การย้อมสีไหมให้ทนต่อการซักในหัตถอุตสาหกรรม
(Silk dyeing for good wash fastness in cottage level)


สุชาดา อุชชิน1 รังสิมา ชลคุป1
วนิดา ผาสุขดี1 และ ธีรดล รุ่งเรืองกิจไกร2


      คุณภาพผ้าไหมไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งผ้าไหมหัตถอุตสาหกรรมจำเป็นต้องปรับปรุงวิธีการย้อมสีให้มีความคงทนต่อการซักฟอก ซึ่งเป็นปัญหาที่มีความสำคัญต่อการยกระดับคุณภาพของงานฝีมืออันเป็นเอกลักษณ์ของไทย และเพื่อเพิ่มศักยภาพในการใช้ผ้าไหม ในประเทศและการส่งออกไปตลาดต่างประเทศอีกด้วย จากการนำตัวอย่างผ้าไหมย้อมสีเคมีจาก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ ภาคกลาง และ ภาคตะวันออกของประเทศไทย จำนวน 139 ตัวอย่าง มาทดสอบการคงทนของสีต่อการซักฟอกตามมาตรฐาน ผลิตภัณฑ์ อุตสาหกรรม 121 เล่ม 3 โดยกำหนดให้ต้มผ้าไหมด้วยน้ำสบู่มาตรฐานเข้มข้น 0.5% ที่ 40 °C30 นาทีหลังการทดสอบครั้งนี้พบว่า มีผ้าไหม ที่มีความคงทนต่อการซักระดับดีมาก (คะแนน = 5) มีเพียงจำนวน 8.63 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

      ปัญหาสีตกในผ้าไหมสรุปได้จากหลายสาเหตุ เช่น ความกระด้างของน้ำที่ใช้ การลอกกาวและฟอกขาวไม่เพียงพอทำให้เส้นไหมมีกาว เซริซินตกค้าง การใช้สีราคาถูก เสื่อมคุณภาพ มีกรรมวิธีการย้อมไม่เหมาะสม อุณหภูมิในหม้อย้อมไม่สม่ำเสมอ และ การใช้สีซึ่งมีความคงทน ของสีต่อการซักฟอกต่ำเช่นสีไดแรกท์ เป็นต้น สำหรับสีแอซิดซึ่งเป็นสีที่นิยมใช้ย้อมไหม หากมีการนำผ้าไหมที่ผ่านการย้อมสีแอซิด แล้วมาผ่านกรรมวิธีการต้มสบู่ (soaping)และการผนึกสี (fixation) จะมีผลช่วยทำให้สีย้อมมีความคงทนต่อการซักฟอกเพิ่มขึ้นได้ ส่วนสีรีแอคทีฟเป็นสีที่ให้ความคงทนต่อการซักฟอกดีมากแต่มีราคาแพงและมีขั้นตอนการย้อมมากกว่าการย้อมด้วยสีแอซิค ดังนั้น งานวิจัยนี้จึงได้ทำการศึกษาสภาวะการลอกกาว การย้อมสีไหมด้วยสีแอซิคและสีรีแอคทีฟ เพื่อให้เป็นทางเลือกที่เพื่อเผยแพร่สู่กลุ่มหัตถอุตสาหกรรมไหมไทยเป็นการต่อไป

      ในการศึกษาสภาวะเหมาะสมในการลอกกาวเซริซิน (degumming)ในไหมขาวซึ่งมีปริมาณกาวเซริซิน(sericin) เริ่มต้นที่ 23-25 % โดยการทดลองได้ผันแปร อุณหภูมิการลอกกาว (80, 85, 90, 95°C) ปริมาณของด่างโซเดียมคาร์บอเนต (0.5, 1, 1.5 กรัมต่อ ลิตร) เวลาในการลอกกาว (30, 45, 60 นาที) และอัตราส่วนของสารละลายต่อไหม (20:1, 30:1) แล้วทำการวัดค่าปริมาณเซริซินที่เหลืออยู่ในเส้นไหม และปริมาณผลผลิต(% yield) พบว่าสภาวะที่เหมาะสมในการลอกกาวเซริซินในไหมขาวคือ การใช้สบู่ที่ 5 กรัมต่อลิตร โซเดียมคาร์บอเนต 1 กรัมต่อลิตร ที่อุณหภูมิ 85-90 °C60 นาที และอัตราส่วนของน้ำต่อเส้นไหมเป็น 20 : 1 และสภาวะนี้สามารถลดปริมาณกาวเซริซินเหลือเพียง 0.48%

