นาโนเทคโนโลยี
(Nanotechnology)


จำรัส ลิ้มตระกูล
ภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ และ
ศูนย์นาโนเทคโนโลยี สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

      นาโนเทคโนโลยี (Nanotechnology) คือ การสร้าง และการประยุกต์ใช้งาน วัสดุ อุปกรณ์ และระบบ โดยการควบคุมโครงสร้างในระดับนาโนเมตรซึ่งเป็นขนาดที่ใกล้เคียงกับขนาดของอะตอมหรือโมเลกุล จุดมุ่งหมายของนาโนเทคโนโลยี คือ การเรียนรู้สมบัติของสสารในระดับนาโนเมตร

       เพื่อนำไปสู่การออกแบบและการสร้างวัสดุหรืออุปกรณ์ขึ้นมาจากโครงสร้างพื้นฐานระดับอะตอมหรือโมเลกุล
นาโนเทคโนโลยีเป็นศาสตร์ที่กำลังได้รับความสนใจเป็นอย่างยิ่งและส่งผลกระทบโดยตรงต่อการศึกษาวิจัยในหลากหลายสาขา ทั้งสาขาเคมี ฟิสิกส์ เกษตรศาสตร์และชีววิทยา วัสดุและวิศวกรรมศาสตร์

      เป็นที่คาดกันว่านาโนเทคโนโลยีจะทำให้เกิดวิวัฒนาการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่สำคัญ เกิดนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์มากในทางธุรกิจและอุตสาหกรรมในอนาคต

       ผลงานวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์นาโน และนาโนเทคโนโลยี มุ่งเน้นกลุ่มวิจัยทางด้านคลัสเตอร์นาโนวัสดุ (Nanostructured and Nanoporous Materials Cluster), คลัสเตอร์นาโนไบโอเทคโนโลยี (Nanobiotechnology Cluster) และคลัสเตอร์นาโนอิเล็กทรอนิกส์ (Nano-electronics Cluster) โดยมีงานวิจัยหลักดังนี้

      1. การพัฒนาตัวเร่งปฏิกิริยา (Nanocatalyst Design) และตัวรองรับที่มีโครงสร้างระดับนาโนเมตร สำหรับกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

      2. การศึกษาโครงสร้างคาร์บอนนาโนทิวบ์ (Carbon Nanotubes) และปฏิกิริยา Bio/Organic Functionalization ของคาร์บอนนาโนทิวบ์ และการปรับปรุงสมบัติทางเคมีและกายภาพคาร์บอนนาโนทิวบ์

      3. การออกแบบและการศึกษาสมบัติทางโครงสร้างอิเล็กทรอนิกส์ของเซรามิกส์อิเล็กทรอนิกส์และพอลิเมอร์อิเล็กทรอนิกส์

      4. การศึกษาโครงสร้างและอันตรกิริยาระหว่างสารชีวโมเลกุลเพื่อออกแบบโมเลกุลยาและผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง

       ผลงานวิจัยทางด้าน Nanoporous Materials และ Heterogeneous Nanocatalysis โดยเฉพาะตัวเร่งปฏิกิริยาเคมีที่ค้นพบ ตลอดจนผลงานวิจัยเกี่ยวกับโครงสร้างและกลไกการทำงาน และสมบัติการเป็นตัวเร่งปฏิกิริยานั้นมีประโยชน์ต่อกระบวนการเร่งปฏิกิริยา ซึ่งมีความสำคัญในวงการเคมีและอุตสาหกรรมปิโตรเลียม ผลงานเหล่านั้นได้รับการตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติชั้นนำ เช่น Journal of Catalysis, Chemical Physics Letters, Chemical Physics, Journal of Physical Chemistry ซึ่งได้รับการอ้างอิงและนำไปประยุกต์ใช้โดยกลุ่มนักวิจัยจากสถาบันชั้นนำกลุ่มนักวิจัยในต่างประเทศ อาทิ

      1. Chemical Engineering Department (University of California, Berkeley),

      2. Department of Physics (Harvard University)

      3. Chemical Engineering Department (Massachusetts Institute of Technology),

      4. Cavendish Laboratory (University of Cambridge),

      5. Imperial College Science Technology and Medicine (University of London),

      6. Davy Faraday Research Laboratory (Royal Institute of Great Britain),

      7. Max Planck Institute (Germany) และ Shell Laboratorium Amsterdam