เครือข่ายการประชุมอัจฉริยะไร้สายแบบดิจิตอล
(Digital Wireless Conference Network (DWCN))

 
มงคล รักษาพัชรวงศ์
ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
 

ทำไมต้องพัฒนาระบบการประชุมอัจฉริยะ

      ถ้าจะกล่าวถึงระบบการประชุมที่มีอยู่หลายประเภทตามลักษณะขององค์กรอาจกล่าวได้ดังนี้ องค์กรขนาดเล็กก็สามารถประชุมกันโดยใช้โต๊ะประชุมอย่างเดียว ไม่ต้องใช้อุปกรณ์ช่วยขยายเสียง เช่นไมโครโฟน ก็สามารถประชุมได้อย่างไม่มีอุปสรรค แต่ถ้าเป็นองค์กรขนาดกลางไปจนถึงขนาดใหญ่ที่มีจำนวนผู้เข้าประชุมหลายสิบคนหรือมีจำนวนไปถึงหลักร้อย อุปกรณ์ขยายเสียงจะมีความสำคัญขึ้นมาทันที
ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ในบางองค์กรที่มีขนาดใหญ่ก็จะมีไมโครโฟนแบบมีสายเป็นระบบ Analog ธรรมดา การติดตั้งไมโครโฟนหลายๆ ตัวในห้องประชุมเราต้องเดินสายไฟ ซึ่งถ้าสามารถสร้างระบบการประชุมแบบไร้สายได้ อย่างน้อยก็ช่วยตัดปัญหาการใช้สายไฟในปริมาณมาก นอกจากนี้ยังทำให้เกิดความสวยงาม สะอาดตาเป็นระเบียบ และยังสามารถเพิ่มความสะดวกให้กับระบบ เช่น สามารถเก็บข้อมูลของผู้เข้าประชุม การตรวจสอบผู้เข้าร่วมประชุม การลงคะแนนเสียงในที่ประชุม เป็นต้น ในปัจจุบันมีการพัฒนาระบบการประชุมเป็นแบบไร้สาย แต่ยังใช้กันไม่แพร่หลาย เนื่องจากมีเพราะราคาสูง งานวิจัยนี้ต้องการจะพัฒนาให้เป็นระบบการประชุมที่มีความยืดหยุ่นและมีความปลอดภัยปรับเปลี่ยนได้ตามความต้องการของผู้ใช้

จุดเด่นของระบบการประชุมอัจฉริยะ

      1. ลดค่าใช้จ่ายในการติดตั้งระบบไมโครโฟน ซึ่งระบบนี้ใช้คอมพิวเตอร์ซึ่งคาดว่ามีใช้อยู่แล้วในองค์กรแทน โดยระหว่างแต่ละเครื่องติดต่อสื่อสารกันผ่านเครือข่าย
      2. ระบบมีความยืดหยุ่นในการใช้งาน เนื่องจากสามารถโปรแกรมระบบให้มีความสามารถต่างๆ ที่อำนวยความสะดวกในการประชุม เช่น สามารถเก็บข้อมูลของผู้เข้าประชุม ตรวจสอบผู้เข้าร่วมประชุม การลงคะแนนเสียงในที่ประชุม มีการเรียงลำดับการพูด ในกรณีที่มีผู้เข้าประชุมประสงค์จะพูดพร้อมกัน เป็นต้น
      3. สะดวกในการใช้งาน เนื่องจากเป็นคอมพิวเตอร์ ในระหว่างการประชุมสามารถใช้งานอินเตอร์เน็ตเพื่อค้นหาข้อมูล หรือสามารถส่งไฟล์ข้อมูลให้กันภายในเครือข่ายได้ ส่วนการนำไปใช้เพียงแค่ลงซอฟท์แวร์นี้ก็สามารถใช้งานได้ทันที
      4. สามารถนำไปใช้ในการประชุมทางไกลได้ โดยติดต่อสื่อสารกันผ่านระบบอินเตอร์เน็ต

โครงสร้างของระบบการประชุมอัจฉริยะ

      1. ตัวควบคุมระบบ เป็นคอมพิวเตอร์ ซึ่งจะเก็บฐานข้อมูลของผู้เข้าร่วมประชุม โดยใช้ในการควบคุมการประชุม เช่น สามารถกำหนดว่าขณะนี้ให้ตัวลูกใดเป็นตัวพูด (เสียงจากตัวลูกออกลำโพงกลาง)
      2. ตัวลูก เป็นคอมพิวเตอร์ที่ใช้สำหรับผู้เข้าร่วมประชุม เมื่อเปิดโปรแกรมแล้วโปรแกรมสามารถเชื่อมต่อไปหาตัวควบคุมระบบได้โดยอัตโนมัติ จากนั้นผู้เข้าร่วมการประชุมต้องลงทะเบียนเพื่อเข้าประชุม เมื่อต้องการพูดผู้เข้าประชุมกดปุ่มร้องขอไปยังตัวควบคุมระบบ เมื่อถึงลำดับการพูดของคนนั้น ตัวควบคุมระบบจะส่งข้อความมาอนุญาต จึงจะสามารถพูดได้
      3. ระบบเครือข่าย เป็นเครือข่ายที่ใช้ในการติดต่อสื่อสารระหว่างเครื่องทั้งหมด ในกรณีที่เป็นเครือข่ายแบบ Wireless LAN ผู้เข้าร่วมประชุมอาจนำ Notebook มาใช้ในการประชุม ก็จะสะดวกในการติดตั้งและนำไปใช้



รูปที่ 1
การทำงานของระบบการประชุมอัจฉริยะ



      ในขณะนี้ระบบการประชุมอัจฉริยะได้ถูกพัฒนาซอฟต์แวร์สำหรับการดำเนินการประชุมได้โดยมีฟังก์ชั่นการตัดเสียงพูดผู้เข้าร่วมประชุมของประธานในที่ประชุม การจัดลำดับก่อนหลัง การอนุญาต/ไม่อนุญาติให้พูด รองรับการทำงานได้มากกว่า 20 คน และมีความสามารถในการเก็บข้อมูลต่างๆ และตรวจสอบการเข้าร่วมของผู้เข้าประชุม การลงคะแนนเสียง รวมถึงการส่งไฟล์ข้อมูลแสดงบนหน้าจอ และส่งข้อความถึงกันระหว่างผู้เข้าร่วมประชุมได้ โดยทั้งหมดได้ถูกพัฒนาด้วยโปรแกรม Virtual Basic และ ActiveX นับว่าสามารถนำไปใช้งานได้จริง และในอนาคตอันใกล้นี้จะพัฒนาเป็นฮารด์แวร์ระบบฝังตัว (Embedded System) โดยจะเพิ่มเติมการตรวจสอบลายนิ้วมือ (Figure-Print Identification) เพื่อยืนยันตัวบุคคล มีการเข้ารหัสความปลอดภัย สะดวกในการติดตั้ง และขยายระบบภายหลังได้ง่าย มีความสามารถในการพัฒนาให้เป็นผลิตภัณท์เชิงพาณิชย์ เพื่อจะนำไปแข่งขันในตลาดได้ทั้งภายในและภายนอกประเทศ ซึ่งถือว่าเป็นการลดการนำเข้าและเพิ่มการส่งออกสินค้า นำรายได้เข้าสู่ประเทศอีกทางหนึ่ง อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มศักยภาพของประเทศไทยทางด้านการวิจัยและพัฒนาในเชิงวิศวกรรมให้สูงขึ้นด้วย