การวิจัยและพัฒนาขมิ้นชันแบบครบวงจร
หน่วยปฏิบัติการวิจัยผลิตภัณฑ์ธรรมชาติและเคมีอินทรีย์สังเคราะห์ (NPOS)


งามผ่อง คงคาทิพย์
ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์


      ขมิ้นชัน นับเป็นพืชสมุนไพรที่คนไทยรู้จักดีพืชหนึ่ง เพราะได้มีการใช้อย่างแพร่หลายโดยเฉพาะในส่วนของเหง้า มีการนำไปใช้เป็นส่วนผสมในอาหาร และเป็นยาแผนโบราณ นอกจากนั้นยังมีการผสมลงในเครื่องสำอางบางประเภท เนื่องจากขมิ้นชันเป็นพืชที่ปลูกง่ายในทุกพื้นที่ของประเทศ จึงมีการปลูกเป็นการค้าอยู่หลายแห่ง

       เมื่อเร็วๆ นี้ ขมิ้นชันได้รับความสนใจมากเนื่องจากกระทรวงสาธารณสุขได้ให้ข่าวว่าสาร Tetrahydrocurcuminoids หรือ THCs เป็นสารที่ใช้ผสมในเครื่องสำอางชนิดครีมที่เรียกว่า “ ครีมหน้าเด้ง ” โดยสารนี้มีคุณสมบัติออกฤทธิ์สูงในการต้านอนุมูลอิสระและต้านการอักเสบ และปัจจุบันนี้ในต่างประเทศได้มีการผสมสาร THCs ในเครื่องสำอาง จึงทำให้บริษัทเครื่องสำอางหลายๆ แห่งในประเทศไทยสนใจที่จะนำ THCs มาผสมในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง

       THCs เป็นสารที่ผลิตได้จากการทำปฏิกิริยาเคมีของสารเคอร์คิวมินอยด์ (Curcuminoids) ที่แยกได้จากเหง้า ขมิ้นชัน ปัจจุบัน THCs ที่ใช้อยู่จะนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งขณะนี้งานวิจัยการผลิต THCs ได้มีการดำเนินงานอยู่ในหน่วยปฏิบัติการ NPOS ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยสามารถจะพัฒนาไปสู่การผลิตในระบบอุตสาหกรรม เพื่อผลิตสาร THCs ให้ได้ตามความต้องการของอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง

ขมิ้นชัน ชื่อวิทยาศาสตร์ : Curcuma Longa Linn วงศ์ Zingiberaceae

ชื่อสามัญ :                        Turmeric, Curcuma, ขมิ้น ขมิ้นแกง ขมิ้นหยอก ขมิ้นหัว ขี้มิ้น ตายอ สะยอ หมิ้น

ส่วนที่ใช้ประโยชน์ :          เหง้าสดและแห้ง

สรรพคุณ :                        แก้ท้องเสีย แก้แน่นจุกเสียด รักษาโรคกระเพาะอาหาร ภายนอกใช้รักษาแผลเรื้อรังและแผลสด

การกระจายพันธุ์ :            ขมิ้นชันเป็นไม้ล้มลุกมีเหง้าใต้ดินเนื้อในสีเหลืองอมส้มกระจายพันธุ์อยู่ทั่วโลก ในภูมิภาคที่มีอากาศร้อนหรือร้อนชื้น แหล่งปลูกขมิ้นชันเป็นการค้าขนาดใหญ่ของโลกคือ อินเดีย

การปลูก :                          ขมิ้นชันขยายพันธุ์โดยใช้เหง้า เจริญเติบโตได้ดีทั้งในที่โล่งแจ้งหรือแสงรำไร ชอบอากาศร้อนชื้น ดินร่วนปนทราย มีการระบายน้ำดี

ปัจจัยที่มีผลต่อปริมาณสารในขมิ้นชัน :
                                         - อายุการเก็บเกี่ยว - แสงสว่าง - สภาพอากาศ - น้ำ
                                         - พื้นที่ปลูก - อุณหภูมิ - สภาพแวดล้อมในแปลง
สารสำคัญในขมิ้นชัน
      1.Volatile oil 3-4 % ประกอบด้วย Turmerone และ Zingiberene
      2.สารกลุ่ม curcuminoids 3-8 % ประกอบด้วย
      3.Curcumin
      4.Demethoxycurcumin
      5.Bisdemethoxycurcumin
      6.สารกลุ่มอื่นๆ เช่น Monoterpenes ,Sesquiterpenes และ Alkaloids เป็นต้น

