การยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มให้ได้มาตรฐาน


มณฑาทิพย์ ยุ่นฉลาด ,รัศมี ศุภศรี และ กรุณา วงษ์กระจ่าง
สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์


      ปัจจุบันนี้ เครื่องดื่มที่ทำมาจากผักผลไม้ ธัญพืชและสมุนไพร เป็นที่นิยมบริโภคกันทั่วไป เนื่องจากผู้บริโภคมีจิตสำนึกเอาใจใส่ดูแลสุขภาพกันมากขึ้น จากการรับฟังข้อมูลจูงใจโดยสื่อต่างๆทำให้มีความเชื่อในสรรพคุณว่า เครื่องดื่มดังกล่าว สามารถช่วยเสริมสร้างสุขภาพและป้องกันโรคได้ จึงทำให้มีการผลิตน้ำผลไม้พร้อมดื่มและน้ำสมุนไพรพร้อมดื่มอย่างแพร่หลายทั่วประเทศด้วยกรรมวิธีที่ง่ายๆ ทำให้เกิดรายได้แก่ชุมชนและครอบครัวได้บ้าง แต่ปัญหาที่มักพบเสมอๆ คือ ผลิตภัณฑ์มีอายุการเก็บไม่นาน เป็นผลจากการปนเปื้อนของจุลินทรีย์ที่มีอยู่ในวัตถุดิบ หรือจากกรรมวิธีการผลิต เพราะผู้ผลิตมีความรู้พื้นฐานไม่เพียงพอในด้านหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิตอาหารว่าด้วยสุขลักษณะทั่วไป

      นอกจากนี้ยังมีปัญหาการควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์ ผู้ผลิตมักผลิตสินค้าที่มีส่วนผสมของเนื้อวัตถุดิบไม่ตรงตามมาตรฐานที่กำหนด กล่าวคือ อาจมีการเจือจางทำให้ส่วนผสมของวัตถุดิบต่ำกว่ามาตรฐานประการหนึ่ง หรือคุณภาพไม่คงที่ อาจเนื่องจากการขาดความรู้พื้นฐานในการผลิต โดยผลิตตามสูตรเท่านั้นไม่ได้คำนึงถึงปัจจัยที่เกิดจากวัตถุดิบทีมีองค์ประกอบไม่แน่นอน ซึ่งขึ้นกับพันธุ์ ความแก่อ่อน แหล่งที่ปลูก เป็นต้น อีกทั้งน้ำผลไม้และน้ำสมุนไพรจัดเป็นเครื่องดื่มในภาชนะบรรจุปิดสนิท ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ถือเป็นอาหารที่อยู่ในข่ายควบคุมเฉพาะ โดยผู้ผลิตต้องขออนุญาตขึ้นทะเบียนด้วย สำหรับผู้ผลิตที่ไม่เข้าข่ายโรงงานเพียงแต่ขออนุญาตใช้ฉลากและขอเลขสารบบ โดยมีการควบคุมให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ เกี่ยวกับชนิดและปริมาณจุลินทรีย์ที่ปนเปื้อน และปริมาณวัตถุกันเสียที่อนุญาตให้ใช้ได้ เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพของผู้บริโภค

      นอกจากนี้ผู้ผลิตรายย่อยยังมีปัญหาด้านการตลาด คือ เนื่องจากไม่มีโอกาสใช้เทคโนโลยีการบรรจุที่ทันสมัย จึงไม่สามารถทำให้สินค้ามีรูปลักษณ์เป็นที่ดึงดูดผู้บริโภค เพียงต้องใช้บรรจุภัณฑ์ทั่วไปที่มีจำหน่ายในท้องตลาด เช่น ขวดพีพี และ ขวดPETเย็น เท่านั้น ซึ่งทำให้เป็นข้อจำกัดการพัฒนาด้านบรรจุภัณฑ์ในผู้ผลิตรายย่อย แต่อาจทำให้ผลิตภัณฑ์มีมูลค่าเพิ่มขึ้น โดยการออกแบบฉลากให้มีรูปแบบที่น่าสนใจ ปัจจัยต่างๆนี้จึงควรนำมาวิเคราะห์หาแนวทางในการสนับสนุนอย่างจริงจัง เพื่อให้ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มของผู้ผลิตรายย่อยได้รับการพัฒนาและปรับปรุงด้านคุณภาพและลดต้นทุนการผลิตให้มีส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะตลาดในประเทศเป็นสำคัญ
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ร่วมกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร จึงมีวัตถุประสงค์ ดังนี้

      1. เพื่อพัฒนาและปรับปรุงกระบวนการผลิตน้ำมะขามพร้อมดื่ม น้ำเสาวรสพร้อมดื่มและน้ำกระชายดำพร้อมดื่มให้ได้มาตรฐาน
      2. เพื่อยืดอายุการเก็บผลิตภัณฑ์ในบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสมและปลอดภัยต่อการบริโภค
      3. เพื่อให้คำแนะนำในการปรับปรุงสถานที่ผลิตให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิตอาหารว่าด้วยสุขลักษณะทั่วไป

โดยมีลูกค้าของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรที่เข้าร่วมโครงการ ได้แก่

      • ไร่ชนิกา ต.ซับสมอทอด อ. บึงสามพัน จ. เพชรบูรณ์
      • ไร่มะขามทอง 71 หมู่ 8 ต. แคมป์สน อ. เขาค้อ จ. เพชรบูรณ์
      • สวนทวีการเกษตร 142 หมู่ 1 ถ.หล่มสัก-เลย บ้านหนองบัวแก้ว ต. หล่มเก่า อ. หล่มเก่า จ. เพชรบูรณ์

กิจกรรมที่ได้ดำเนินการแล้ว ได้แก่

      จัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่องเทคโนโลยีการผลิตเครื่องดื่ม ทั้งทฤษฎีด้านพื้นฐานความรู้ในการผลิต การควบคุมคุณภาพ และการปรับปรุงสถานที่ผลิตให้ได้ตามหลักเกณฑ์ GMP และการผลิตทดลองจริงในโรงงานผลิตของสถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร


   รูปที่1 การฝึกอบรมทางวิชาการเรื่อง เทคโนโลยีการผลิตเครื่องดื่ม ให้แก่ลูกค้า ธ.ก.ส.
          เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2547 ณ ไร่จันทร์แรม อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์

     การผลิตผลิตภัณฑ์ที่ลูกค้าต้องการโดยตรง ณ สถานที่ผลิตในแต่ละราย เช่น น้ำมะขามพร้อมดื่มบรรจุขวดแก้ว น้ำเสาวรสผสมแครอทบรรจุขวดแก้ว และน้ำเสาวรสเข้มข้น ผลิตภัณฑ์ทุกชนิดสามารถเก็บรักษาไว้ที่อุณหภูมิห้อง

                                                                        รูปที่ 2 ผลิตภัณฑ์น้ำมะขามพร้อมดื่มตราไร่ชนิกา