      สำหรับการศึกษาสภาวะเหมาะสมในการย้อมสีไหมการย้อมด้วยสีแอซิค โดยการทดลองมีการผันแปรขั้นตอนการย้อมดังนี้ คือ ปริมาณเกลือกลอเบอร์ (0, 2, 4, 6, 10%) ปริมาณกรดอะซิติกที่ใช้เพื่อปรับให้สภาวะการย้อมเป็นกรด (0.3, 0.6, 0.9, 1.2 มิลลิลิตรต่อลิตร) อุณหภูมิ (85, 90, 95°C) และเวลาที่ใช้ย้อม(30, 45, 60, 75 นาที) สำหรับขั้นการต้มด้วยสบู่(soaping)ปัจจัยท ี่ผันแปร คือ ปริมาณสบู่ (2 กรัมต่อลิตร)และชนิดของสบู่ที่ใช้ (สบู่ 1, สบู่ 2, สบู่ 3) และสำหรับขั้นการผนึกสี(fixation) ปัจจัยผัน แปร คือปริมาณสารยึดติดสี (fixing agent) (1, 2, 3, 4, 5%) และการทดลองนี้ไม่ได้ผันแปรสารช่วยหน่วง (levelingagent)จากการทดลองนี้พบว่า สภาวะที่เหมาะสมในการย้อมสีแอซิดที่ความเข้มข้น 1%ของงานหัตถอุตสาหกรรมคือการใช้เกลือกลอเบอร์ 6 กรัมต่อลิตร และสารช่วยหน่วง 1% ปรับค่าความเป็นกรดด่างด้วยกรด อะซิติก 0.9กรัมต่อลิตร อุณหภูมิ 90 °C75 นาที อัตราส่วนของของเหลวต่อเส้นไหมที่ 20 ต่อ 1 แล้วทำการต้ม(soaping)ด้วยสบู่ 2 กรัมต่อ ลิตรที่ 60 °C20 นาที โดยชนิดของสบู่ไม่มีผลต่อการต้ม และทำการผนึกสีโดยแช่ในสารผนึกสี3% นาน 30 นาที ซึ่งมีผลทำให้สีย้อมของ ไหม ที่ได้มีความคงทนต่อการซักในระดับดี คือที่คะแนน 4/5 และมีสีตกในน้ำซักเล็กน้อย

     ส่วนการศึกษาสภาวะการย้อมสีไหมที่เหมาะสมด้วยสีรีแอคทีฟ โดยมีการแปรปริมาณเกลือชนิดกลอเบอร์(40, 50, 60 กรัมต่อ ลิตร) ปริมาณด่าง โซเดียมคาร์บอเนตสำหรับปรับสภาวะการย้อมให้เป็นด่าง (4, 5, 6 กรัมต่อลิตร) อุณหภูมิ (40, 50, 60°C) และเวลาในการย้อมส ี (60, 120, 180 นาที) พบว่า สภาวะที่เหมาะสมในการย้อมสีรีแอคทีฟที่ความเข้มข้น 1% ของงานหัตถอุตสาหกรรม คือ การย้อมที่อุณหภูมิ 50 °Cโดยใช้เวลาในการย้อมนาน 60 นาที ปริมาณเกลือ 40 กรัมต่อลิตร และ ปริมาณด่าง 4 กรัมต่อลิตร(แบ่งใส่ 2 ครั้ง) ที่อัตราส่วนของของเหลวต่อเส้นไหมที่ 20 : 1มีผลทำให้สีย้อมของไหมมีความคงทนต่อการซักฟอกระดับดีมาก คือที่คะแนน 5 และสีไม่ตกในน้ำซัก

 
1งานเทคโนโลยีสิ่งทอ ฝ่ายเทคโนโลยีเส้นใยธรรมชาติ สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตผลทางการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จตุจักร กทม. 10903
2 ภาควิชาวิทยาการสิ่งทอ คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จตุจักร กทม. 10903