การถ่ายทอดเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเพื่ออุตสาหกรรมการผลิตพืช
(Technology Transfer Of Plant Tissue Culture For Industrial Plant Production)


วิลาสินี โคกลือชา1ยุพา มงคลสุข1วราลักษณ์ รักษ์แดง1
กัลยาณี สามิภักดิ์1พนิดา วงษ์แหวน1 และ เจษฎา วงค์พรหม1
Wilasinee Kokluecha1 , Yupa Mongkolsook1 , Waralak Rakdang1 ,
Kanyanee Samiphak1, Panida Wongwean1and Jetsada Wongprom1


      การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเป็นวิธีการขยายพันธุ์พืชที่สามารถเพิ่มปริมาณต้นพันธุ์พืชได้จำนวนมากในระยะเวลาอันรวดเร็ว ต้นที่ได้ตรงต่อสายพันธุ์ ปราศจากโรค อีกทั้งยังสามารถกำหนดระยะเวลาการเก็บเกี่ยวผลผลิตที่แน่นอนได้ ปัจจุบันจึงนิยมนำวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชมาใช้ในการขยายพันธุ์พืชที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจที่ประสบปัญหาทางด้านการขยายพันธุ์หลายชนิด เช่น พืชซึ่งไม่สามารถเพาะเมล็ดได้ด้วยวิธีธรรมชาติ ไม้ดอกไม้ประดับที่มีราคาแพงแต่ขยายพันธุ์ได้ช้า ไม้ผลที่มีการปลูกในระดับอุตสาหกรรมและต้องการต้นพันธุ์จำนวนมาก แต่มีจำนวนต้นแม่พันธุ์ดีอยู่น้อย พืชสมุนไพรที่หายากและกำลังสูญพันธุ์ หรือไม้สำหรับปลูกป่าที่ต้องการต้นพันธุ์สำหรับปลูกในพื้นที่จำนวนมาก เป็นต้น

      ดังนั้นสถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตผลทางการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร จึงเห็นสมควรจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่องการถ่ายทอดเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเพื่ออุตสาหกรรมการผลิตพืชประจำปี 2548โดยโครงการนี้ได้รับทุนอุดหนุนวิจัย จากสถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อเผยแพร่และถ่ายทอดเทคโนโลยีเกี่ยวกับการผลิตพืชแบบอุตสาหกรรมด้วยวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชไปสู่เกษตรกรและผู้ที่สนใจ เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาการปลิตผลิตผลทางการเกษตรให้ได้คุณภาพและมีมาตรฐานเป็นสากลต่อไป

      การฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่องการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชเพื่ออุตสาหกรรมการผลิตพืช ได้ดำเนินการจัดฝึกอบรมทั้งสิ้น 3 รุ่น รุ่นละ 3 วัน มีผู้เข้ารับการฝึกอบรม 55 คน

      โดยวันที่ 1 เป็นการบรรยายหัวข้อความหมายและประโยชน์ของการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช เทคนิคต่างๆ ในการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช และการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชกลุ่มไม้ดอก ไม้ประดับ และไม้ผล

      ส่วนในวันที่ 2 และ 3 ผู้เข้าอบรมได้เรียนรู้หลักการจัดตั้งห้องปฏิบัติการ อุปกรณ์ในห้องปฏิบัติการ การเตรียมอาหารสังเคราะห์ที่ใช้ในการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช เทคนิคการฟอกฆ่าเชื้อ การเพาะเลี้ยงส่วนต่างๆ ของพืช การขยายพันธุ์พืช และการย้ายปลูกต้นพืชที่ได้จากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อออกสู่สภาพธรรมชาติ

 
1สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตผลทางการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร
1Kasetsart Agricultural and Agro-Industrial Product Improvement Institute, Kasetsart University