สบู่ดำ-พืชศักยภาพสำหรับไบโอดีเซล


กล้าณรงค์ ศรีรอต1,2, ปฐมา จาตกานนท์1,
ศิริลักษณ์ เลี้ยงประยูร1 และ Laurent Vaysse3


      สบู่ดำเป็นพืชที่มีประโยชน์มากมาย โดยเฉพาะเมล็ดสามารถนำมาสกัดน้ำมันได้ เมล็ดสบู่ดำมีปริมาณน้ำมันสูง ถึง ร้อยละ 43-59 ซึ่งสามารถใช้เพื่อจุดไฟให้แสงสว่าง ทำสบู่และเป็นสารหล่อลื่นได้ เมล็ดสบู่ดำซึ่งเป็นพืชน้ำมันที่สามารถเพาะปลูกได้ในทุกภูมิภาคของประเทศไทย เนื่องจากเป็นพืชที่ทนต่อความแห้งแล้งและความไม่สมบูรณ์ของดิน งานวิจัยนี้ได้ทำการศึกษาปริมาณและคุณภาพของน้ำมันสกัดจากเมล็ดสบู่ดำ จากการสกัดน้ำมันสบู่ดำในห้องปฏิบัติการหลังจากบดเมล็ดให้ละเอียดแล้วสกัดด้วยตัวทำละลายพบว่าเมล็ดเนื้อในสบู่ดำมีไขมันเป็นองค์ประกอบหลักทางเคมี โดยพบในปริมาณร้อยละ 46.3 น้ำมันสกัดจากเมล็ดสบู่ดำประกอบด้วยกรดไขมันไม่อิ่มตัวในปริมาณร้อยละ 78.1 โดยมีกรดโอเลอิกและกรดลิโนเลอิกเป็นองค์ประกอบหลัก และกรดไขมันอิ่มตัวร้อยละ 21.9 ซึ่งประกอบด้วยกรดปาล์มิติกและกรดสเตียริก ปริมาณไขมันในเมล็ดสบู่ดำและองค์ประกอบของกรดไขมันแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของเมล็ดสบู่ดำในการผลิตไบโอดีเซล นอกจากนี้เมล็ดสบู่ดำยังแตกต่างจากพืชน้ำมันชนิดอื่นๆ คือน้ำมันจากเมล็ดสบู่ดำมีสารพิษประเภท curcine หรือ curcasin อยู่ ทำให้ไม่สามารถใช้ในการบริโภคได้ การใช้น้ำมันสบู่ดำผลิตไบโอดีเซลจึงไม่มีผลกระทบในด้านการแย่งชิงวัตถุดิบจากน้ำมันพืชที่ใช้ในการบริโภค

       เนื่องจากน้ำมันจากสบู่ดำมีความหนืดสูงกว่าน้ำมันดีเซลมากและมีคุณภาพของการเป็นเชื้อเพลิงต่ำหรือมีค่าซีเทนต่ำ ในการใช้น้ำมันสกัดที่ได้จากสบู่ดำเพื่อทำเป็นเชื้อเพลิงจึงจำเป็นต้องนำน้ำมันที่สกัดได้มาผ่านกระบวนการทรานสเอสเทอริฟิเคชั่น (transesterification) ด้วยเอทานอลหรือเมทานอล และโซเดียมหรือโพแทสเซียมไฮดรอกไซด์ เพื่อให้ได้สารประกอบเอสเทอร์ที่มีสมบัติใกล้เคียงกันกับน้ำมันดีเซล เมทิลเอสเทอร์ที่ได้จากงานวิจัยนี้มีความหนืดที่ต่ำกว่าน้ำมันสบู่ดำเริ่มต้นที่อุณหภูมิเดียวกันประมาณ 10 เท่า และมีสมบัติทางเคมีฟิสิกส์อยู่ในช่วงมาตรฐานของไบโอดีเซล ซึ่งแสดงถึงความเป็นไปได้ในการใช้เมทิลเอสเทอร์จากน้ำมันสบู่ดำเพื่อทดแทนน้ำมันดีเซล

       การศึกษาและงานวิจัยก่อนหน้านี้แสดงให้เห็นว่าผลผลิตสบู่ดำในประเทศไทยนั้นยังไม่มีศักยภาพเพียงพอต่อการผลิตไบโอดีเซล เนื่องจากประเทศไทยยังไม่มีการส่งเสริมการปลูกต้นสบู่ดำในเชิงพานิชย์ ทำให้มีเมล็ดสบู่ดำไม่เพียงพอต่อการสกัดน้ำมัน อย่างไรก็ตามต้นสบู่ดำยังมีประโยชน์อื่นๆ อีกมากมายนอกเหนือไปจากน้ำมันที่สกัดได้ จึงควรส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกเป็นพืชแซมตามไร่นา รวมทั้งส่งเสริมให้เกษตรกรได้มีพลังงานอย่างง่ายไว้ใช้เอง ซึ่งจะเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรอีกทางหนึ่ง ในปัจจุบันนี้มีการใช้สบู่ดำกันมากขึ้นในหลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทยเองก็เริ่มมีการนำเข้ามาปลูกโดยเฉพาะทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และมีแนวความคิดในการใช้เป็นพืชทดแทนพลังงานเพื่อสร้างพลังงานทางเลือกในยามที่เกิดวิกฤตพลังงาน

1สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตผลทางการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
2ภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
3Centre de coopération internationale en recherche agronomique pour le développement (CIRAD)