ความหลากหลายทางชีวภาพของไบรโอซัวน้ำจืดในลุ่มน้ำแม่กลอง
(Biodiversity of Freshwater Bryozoans in Mae Klong River Basin)



พัฒนา อนุรักษ์พงศธร จักรกฤษณ์ มหัจฉริยวงศ์ ตุลวิทย์ สถาปนจารุ รัชชา ชัยชนะ และ Timothy S. Wood
ภาควิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

เรื่องย่อ

      ลุ่มน้ำแม่กลองพื้นที่ศึกษาโดยครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี ราชบุรี และสมุทรสาคร กำหนดจุดเก็บตัวอย่างทั้งหมด 15 จุด โดยแบ่งการใช้ประโยชน์พื้นที่ออกเป็น 5 รูปแบบ ได้แก่ พื้นที่ป่าไม้ พื้นที่เกษตรกรรม พื้นที่อุตสาหกรรม พื้นที่ชุมชน และพื้นที่อิทธิพลน้ำทะเล

      จากการศึกษาและสำรวจ พบไบรโอซัวน้ำจืด (Phylum Ectoprocta) ทั้งหมด 8 สายพันธุ์ และเป็น Kamptozoans (Phylum Entoprocta) สายพันธุ์ใหม่ 1 สายพันธุ์ หลังจากที่ได้รับการจำแนกแล้ว ไดรับพระราชทานนามเป็น Sirindhornella cristata ไบรโอซัวน้ำจืดสายพันธุ์ที่พบมากที่สุด ได้แก่ Hislopia spp. พบ 11 จุดจาก 15 จุดเก็บตัวอย่าง รองลงมาคือ Plumatella bombayensis และ Internectella bulgarica

คำนำ

      ไบรโอซัว (Bryozoans or Moss Animals) หรือสัตว์ที่มีลักษณะคล้ายมอส เป็นสัตว์น้ำขนาดเล็กที่พบได้ทั้งในน้ำเค็มและน้ำจืด ปัจจุบันไบรโอซัวแบ่งออกเป็น 2 ชั้น (class) ได้แก่ Phylactolaemata และ Gymnolaemata ชั้น Gymnolaemata เป็นที่รู้จักกันมากและเป็นไบรโอซัวส่วนใหญ่ของไฟลัม มีประมาณ 3,000 สายพันธุ์ ส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์น้ำเค็ม สำหรับชั้น Phylactolaemata นั้นมีสายพันธุ์ที่ได้รับการจำแนกแล้วเพียง 70 สายพันธุ์เท่านั้น ซึ่งพบในน้ำจืดทั้งหมด แต่นอกจาก 2 ชั้นที่กล่าวมาแล้ว ยังมีอีกชั้นหนึ่งของไบรโอซัวได้แก่ Stenolaemata ซึ่งปัจจุบันชั้นนี้ได้สูญพันธุ์ไปหมดแล้ว แต่ยังคงมีการศึกษาซากดึกดำบรรพ์อยู่

       ในประเทศไทยไม่มีการจัดทำฐานข้อมูลของไบรโอซัวน้ำจืด ซึ่งหากไม่เริ่มต้นสำรวจและเก็บรวบรวมข้อมูลในขณะนี้ สภาพแวดล้อมซึ่งกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วอาจทำให้ไบรโอซัวบางชนิดสูญพันธุ์ไป โดยที่เรายังไม่ได้ศึกษาและอาจเป็นชนิดที่มีประโยชน์และสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ในหลากหลายสาขา งานวิจัยนี้จึงถือได้ว่าเป็นการสำรวจและจัดทำฐานข้อมูลด้านไบรโอซัวน้ำจืดชิ้นแรกของประเทศไทย

