ผลของโคลชิซีนต่อขนาดและจำนวนปากใบของฝ้าย
(Gossypium arboreum )


ณัฐวุธ นัยนานนท์ อรุณี วงศ์ปิยะสถิตย์ และคทารัตน์ ชูศรีเอี่ยม
ภาควิชารังสีประยุกต์และไอโซโทป คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

      การศึกษาผลของโคลชิซีนต่อขนาดและจำนวนปากใบของฝ้าย (Gossypium arboreum) ทำโดยนำเมล็ดฝ้ายพันธุ์ พม. 2 มาแช่ในสารละลายโคลชิซีน ที่มีความเข้มข้น 0, 0.1 และ 0.5% เป็นเวลา 24 และ 36 ชั่วโมง ตามลำดับ ทำการทดลองทรีตเมนต์ละ 3 ซ้ำ นำไปปลูกในกระถาง ที่ตึกรังสี ภาควิชารังสีประยุกต์และไอโซโทป

      เมื่อทำการตรวจผลหลังจากปลูก 15 วัน พบว่าเมล็ดฝ้ายที่แช่ในสารละลายโคลชิซีนที่ความเข้มข้น 0, 0.1 และ 0.5% ที่เวลา 24 ชั่วโมง มีความงอกเท่ากับ 86.67, 80 และ 66.67% ตามลำดับ ส่วนเมล็ดฝ้ายที่แช่ในสารละลายโคลชิซีนที่ความเข้มข้น 0, 0.1 และ 0.5% ที่เวลา 36 ชั่วโมง มีความงอกเท่ากับ 74.44, 67.78 และ 43.33% ตามลำดับ

      เมื่อฝ้ายอายุ 3 เดือน เก็บตัวอย่างใบฝ้ายทุกต้นจากแต่ละทรีตเมนต์ ต้นละ 5 ใบ มาทำการตรวจวัดขนาดและจำนวนปากใบ (stomata) ต่อพื้นที่ พบว่าต้นฝ้ายที่ผ่านการแช่เมล็ดในสารละลายโคลชิซีนที่ความเข้มข้น 0.1% เป็นเวลา 24 ชั่วโมง และที่แช่ในสารละลายความเข้มข้น 0.5% ที่เวลา 24 ชั่วโมง บางต้นมีขนาดของปากใบใหญ่ขึ้นและมีจำนวนปากใบต่อพื้นที่ลดลง เมื่อเปรียบเทียบกับเมล็ดฝ้ายที่แช่ในสารละลายโคลชิซีนที่ความเข้มข้น 0 % (control) สำหรับเมล็ดฝ้ายที่แช่ในสารละลายโคลชิซีนที่ความเข้มข้น 0.1 และ 0.5 % เป็นเวลา 36 ชั่วโมง ส่วนใหญ่มีการเพิ่มขนาดของปากใบและมีการลดลงของจำนวนปากใบต่อพื้นที่

      คำสำคัญ : ฝ้าย โคลชิซีน