ระบบป้องกันการโจรกรรมยานพาหนะในที่จอดรถ
(Anti-Thief Parking System)


มงคล รักษาพัชรวงศ์
ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

      ปัญหาในการโจรกรรมยานพาหนะเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อสังคมในหลายๆ ด้านไม่ว่าในด้านทรัพย์สินส่วนบุคคล คุณภาพชีวิตของคน รวมถึงอาชญากรรมซึ่งนำไปสู่การสูญเสียทรัพยากรต่างๆ อาทิเช่น ค่าใช้จ่ายที่ต้องติดตามจับคนร้าย ภาพลักษณ์ที่มีต่อประเทศ เป็นต้น และระบบการป้องกันในปัจจุบันก็ไม่สามารถป้องกันการโจรกรรมในบริเวณที่จอดรถต่าง ๆได้ โดยจะเห็นได้ตามหน้าหนังสือพิมพ์ หรือตามข่าวทั่วไปในทีวี โดยจุดอ่อนของระบบในปัจจุบันที่จะเห็นได้ชัดเจนก็คือ การที่ไม่สามารถยืนยันได้ว่าผู้ที่นำรถออกไปนั้นเป็นเจ้าของรถจริงๆ หรือไม่ และบางครั้งเจ้าหน้าที่ประจำทางออกก็ไม่ได้ตรวจสอบว่าบัตรที่รับมาเป็นบัตรที่ใช้สำหรับการจอดรถหรือไม่

      ดังนั้นเพื่อเป็นการแก้ปัญหาอย่างเบ็ดเสร็จ คณะผู้วิจัยได้มีแนวคิดที่จะนำการป้องกันด้วยการยืนยันตัวบุคคล (Personal Identifications) มาใช้ร่วมกับซอฟต์แวร์การจัดการที่มีประสิทธิภาพและระบบสื่อสารที่ปลอดภัยและรวดเร็วมาไว้ด้วยกันซึ่งเรียกว่า ระบบป้องกันการโจรกรรมยานพาหนะในที่จอดรถ (Anti-Thief Parking System) ตามรูปที่ 1



                     รูปที่ 1 แนวคิดในการป้องกันการโจรกรรมยานพาหนะในที่จอดรถ


      โดยจะใช้การตรวจสอบลายนิ้วมือและภาพจากกล้องดิจิตอลเพื่อตรวจสอบความเป็นเจ้าของยานพาหนะนั้นๆ ร่วมกับการตรวจสอบทะเบียนรถ เป็นการป้องกันความผิดพลาดอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งวิธีนี้จะช่วยลดปัญหาการโจรกรรมยานพาหนะได้อย่างมีประสิทธิภาพ และที่สำคัญระบบการป้องกันนี้พัฒนาโดยคนไทย และมีศักยภาพที่จะสามารถนำไปใช้งานในต่างประเทศได้ เป็นการนำรายได้เข้าสู่ประเทศ นอกจากนี้ยังเปลี่ยนบทบาทจาก “ ผู้ใช้เทคโนโลยี ” มาเป็น “ ผู้พัฒนาเทคโนโลยี ” เป็นการยกระดับประเทศไทยทางด้านการวิจัยและพัฒนาในเชิงวิศวกรรมให้สูงขึ้นอีกด้วย




              รูปที่ 2 ขั้นตอนของระบบป้องกันการโจรกรรมยานพาหนะในที่จอดรถ (ATPS)

 


      ขั้นตอนการทำงานที่แสดงดังรูปที่ 2 เป็นดังต่อไปนี้ เมื่อมียานพาหนะเข้ามาที่ทางเข้าของบริเวณที่จอดรถ เจ้าหน้าที่จะบันทึกทะเบียนรถ และภาพผ่านทางกล้องดิจิตอล และเจ้าของรถจะทำการบันทึกลายนิ้วมือ ซึ่งข้อมูลทั้งสามอย่างนี้จะถูกส่งเข้าไปเก็บเป็นฐานข้อมูลที่เครื่องควบคุม (Server) สำหรับตรวจสอบต่อไป และเมื่อยานพาหนะออกจากบริเวณที่จอดรถ เจ้าของรถจะต้องพิมพ์ลายนิ้วมือกับเครื่องอ่านลายนิ้วมือ โดยลายนิ้วมือนี้จะไปตรวจสอบในฐานข้อมูลว่ามีอยู่หรือไม่ ถ้าพบลายนิ้วมือในฐานข้อมูล ระบบจะส่งข้อมูลอื่นๆ ที่จำเป็นต่อการตรวจสอบให้แก่เจ้าหน้าที่ฝั่งขาออก จากนั้นเจ้าหน้าที่จะทำการตรวจสอบภาพถ่ายและทะเบียนรถว่าถูกต้องหรือไม่ (ถ้าภาพถ่ายไม่ตรงกันก็ไม่สามารถนำยานพาหนะออกจากบริเวณนั้นได้) และก็จะคิดค่าจอดรถในกรณีที่ต้องเสียค่าบริการ และอีกกรณีหนึ่งถ้าไม่พบลายนิ้วมือในฐานข้อมูล เจ้าหน้าที่จะทำการตรวจสอบทะเบียนรถกับภาพถ่ายอย่างเดียว เป็นการป้องกันการเกิดความผิดพลาดในการค้นหาข้อมูลในฐานข้อมูล ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นได้ ถึงแม้ว่าจะมีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยมาก

      นอกเหนือจากการนำแนวความคิดไปใช้งานในระบบป้องกันการโจรกรรมในบริเวณจอดรถแล้ว ยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในงานต่างๆ ได้ อาทิเช่น ระบบการเข้า-ออกประตูห้องในตัวอาคาร การทดแทนรหัสสำหรับสำหรับใช้งานตู้นิรภัย การจำกัดการใช้งานคอมพิเตอร์ เป็นต้น โดยใช้หลักการที่ว่าลายนิ้วมือของแต่ละบุคคลจะไม่ซ้ำกัน ทำให้สามารถนำไปใช้งานแทนรหัสผ่านได้ อีกทั้งยังสะดวกต่อการใช้งาน เพียงนำนิ้วไปสัมผัสเครื่องอ่านลายนิ้วมือ และมีความปลอดภัยสูง ยากต่อการขโมยหรือลักลอบจดจำรหัสผ่านของผู้อื่น