เทคนิคการย้อมสีเคมีเส้นด้ายฝ้าย
(Technique of cotton dyeing with chemical dyes)


รังสิมา ชลคุป1 สุชาดา อุชชิน1
วนิดา ผาสุขดี1 และธีรดล รุ่งเรืองกิจไกร2


      การย้อมเส้นด้ายฝ้ายด้วยสีเคมีในระดับหัตถอุตสาหกรรม พบว่า มีปัญหาของสีตกหลังการย้อม ในงานวิจัยนี้ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อลดปัญหาสีตกในผ้าฝ้าย โดยพัฒนาสภาวะการย้อมสีรีแอคทีฟ การศึกษาได้ทำการสำรวจการย้อมสีฝ้ายที่ จ. เชียงใหม่ และ จ. เพชรบูรณ์ โดยทำการเก็บตัวอย่างของสีที่ใช้ รวมทั้งปัจจัยที่เกี่ยวข้อง เช่น น้ำ ด้ายฝ้าย มาทดสอบ ผลที่ได้พบว่า น้ำที่ใช้ย้อมมีแคลเซียมคาร์บอเนตปะปนอยู่ในปริมาณ มากกว่า 250 มิลลิกรัมต่อลิตร จัดเป็นน้ำที่มีความกระด้าง สำหรับสีที่ใช้ส่วยใหญ่เป็นสีซองชนิดไดแรกท์ ที่มีราคาถูก และไม่ได้อธิบายขั้นตอนการย้อมที่สมบูรณ์ การเตรียมเส้นด้ายก่อนการย้อมสี ทำเพียงแค่การกำจัดสิ่งสกปรกด้วยสบู่และด่างเท่านั้น และเมื่อทำการทดสอบความคงทนของสีต่อการซัก พบว่า สีที่ใช้มีความคงทนต่อการซักปานกลาง (คะแนนระดับ 3-4) หรือจัดเป็นเส้นด้ายที่มีสีตก และมีความคงทนต่อแสงต่ำ (ระดับ 1-2) หรือจัดเป็นเส้นด้ายที่มีสีซีดเร็ว ผลสำรวจในภาพรวมชี้ให้เห็นว่า ปัญหาสีหม่น ไม่สดใส และสีตก เนื่องมาจากคุณภาพน้ำที่ใช้ การเตรียมเส้นด้ายโดยไม่มีการฟอกขาวก่อนการย้อม การเลือกชนิดสีย้อมและกระบวนการย้อมไม่เหมาะสม

      สำหรับการพัฒนาการย้อมในงานวิจัยนี้ได้ใช้สารกำจัดความกระด้างในน้ำ และเตรียมเส้นด้ายโดยการกำจัดสิ่งสกปรกและการฟอกขาวในขั้นตอนเดียวกัน ก่อนที่จะทำการศึกษาหาสภาวะที่เหมาะสมในการใช้สีรีแอคทีฟชนิดย้อมอุ่นสำหรับเส้นด้ายฝ้าย ที่ระดับความเข้มข้นของสีน้ำเงิน 1% โดยมีการแปรขั้นการย้อม ดังนี้ คือ อุณหภูมิ (40, 50, 60 oC) ปริมาณเกลือแกง (30, 40 มิลลิกรัมต่อลิตร) ค่าความเป็นกรด-ด่าง (8, 10, 10.5) และอัตราส่วนด้ายต่อของเหลว (1:15, 1:20, 1:30) ทำการทดสอบค่าการดูดซึมสี (%exhaustion) ค่าสีตามมาตรฐาน CIE LAB ค่าคงทนของสีต่อการซักและแสง (วิธีมาตรฐาน ISO 105-C01 และ ISO 105 B02) จากการทดลองนี้พบว่า สภาวะที่เหมาะสมในการย้อมสีฝ้ายด้วยสีรีแอคทีฟ คือ อุณหภูมิ 40 OC ปริมาณเกลือ 40 mg/l ค่าความเป็นกรด-ด่าง 10.5 และอัตราส่วน 1:20 ซึ่งมีผลให้ค่าการดูดซับสีดี และมีสีน้ำเงินสดใส และมีค่าความคงทนของสีต่อการซักและแสงระดับดี จนถึงดีมาก หรือ ไม่มีการตกของสีในเส้นด้าย

      นอกจากนี้ยังทำการทดลองย้อมสีรีแอคทีฟให้ได้ตามโทนสีของเส้นด้าย 8 สีตัวอย่างที่เก็บมาจากการสำรวจเฉพาะที่ จ. เชียงใหม่ ซึ่งเป็นตัวแทนของกลุ่มหัตถอุตสาหกรรมที่จะรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการย้อมสีฝ้าย ผลการทดลองพบว่า เส้นด้ายย้อมสีทั้ง 8 สี มีโทนสีสดในใกล้เคียงกับสีเดิม และมีความคงทนต่อการซักดีมาก คือ คะแนน 5 และแสงพอใช้ คือ คะแนน 3-4 สรุปได้ว่าสามารถทำการถ่ายทอดเทคนิคการย้อมสีเคมีในเส้นด้ายฝ้ายที่สีไม่ตกสำหรับหัตถอุตสาหกรรม
 
1งานเทคโนโลยีสิ่งทอ ฝ่ายเทคโนโลยีเส้นใยธรรมชาติ สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตผลทางการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จตุจักร กทม. 10903
2 ภาควิชาวิทยาการสิ่งทอ คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จตุจักร กทม. 10903