การออกฤทธิ์ทางชีววิทยา

สารในขมิ้นชัน สรรพคุณ
1. น้ำมันขมิ้นชัน - ต้านเชื้อแบคทีเรีย
- ต้านเชื้อรา
2. สารสกัดหยาบ - ต้านอนุมูลอิสระ
- ต้านการอักเสบ
- ต้านเชื้อรา
- ต้านเชื้อแบคทีเรีย
- ให้ผลเพิ่มภูมิคุมกันในไก่ได้ผลดีกว่าการใช้ยาปฏิชีวนะต้านเชื้อเอดส์
3. Curcuminoids - ต้านอนุมูลอิสระ
- ต้านการอักเสบ
- ป้องกันรังสี UV-B
- ต้านมะเร็ง
- ต้านเชื้อเอดส์
- รักษาโรคกระเพาะ
4.Tetrahydrocurcuminoids
(ออกฤทธิ์สูงกว่าCurcuminoids)
- ต้านอนุมูลอิสระ
- ต้านการอักเสบ

ความเป็นพิษ

ได้ทดสอบทั้งพิษเฉียบพลัน และพิษกึ่งเรื้อรัง พบว่ามีความปลอดภัยสูง

1. พิษเฉียบพลัน

      - ให้หนูถีบจักรกินผงขมิ้นชันทางปากในขนาด 10-15 กรัมน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม (ก./กก.) ไม่แสดงอาการพิษใดๆ
      - เมื่อให้สารสกัดของขมิ้นชันด้วย 50%แอลกอฮอล์โดยวิธีป้อนทางปากฉีดเข้าใต้ผิวหนังและทางช่อง ท้องในขนาด 15 กรัมต่อกิโลกรัม ไม่ทำให้เกิดอาการพิษเฉียบพลัน และหนูไม่ตาย - LD50 > 15 ก./กก.

2. พิษกึ่งเรื้อรัง

      - ให้หนูขาวกินทางปากในขนาด 0.03, 2.5 และ5.0 ก./กก./วัน เป็นเวลา 6 เดือน พบว่าไม่ทำให้เกิด อาการพิษใดๆรวมทั้งไม่มีผลต่อค่าทางโลหิตวิทยาหรือค่าเคมีคลินิก

งานวิจัยขมิ้นชันของหน่วยปฏิบัติการ NPOS

      1. ศึกษาผลของสายพันธุ์และแหล่งปลูกต่อการผลิตสาร Curcuminoids ในขมิ้นชัน โดยนำขมิ้นชันจากแหล่งพันธุ์ต่างๆ มาปลูก ณ จังหวัดตากและจังหวัดตรัง พบว่าแหล่งปลูกมีผลมากกว่าสายพันธุ์ในการผลิต สาร Curcuminoids
      2. วิจัยและพัฒนาวีธีที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในสกัดและแยก สาร Curcuminoids
      3. วิจัยและพัฒนาสภาวะที่เหมาะสมในการสังเคราะห์ สาร Tetrahydrocurcuminoids จากสาร Curcuminoids ที่แยกได้จากขมิ้นชันในเชิงอุตสาหกรรม
      4. พัฒนาสารที่ได้แต่ละขั้นตอนของการสกัด มาทำเป็นผลิตภัณฑ์ เช่น ครีมบำรุงผิว สบู่ขมิ้นชัน โลชันบำรุงผิว
      5. พัฒนาเครื่องมือสำหรับการสกัดและแยกสาร Curcuminoidsเพื่อนำไปใช้ในเชิงอุตสาหกรรม
      6. นำสารสกัดขมิ้นชันผสมในอาหารไก่ เพื่อศึกษาการเพิ่มภูมิคุ้มกันในไก่
      7. นำสารสกัดขมิ้นชันผสมในอาหารกุ้ง เพื่อศึกษาการเพิ่มภูมิคุ้มกันในกุ้ง