การศึกษาและพัฒนาวัสดุก่อสร้างที่รักษาสิ่งแวดล้อม (Research and Development of Environmental Responsible Building Material)
พาสินี สุนากร คณะสถาปัตยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ความสำคัญ ที่มาของปัญหาที่ทำการวิจัย ในประเทศไทยปัจจุบัน วัสดุก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมีอยู่ปริมาณน้อยมาก วงการก่อสร้างพึ่งพาวัสดุก่อสร้างที่มีให้เลือกอย่างจำกัดในท้องตลาด ซึ่งสร้างมลภาวะในการผลิตเป็นส่วนใหญ่ สิ้นเปลืองพลังงานในการผลิต อีกทั้งอาจมีสารที่มีพิษต่อสุขภาพเมื่อเข้าอยู่อาศัย หรือมีการนำเข้ามาจากต่างประเทศ ด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงควรมีการศึกษาแนวทางเพื่อการพัฒนาวัสดุก่อสร้างอาคารจากทรัพยากรและวัตถุดิบในประเทศ ที่สามารถสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีในการอยู่อาศัย ลดการใช้พลังงานในอาคาร ไม่ก่อผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมและเกิดนวัตกรรมใหม่ที่สามารถสร้างเป็นผลิตภัณฑ์วัสดุก่อสร้างแบบอย่างไทย เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับประเทศต่อไป คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ และคณะวนศาสตร์ ได้ดำเนินการวิจัยร่วมกันในโครงการวิจัยเพื่อพัฒนาวัสดุก่อสร้างบ้านเอื้ออาทร ซึ่งมีวัสดุก่อสร้างเดิมที่ค่อนข้างสมบูรณ์ ผ่านการทดสอบมาตรฐานแล้ว และต้องการพัฒนาต่อเพื่อให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น รวมทั้งยังมีวัสดุที่อยู่ระหว่างการพัฒนาร่วมกันระหว่างนิสิตคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และคณะวนศาตร์ อีกทั้งมีการออกแบบเพื่อประยุกต์นำมาใช้เป็นส่วนของอาคารหรือผลิตภัณฑ์ประกอบอาคาร ซึ่งมองเห็นแนวทางที่จะขยายวงการพัฒนาต่อไปได้อีกเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ โดยอาศัยฐานการวิจัยของทั้ง 2 ฝ่ายที่เริ่มดำเนินการไปบ้างแล้ว และสามารถพัฒนาต่อไปเป็นศูนย์วิจัยเชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านวัสดุก่อสร้างที่รักษาสิ่งแวดล้อมได้ในอนาคต วัตถุประสงค์ 1. เพื่อศึกษาและรวบรวมฐานข้อมูลวัสดุก่อสร้างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีอยู่แล้วในปัจจุบัน 2. เพื่อวิจัยและพัฒนาวัสดุก่อสร้างประเภทใหม่ที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด 3. เพื่อศึกษาและประยุกต์ใช้วัสดุก่อสร้างดังกล่าวในส่วนต่าง ๆ ของอาคาร รวมไปถึงผลิตภัณฑ์ประกอบอาคาร 4. เพื่อศึกษาและทดสอบประสิทธิภาพของวัสดุกรณีศึกษาด้านการประหยัดพลังงาน คุณภาพอากาศในอาคารและดัชนีที่เกี่ยวข้องกับสภาวะน่าสบายของผู้ใช้อาคาร 5. เพื่อเผยแพร่แนวทางการใช้งานวัสดุกรณีศึกษาสู่สาธารณะและประยุกต์ใช้กับภาคธุรกิจเอกชน วิธีวิจัย 1. ค้นคว้าและจัดทำฐานข้อมูลวัสดุก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและผู้ใช้อาคาร ทั้งจากต่างประเทศและในประเทศ 2. วิจัยค้นคว้าวัสดุก่อสร้างประเภทใหม่และพัฒนาให้มีคุณภาพเหมาะสมกับการใช้งานยิ่งขึ้น 3. พัฒนาวัสดุก่อสร้างดังกล่าวและประยุกต์ใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของอาคาร ได้แก่ ผนังภายนอก หลังคาฝ้าเพดาน เครื่องเรือน และผลิตภัณฑ์ เพื่อใช้เป็นกรณีศึกษา 4. จัดทำหน่วยทดลองเพื่อติดตั้งวัสดุกรณีศึกษาดังกล่าวในส่วนต่าง ๆ ขององค์ประกอบอาคารที่ต้องการ ทดสอบ 5. ทดสอบประสิทธิภาพการใช้งานของวัสดุด้านการถ่ายเทความร้อน สภาวะน่าสบายของมนุษย์ และคุณภาพอากาศในอาคารจากการติดตั้งวัสดุในหน่วยทดลอง 6. เพื่อเผยแพร่แนวทางการประยุกต์ใช้งานสู่สาธารณะและภาคธุรกิจเอกชนต่อไป ประโยชน์ที่ได้รับ 1. สร้างฐานข้อมูลวัสดุก่อสร้างที่รักษาสิ่งแวดล้อมและเป็นมิตรกับผู้ใช้อาคาร 2. ก่อให้เกิดวัสดุก่อสร้างใหม่ เพื่อนำไปประยุกต์ใช้กับส่วนประกอบต่าง ๆ ในอาคาร อย่างน้อย 2 ชิ้นต่อปี 3. ผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากการประยุกต์ใช้วัสดุอย่างน้อย 5 ชิ้นต่อปี 4. สามารถบ่งชี้ประสิทธิภาพด้านการใช้งาน คุณภาพอากาศในอาคารและดัชนีที่เกี่ยวข้องกับสภาวะน่าสบายของผู้ใช้อาคาร 5. สามารถเผยแพร่วัสดุและแนวทางการประยุกต์ใช้งานวัสดุกรณีศึกษาสู่สาธารณะและการใช้งานภาคธุรกิจเอกชน 6. สามารถสร้างรายได้จากการขายผลิตภัณฑ์ หรือลิขสิทธิ์ผลิตภัณฑ์ 7. สามารถพัฒนาต่อไปเป็นศูนย์วิจัยเชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านวัสดุก่อสร้างที่รักษาสิ่งแวดล้อมได้ในอนาคต