การจัดการมูลฝอยโดยวิธีฝังกลบแบบยั่งยืนในภาคพื้นเอเชีย
Sustainable Solid Waste Landfill Management in Asia

 

ชาติ เจียมไชยศรี ,วิไล เจียมไชยศรี และทิพย์สุรีย์ กรบุญรักษา
ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

 
      ปัจจุบันเทคโนโลยีการกำจัดมูลฝอยมีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการฝังกลบมูลฝอย ซึ่งเป็นที่นิยมใช้ในการกำจัดมูลฝอยในหลายประเทศทั่วโลก อย่างไรก็ตาม ปัญหาในการฝังกลบมูลฝอยในประเทศที่กำลังพัฒนายังคงมีอยู่มาก เนื่องมาจากข้อจำกัดต่างๆ ทั้งในด้านการขาดแคลนงบประมาณ บุคลากร รวมทั้งวิธีการหรือเทคโลยีที่เหมาะสมเพื่อนำมาใช้ในการปรับปรุงวิธีการดำเนินการของระบบฝังกลบมูลฝอย ดังนั้น การถ่ายทอดแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการจัดการมูลฝอยระหว่างประเทศต่างๆ ในภาคพื้นเอเชียจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง องค์กร Swedish International Development Cooperation Agency (SIDA) แห่งประเทศสวีเดน ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาระบบการจัดการมูลฝอยอย่างยั่งยืน จึงได้สนับสนุนทุนอุดหนุนวิจัยเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีด้านสิ่งแวดล้อมผ่านสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชียในโครงการ Asian Regional Research Program on Environmental Technology (ARRPET) โดยได้รับความร่วมมือจากประเทศสมาชิกกลุ่มวิจัย ได้แก่ ประเทศจีน อินเดีย ศรีลังกาและประเทศไทย แสดงดังภาพที่ 1

 


ภาพที่ 1 แสดงเครือข่ายความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกกลุ่มวิจัย

      สำหรับประเทศไทยนั้น ทุนสนับสนุนงานวิจัยได้มอบหมายผ่านทางภาควิชา วิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อเข้าร่วมกลุ่มวิจัยเรื่องการจัดการมูลฝอยโดยวิธีฝังกลบแบบยั่งยืนในภาคพื้นเอเชีย จากการดำเนินการที่ผ่านมา (พ.ศ. 2544-2547) ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมฯ มีผลงานวิจัยที่แล้วเสร็จดังนี้

1. การศึกษาอัตราการระบายก๊าซมีเทนจากพื้นที่หลุมฝังกลบมูลฝอยและกองมูลฝอยเปิด
( Study of Methane Emission from Landfill and Open Dumpsite )


      งานวิจัยนี้ศึกษาถึงอัตราการแพร่ระบายของก๊าซมีเทนจากชั้นดินกลบทับมูลฝอยชุมชนเทศบาลนครนครปฐม และเปรียบเทียบอัตราการแพร่ระบายจากชั้นดินกลบทับมูลฝอยจำลองของดินเหนียวและดินร่วนปนทรายที่กองมูลฝอยเปิดขององค์การบริหารส่วนจังหวัดนนทบุรี ผลวัดอัตราการแพร่ระบายก๊าซมีเทนบนพื้นที่ฝังกลบมูลฝอยของเทศบาลนครนครปฐม มีอัตราแพร่ระบายสูงสุดในฤดูฝนและฤดูร้อนเท่ากับ 23.47 และ 0.87 กรัมต่อตารางเมตรต่อวันตามลำดับ ส่วนผลวัดอัตราการแพร่ระบายก๊าซมีเทนเฉลี่ยสูงสุดจากหน้าดินกลบทับจำลอง ได้แก่ ดินเหนียวและดินร่วนปนทรายในพื้นที่กองมูลฝอยเปิดเท่ากับ 13.26 และ 1.19 กรัมต่อตารางเมตรต่อวัน ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบกับการแพร่ระบายจากกองมูลฝอยเปิดมีค่าเฉลี่ยสูงสุด เท่ากับ 40.05 กรัมต่อตารางเมตรต่อวัน สามารถสรุปได้ว่าดินทั้งสองชนิด สามารถลดการแพร่ระบายก๊าซมีเทนได้เป็นอย่างดี

2. การลดอัตราการแพร่ระบายก๊าซมีเทนโดยใช้หน้าดินที่มีการปลูกพืชและการรดน้ำชะมูลฝอย (Minimization of Methane Emission from Waste Disposal Site by Vegetated Cover Soil and Leachate Irrigation)


      งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาอิทธิพลของน้ำชะมูลฝอยต่อการเจริญเติบโตของพืช และศึกษาอิทธิพลของพืชและน้ำชะมูลฝอยต่อปฏิกิริยาออกซิเดชั่นของก๊าซมีเทนในหน้าดินกลบทับมูลฝอยชุมชนจำลองจากการศึกษาอิทธิพลของน้ำชะมูลฝอยที่มีความเข้มข้นของซีโอดีแตกต่างกันคือ 1770, 3540, 8850 และ 17700 มิลลิกรัมต่อลิตรต่อการเจริญเติบโตของหญ้าสามชนิด ได้แก่ P. purpureum,C. plectostachyus และ C. dactylon พบว่าหญ้าทั้งสามชนิดสามารถเจริญเติบโตและรอดชีวิตได้ดีที่สุดเมื่อรดด้วยน้ำชะมูลฝอยความเข้มข้นของซีโอดีเท่ากับ 1,770 มิลลิกรัมต่อลิตร ส่วนการศึกษาปฏิกิริยาออกซิเดชั่นของก๊าซมีเทนในหน้าดินกลบทับมูลฝอยชุมชนจำลอง พบว่าการปลูกหญ้า C. dactylon หรือรดน้ำชะมูลฝอยอย่างใดอย่างหนึ่งช่วยเพิ่มอัตราออกซิเดชั่นของก๊าซมีเทนได้ดีกว่ากรณีที่รดน้ำฝนอย่างเดียว

3. การเร่งอัตราการย่อยสลายมูลฝอยในหลุมฝังกลบโดยวิธีควบคุมความชื้น (Acceleration of Waste Biodegradation in Landfill by Moisture Landfill Control Technique)

      การวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของวิธีควบคุมความชื้นต่อการเร่งปฏิกิริยาการย่อยสลายมูลฝอยชุมชน สมดุลของน้ำและการชะละลายสารอินทรีย์จากมูลฝอยในพื้นที่ฝังกลบ การศึกษาแบ่งเป็น 2 ช่วง คือ จำลองช่วงฤดูฝนและฤดูร้อน รวมทั้งสิ้น 319 วัน พบว่า การหมุนเวียนน้ำชะมูลฝอย 1 ครั้ง/สัปดาห์ร่วมกับการเก็บกักน้ำชะมูลฝอยในแบบจำลองฝังกลบมูลฝอยที่ระดับ 50% ของความสูงชั้นมูลฝอย สามารถรักษาระดับความชื้นในมูลฝอยที่ด้านบนของการฝังกลบให้ค่อนข้างคงที่และมูลฝอยมีค่าความชื้นสูงที่สุด และเร่งปฏิกิริยาการย่อยสลาย ทำให้มีการลดลงของค่าความสกปรกในน้ำชะมูลฝอยเร็วที่สุดเนื่องจากเข้าสู่ช่วงของการผลิตก๊าซมีเทนได้เร็ว โดยใช้เวลา 190 วัน ของการหมัก