การเหนี่ยวนำให้เกิดการกลายพันธุ์ต่อต้นดาวกระจาย
(Hygrophila difformis) |
ธนาธิป เพริศพรายวงศ์ 1
อรุณี วงศ์ปิยะสถิตย์ 1 กาญจนรี พงษ์ฉวี 2 |
การศึกษาผลของรังสีแกมมาต่อการเหนี่ยวนำให้เกิดการกลายพันธุ์ของต้นดาวกระจายในสภาพปลอดเชื้อ
ทำโดยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อดาวกระจายด้วยอาหารเพาะเลี้ยงสูตร MS ที่มี
BA 2 มิลลิกรัม/ลิตร NAA 0.25 มิลลิกรัม/ลิตร เพื่อชักนำให้เกิดต้นอ่อนปริมาณมากแล้วจึงนำต้นอ่อนปลอดเชื้อไปฉายรังสีแกมมา
ชนิดเฉียบพลัน (acute irradiation) ด้วยเครื่องฉายรังสีแกมมา Mark I Research
Irradiator ในปริมาณ 0, 20, 40, 60, 80 และ 100 เกรย์ จำนวน 3 ซ้ำ ต่อ ทรีตเมนต์
เพื่อหาปริมาณรังสีที่เหมาะสมในการเหนี่ยวนำให้เกิดการกลายพันธุ์ หลังจากฉายรังสีแล้ว
30วัน พบว่าพืชรุ่นแรก (M1V1) มีการเจริญเติบโตลดลงเมื่อปริมาณรังสีสูงขึ้น
โดยต้นที่ได้รับรังสี 100 เกรย์ มีการเจริญเติบโตต่ำที่สุด เท่ากับ 41.10%
เมื่อเทียบกับต้นที่ไม่ได้ฉายรังสี (control) และปริมาณรังสีที่มีผลไปลดการเจริญเติบโตของต้นดาวกระจายลง
50% ที่ระยะ 30 วัน หลังฉายรังสี คือ 92.19 เกรย์
เมื่อนำพืชรุ่น M1V1 มาขยายพันธุ์และเลี้ยงในอาหารสูตรเดิม พบว่าพืชรุ่นที่สอง (M1V2) มีการรอดชีวิตและการเจริญเติบโตลดลงเมื่อปริมาณรังสีสูงขึ้น โดยที่ปริมาณรังสี 100 เกรย์ พืชมีการรอดชีวิตและการเจริญเติบโตต่ำที่สุด คือ เท่ากับ 57.14 และ 9.91% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับต้นที่ไม่ได้ฉายรังสี และปริมาณรังสีที่ลดการเจริญเติบโตของต้นดาวกระจายในรุ่น M1V2 ลงครึ่งหนึ่งที่ระยะเวลา 30 วัน หลังย้ายเนื้อเยื่อ คือ 55.90 เกรย์ นอกจากนี้ ยังทำการศึกษาลักษณะทางสัณฐานของต้นพืชในรุ่น M1V1 พบว่า ที่ปริมาณรังสี 60 เกรย์ พบลักษณะใบสีเหลือง และในรุ่น M1V2 ในแต่ละทรีตเมนท์ พบว่า ที่ปริมาณรังสี 20, 40 และ 60 เกรย์ ใบของพืชมีลักษณะหงิกงอผิดรูป หรือเรียวยาว และที่ปริมาณรังสี 100 เกรย์ ต้นมีลักษณะใหญ่ผิดปรกติ คำสำคัญ : ต้นดาวกระจาย (Hygrophila difformis) , รังสีแกมมา (gamma radiation) , การกลายพันธุ์(mutation) , in vitro culture |
1 ภาควิชารังสีประยุกต์และไอโซโทป
คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ |