภาคเหนือตอนล่าง

 
1 ศูนย์วิจัยระบบนิเวศเกษตร สถาบันค้นคว้าและพัฒนาระบบนิเวศเกษตร, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรุงเทพฯ
2 สถานีวิจัยดอยปุย สถาบันค้นคว้าและพัฒนาระบบนิเวศเกษตร, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์