อุปกรณ์และวิธีการ

       งานวิจัยนี้ได้ทำการพัฒนาที่เก็บตัวอย่างแผ่นซ้อน (Hester-Dendy multiple-plate samplers) ให้เหมาะสมกับการใช้ในพื้นที่ที่คัดเลือก ทำการติดตั้งและเก็บตัวอย่างเพื่อการจำแนก ทุก 2-4 สัปดาห์ สำหรับช่วงแรกของการสำรวจได้ติดตั้งที่เก็บตัวอย่างแผ่นซ้อนไว้หลายๆ ตัวในแต่ละพื้นที่เพื่อที่จะได้จำนวนข้อมูลเพียงพอในการวิเคราะห์เชิงสถิติ การจำแนกสายพันธุ์จะใช้ taxonomic keys ล่าสุดสำหรับภูมิภาคนี้ ข้อมูลที่รวบรวมได้ในแต่ละพื้นที่จะถูกนำมาจัดทำเป็นดรรชนีความหลากหลายของสายพันธ์ ตัวอย่างสิ่งมีชีวิตที่ค้นพบสามารถเก็บไว้ในเอธิลแอลกอฮอลเพื่อการวิเคราะห์และตรวจพิสูจน์ได้ในภายหลัง การจำแนกสายพันธ์ได้รับความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญด้านไบรโอซัวน้ำจืดของโลก Professor Dr. Timothy S. Wood จากมหาวิทยาลัย Wright State ประเทศสหรัฐอเมริกา

ตารางรายละเอียดตำแหน่งวางที่เก็บตัวอย่างไบรโอซัว
ลำดับ
รหัสตำแหน่ง
จุดเก็บตัวอย่าง
เป็นตัวแทนของพื้นที่
1 V1 สันเขื่อนวชิราลงกรณ์ จ.กาญจนบุรี ป่าไม้
2 KN1 อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ป่าไม้
3 SY อุทยานแห่งชาติไทรโยคใหญ่ ป่าไม้
4 KN15 อ.ด่านมะขามเตี้ย จ.กาญจนบุรี เกษตรกรรม
5 S1 เหนือสันเขื่อนศรีนครินทร์ จ.กาญจนบุรี ป่าไม้
6 KY1 อ.เมือง จ.กาญจนบุรี ป่าไม้
7 KY5 อ.เมือง จ.กาญจนบุรี เกษตรกรรม
8 MK3 อ.เมือง จ.กาญจนบุรี อุตสาหกรรม
9 MK6 อ.เมือง จ.กาญจนบุรี อุตสาหกรรม
10 K1 อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี เกษตรกรรม
11 K4 อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี อุตสาหกรรม
12 K7 อ.ลูกแก จ.กาญจนบุรี ชุมชน
13 K14 อ.เมือง จ.ราชบุรี ชุมชน
14 K15 อ.เมือง จ.ราชบุรี ชุมชน
15 K18 อ.อำพวา จ.สมุทรสงคราม อิทธิพลน้ำทะเล

                   


         โครงสร้างพื้นฐานของ โซอิด                                                                       ผลการสำรวจ
        (zooids) ของไบรโอซัวน้ำจืด




     

     ภาพตัวอย่างของไบรโอซัว (Plumatella bombayensis) โคโลนีมีสีเข้ม มีการแตกกิ่งก้านสาขา
พบครั้งแรกที่เมืองบอมเบย์ ประเทศอินเดีย เป็นอีกสายพันธุ์หนึ่งที่พบได้ทั่วๆ ไปในประเทศไทย และสามารถเจริญเติบโตได้ตลอดทั้งปี

สรุปและวิจารณ์

      กรอบแนวความคิด (Conceptual Framework) ของงานวิจัยนี้แบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ การสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพของไบรโอซัวน้ำจืดในประเทศไทยเพื่อจัดทำฐานข้อมูลไว้เพื่องานวิจัยในขั้นต่อไป โดยเริ่มต้นที่ลุ่มน้ำแม่กลอง และมีแผนงานที่จะขยายต่อไปในลุ่มน้ำอื่นๆ ทั่วประเทศไทย อีกส่วนหนึ่งคือการศึกษานิเวศวิทยาของไบรโอซัวน้ำจืดบางชนิดเพื่อนำไปสู่การประยุกต์ใช้เป็นดัขนีทางชีวภาพชนิดใหม่ในการเฝ้าติดตามคุณภาพน้ำ และใช้เป็นวิธีการประเมินคุณภาพน้ำจากสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่อย่างต่อเนื่อง ถึงแม้นการเฝ้าติดตามทางชีวภาพจะทำการแจกแจงสารก่อมลพิษอย่างเฉพาะเจาะจงได้ยาก แต่วิธีการนี้เป็นเครื่องมือที่สำคัญสำหรับการอธิบายสภาพคุณภาพน้ำตลอดช่วงเวลาซึ่งเป็นจุดเด่นที่ได้เปรียบวิธีอื่นคือการตรวจสอบมลภาวะทางน้ำที่เกิดขึ้นนอกเหนือเวลาที่ทำการเก็บตัวอย่างน้ำ