การป้องกันอุทกภัยและภัยแล้งโดยแบบจำลองการคาดคะเนปริมาณน้ำฝน
และแบบจำลองเชิงพื้นที่ชุ่มน้ำขนาดเล็ก


วีระศักดิ์ อุดมโชค1 ประเสริฐ อังสุรัตน์2
พงศกร จิวาภรณ์คุปต์1 อรรณพ หอมจันทร์1
พูลศิริ ชูชีพ3กรองจิต เกษจินดา1 สายฝน ทมกระโทก1


      การคาดคะเนปริมาณน้ำฝนล่วงหน้าเป็นเวลาค่อนข้างยาวนานมีความผิดพลาดค่อนข้างมากเนื่องจากสภาพภูมิอากาศในปัจจุบันมีความแปรปรวนค่อนข้างสูง แต่การคาดคะเนปริมาณน้ำฝนแบบนี้มีความจำเป็นมากในด้านการวางแผนการตลาดและการเตรียมการด้านการเกษตรและปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร การคาดคะเนปริมาณน้ำฝนโดยใช้ข้อมูลระยะยาวของพฤติกรรมของสภาพภูมิอากาศระดับภูมิภาค สภาพภูมิประเทศ และปรากฏการณ์เอลนิโนและลานินา ทำให้ได้แบบจำลองในการคาดคะเนปริมาณน้ำฝนที่ต่อเนื่องจากปริมาณน้ำฝนในฤดูที่ผ่านมาหรือในปีที่ผ่านมา แบบจำลองดังกล่าวนำมาใช้ในระดับภาค แบ่งเป็น 8 ภาค ประกอบด้วย ภาคเหนือตอนบน ภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลางและภาคตะวันตก ภาคตะวันออก ภาคใต้ฝั่งตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก โดยกำหนดฤดูกาลที่เหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศระดับภูมิภาคออกเป็น 5 ฤดู ประกอบด้วย ฤดูมรสุมจากลมตะวันออกเฉียงเหนือ (พฤศจิกายนถึงกุมภาพันธ์) ฤดูปลายหนาวต้นร้อน (มีนาคมถึงเมษายน) ฤดูต้นมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ (พฤษภาคมถึงมิถุนายน) ฤดูฝนจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ (กรกฎาคมถึงกันยายน) และฤดูปลายฝนต้นหนาว (ตุลาคม)

       นอกจากการคาดคะเนปริมาณน้ำฝนแล้ว การจัดการพื้นที่เพื่อควบคุมน้ำก็มีความสำคัญมากเช่นเดียวกันกล่าวคือ การจัดการพื้นที่เพื่อกักเก็บน้ำไว้ในดินและสระน้ำ หรือในพื้นที่ชุ่มน้ำของบริเวณพื้นที่ลาดเอียง ระบายน้ำลงสู่ลำธารที่ไม่มีระบบฝายหรืออ่างเก็บน้ำ จะทำให้มีน้ำใช้ในฤดูแล้งได้อย่างพอเพียง และยังช่วยบรรเทาอุทกภัยในฤดูฝน พื้นที่ลาดเอียงดังกล่าวมักเป็นพื้นที่บริเวณปลายเนินและพื้นที่ลอนลาด ซึ่งมีอยู่ประมาณร้อยละแปดสิบของพื้นที่ที่ไม่ใช่ที่ราบลุ่มน้ำท่วมถึง การทำฝายต้นน้ำทั้งส่วนที่อยู่เหนือท้องลำธารและส่วนที่อยู่ใต้ท้องธารน้ำ ทำให้สามารถเก็บรักษาความชื้นในดินบริเวณพื้นที่ลุ่มน้ำได้มาก เช่นเดียวกับการปลูกหญ้าแฝกแบบแนวโค้งรอบต้นไม้ผลและตามแนวขอบเนิน จะทำให้มีการชลอการสูญเสียน้ำในดิน ซึ่งมีผลทำให้มีน้ำไหลในลำธารได้ตลอดปี

       อนึ่งการขุดสระน้ำบริเวณปลายเนินเขาอย่างน้อยสองสระต่อเนื่องกัน เพื่อกักเก็บน้ำที่ไหลบ่าลงมาจากเนินเขาในช่วงที่มีฝนตกหนัก โดยส่วนที่ล้นจากสระแรกและสระที่สองหรือสระที่สามจะปล่อยให้ไหลลงสู่ระบบน้ำใต้ดินตื้น นอกจากนี้การมีพื้นที่ชื้นแฉะและชุ่มน้ำเป็นบริเวณเล็กๆ ระหว่างปลายเนินถึงสระน้ำจะช่วยให้มีการพักตะกอนและมีน้ำซับซึมซาบออกมาสู่แหล่งน้ำตลอดเวลา และช่วยชลอการไหลบ่าของน้ำหลากในฤดูฝน

       การดำเนินการดังกล่าวเป็นการดำเนินการอย่างครบวงจรและเป็นรูปธรรมที่สามารถป้องกันและบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้งได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากมีการดำเนินการแบบมีส่วนร่วมของชุมชนในทุกพื้นที่


1 ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทั่วไป คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
2 สำนักงานฝนหลวงและการบินเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
3 สถาบันค้นคว้าและพัฒนาระบบนิเวศเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์