การศึกษาธรณีวิทยาแหล่งแร่พลอยด้วยเทคนิคทางธรณีฟิสิกส์ |
ดีเซลล์ สวนบุรี |
แหล่งพลอยทับทิมบริเวณบ้านบ่อแก้ว
ตำบลไทรย้อย อำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่ เป็นตำแหน่งที่ตั้งโครงการแหล่งท่องเที่ยวพลอยแพร่
ซึ่งทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้ร่วมกับชุมชนท้องถิ่นจัดเป็นที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์การศึกษาลักษณะธรณีวิทยาแหล่งแร่พลอยด้วยเทคนิคทางธรณีฟิสิกส์
เป็นการหาความต่อเนื่องของชั้นกะสะพลอยจากข้อมูลธรณีวิทยาของหลุมเจาะสำรวจ
คลุมบริเวณพื้นที่ศึกษา
วิธีการศึกษาวิจัย เริ่มจากการศึกษาในภาพกว้างด้วยการแปลความหมายข้อมูลจากการบินสำรวจธรณีฟิสิกส์ เช่น ค่าความเข้มสนามแม่เหล็กโลกและค่ากัมมันตรังสี คลุมทั้งแผนที่ระวาง 4944 I (บ้านบ่อแก้ว) มาตราส่วน 1:50,000 เมื่อทำการประมวลผลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของข้อมูล สามารถแสดงโครงสร้างทางธรณีวิทยาว่า มีรอยเลื่อนส่วนใหญ่ในพื้นที่วางตัวตามในทิศตะวันออกเฉียงเหนือ-ตะวันตกเฉียงใต้ และมีบางส่วนวางในทิศตะวันตกเฉียงเหนือ-ตะวันออกเฉียงใต้ และยังแบ่งขอบเขตประเภทของหินที่แตกต่างกันโดยเฉพาะบริเวณพื้นที่ศึกษา อยู่ในเขตของหินบะซอลต์ ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของพลอยบริเวณนี้ และยังชี้บริเวณที่น่าเป็นแหล่งสะสมแร่พลอยบริเวณตะพักลุ่มน้ำตามลำห้วยอีกด้วย การสำรวจธรณีฟิสิกส์ในภาคสนามด้วยการวัดค่าสภาพต้านทานไฟฟ้า โดยได้ทำการสำรวจแบบหยั่งลึก(Depth Sounding Technique) คลุมพื้นที่บ้านบ่อแก้ว และบ้านบ่อพลอย และคลุมบางส่วนของพื้นที่โครงการแหล่งท่องเที่ยวพลอยแพร่ ขนาดพื้นที่สำรวจ 500 x 800 ตารางเมตร ตามแนวเส้นสำรวจ 12 สำรวจ ระยะห่างของจุดสำรวจ 20 เมตร ได้ข้อมูลที่ระดับความลึก 35 เมตร ดำเนินการสำรวจทั้งสิ้น 170 จุดสำรวจ เมื่อทำการประมวลผล แปลความหมาย พบแนวต่อเนื่องของชั้นกะสะพลอย ชั้นน้ำใต้ดินระดับตื้น (ชั้นน้ำหน้าหิน) ความลึกของชั้นหินบะซอลต์แข็งและบริเวณที่คาดว่ามีชั้นกะสะพลอยอยู่ใต้หินบะซอลต์แข็ง พบเขตของแนวค่าสภาพต้านทานไฟฟ้าต่ำซึ่งคาดว่าเป็นร่องเดิมของลาวาปะทุ (fissure fraction) วางตัวในทิศตะวันออกเฉียง-ตะวันตกเฉียงใต้ การสำรวจด้วยเทคนิคการสร้างภาพจากค่าสภาพต้านทานไฟฟ้า (resistivity imaging) แบบระบบหลายขั้วไฟฟ้า (Multi-lectrode) เป็นการวัดค่าที่ให้ความต่อเนื่องทั้งแนวระดับและแนวดิ่งอย่างละเอียด ผลการสำรวจ แสดงเขตต่อเนื่องของชั้นกะสะพลอยอย่างละเอียด ความหนาของชั้นหน้าดิน (overburden) หรือเขตที่มีหินแข็งอยู่ลึกมีขอบเขตกั้นโดยเขตของรอยแตกในชั้นหิน (fracture zone) ชั้นบะซอลต์ผุหรือชั้นกระสะพลอยที่อยู่ใต้ชั้นหินบะซอลต์แข็ง และยังช่วยบ่งชี้บริเวณที่เป็นศักยภาพน้ำบาดาลอีกด้วย
|
1ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทั่วไป คณะวิทยาศาสตร์
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ |