การโคลนยีนสี ฟลาโวนอยด์ไฮดรอกซีเลสจากอัญชันและกล้วยไม้แอสโคเซ็นด้า
และการศึกษาการแสดงออกของยีนในดอกกล้วยไม้ไทย


วาสนา เจียมตัว1 สุรินทร์ ปิยะโชคณากุล1
และ พัฒนา ศรีฟ้า ฮุนเนอร์1

      Flavonoid 3', 5'-hydroxylase (F3'5'H) เป็นเอนไซม์ที่สำคัญในการสร้างรงควัตถุที่ให้ดอกไม้มีสีน้ำเงินหรือสีม่วง การโคลนยีน f3'5'h จากดอกอัญชันและดอกกล้วยไม้ไพน์ริเวอร์ด้วยวิธี RACE PCR ได้ส่วนของยีน f3'5'h ด้านปลาย 3'ของยีน จากดอกอัญชันและดอกกล้วยไม้ไพน์ริเวอร์มียีนคล้ายคลึงกันร้อยละ 90 และเมื่อนำลำดับกรดอะมิโนจากพืชทั้งสองชนิดไปเปรียบเทียบกับพืชชนิดอื่น พบว่ามีความใกล้เคียงกับเอนไซม์ F3'H จากพิทูเนีย คิดเป็นร้อยละ 66 นอกจากนี้ยังสามารถโคลนยีน f3h จากดอกกล้วยไม้ไพน์ริเวอร์ด้วยวิธี RT-PCR ได้ชิ้นยีนขนาด 351 คู่เบสเป็นลำดับนิวคลีโอไทด์บริเวณกลางยีน เมื่อแปลรหัสเป็นลำดับกรดอะมิโนได้ 116 เรสซิดิว เปรียบเทียบกับพืชอื่นพบว่ามีความใกล้เคียงกับเอนไซม์ F3H จากดอกกล้วยไม้ Bromheadia finlaysoniana คิดเป็นร้อยละ 94 การตรวจสอบการแสดงออกของยีน f3h ด้วยวิธี RT-PCR และ Northern Hybridization ในดอกกล้วยไม้สกุลมอคคาร่า หวาย แวนด้า และแอสโคเซ็นด้าพบระดับการแสดงออกของยีน f3h ในกล้วยไม้ที่มีดอกสีขาว สีส้ม สีแดง สีม่วงน้ำเงิน และสีแดงม่วง ยกเว้นกล้วยไม้สีขาว Dendrobium Jaquelyn Thomus, Den. 5N และอัญชัน นอกจากนี้ยังตรวจพบการแสดงออกของยีน f3'5'h ในดอกกล้วยไม้ Den. Kowsanan, Den. Sabin, Mokara Calipso, Vanda Bangkok white, Vancostylis Pine River และอัญชัน ข้อมูลที่ได้จากการศึกษาในครั้งนี้ สามารถนำไปใช้ในการปรับปรุงสีดอกกล้วยไม้ในอนาคต
 
1ภาควิชาพันธุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาตร์ กรุงเทพฯ 10900
2ห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีชีวภาพ สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ หลักสี่ กรุงเทพฯ 10210