เห็ดทะเล สัตว์ทะลแสนสวยประดับตู้ปลา

 

 

สหภพ ดอกแก้ว
ศูนย์วิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีปลาสวยงามและพรรณไม้น้ำประดับ

      เห็ดทะเลเป็นสัตว์ทะเลสวยงามชนิดหนึ่งที่ผู้นิยมเลี้ยงปลาทะเลทั้งหลายนิยมเลี้ยงกันอย่างมาก เห็ดทะเลจึงเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่ของผู้เลี้ยงสัตว์ทะเลสวยงาม แต่สำหรับคนทั่วไปแล้ว เห็ดทะเลนับว่าเป็นสิ่งมีชีวิตที่แปลกตาและไม่คุ้นเคย และในบางครั้งหลายคนอาจเกิดความสับสนว่าเห็ดทะเลเป็นดอกไม้ทะเลชนิดหนึ่ง

      นักชีววิทยาทางทะเล ได้จัดเห็ดทะเลไว้ในไฟลัมไนดาเรีย (Cnidaria) ซึ่งเป็นพวกเดียวกับ ปะการัง กัลปังหา ดอกไม้ทะเล และแมงกะพรุน ในครั้งแรกนักชีววิทยาทางทะเลเชื่อว่าเห็ดทะเลเป็นดอกไม้ทะเลชนิดหนึ่งจึงตั้งชื่อสามัญว่า Mushroom anemone เห็ดทะเลมีความสัมพันธ์ทางสรีระวิทยาของร่างกายคล้ายกับปะการังมากกว่าดอกไม้ทะเล แต่เห็ดทะเลไม่สามารถสร้างโครงสร้างหินปูนได้เหมือนปะการังจึงถูกจำแนกออกมาไว้คนละอันดับกับปะการังและดอกไม้ทะเล เห็ดทะเลมีการจัดลำดับทางอนุกรมวิธานดังนี้

                                                    Phylum : Cnidaria
                                                          Class : Anthozoa
                                                               Suborder : Zoantharia
                                                                         Order : Corallimorpharia

       แต่อย่างไรก็ตามเห็ดทะเลยังมีโครงสร้างร่างกายภายนอกคล้ายกับดอกไม้ทะเลมาก คือมีแผ่นปาก (Oral dish) ที่เปิดออกทางด้านบน และด้านล่างเป็นฐาน (Pedal dish) ทำหน้าที่ยึดเกาะกับวัสดุใต้น้ำ แผ่นปากจะมีช่องปากอยู่ตรงกลาง มีหนวดสั้นรอบปากหรือบางชนิดหนวดเล็กมากจนไม่สามารถสังเกตเห็นหนวดได้

ถิ่นที่อยู่อาศัยของเห็ดทะเล

      เห็ดทะเลดำรงชีวิตอยู่ตามแนวปะการังทั่วไป มักพบอาศัยอยู่ในแนวปะการังน้ำตื้น (Fringing reef) ของเขตร้อนทั่วโลก เห็ดทะเลอาศัยและเจริญเติบโตบนก้อนหินหรือซากปะการังที่ตายแล้ว เป็นการดำรงชีวิตอยู่กับที่ไม่มีการเคลื่อนย้าย หรืออาจมีการเคลื่อนที่เล็กน้อยเพื่อความ อยู่รอดและการขยายพันธุ์

การกินอาหารของเห็ดทะเล

      ในเนื้อเยื่อตามร่างกายของเห็ดทะเลจะมีสาหร่ายเซลล์เดียวที่ชื่อว่า ซูแซนทาลี่ (Zooxanthallae) อาศัยอยู่และเป็นความสัมพันธ์แบบพึ่งพา (Symbiosis) เห็ดทะเลจะได้รับสารอาหารจากการสังเคราะห์แสงของซูแซนทาลี่เป็นหลัก บางครั้งพบว่าซูแซนทาลี่ที่เจริญเติบโตมีจำนวนมากเกินไปเห็ดทะเลก็สามารถกรองกิน ซูแซนทาลี่นั้นได้เช่นกัน ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมในขณะนั้น นอกจากนี้เห็ดทะเลบางชนิดยังสามารถจับสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กกินเป็นอาหารเช่น ลูกกุ้ง ลูกปลา เป็นต้น ซึ่งเป็นการกินอาหารอาหารของเห็ดทะเลอีกวิธีหนึ่ง

การสืบพันธุ์ของเห็ดทะเล

      เห็ดทะเลมีความสามารถในการสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศได้ดีมาก ส่วนมากที่พบคือการแตกหน่อ เห็ดทะเลจะใช้ฐานเคลื่อนย้ายตัวเองออกจากตำแหน่งเดิมแต่จะทิ้งเนื้อเยื้อส่วนหนึ่งไว้เล็กน้อย เนื้อเยื่อเหล่านี้จะสามารถพัฒนาขึ้นเป็นเห็ดทะเลตัวใหม่ได้ พบว่าเห็ดทะเลบางชนิดที่มีความสมบูรณ์สามารถแตกหน่อได้ถึง 5-6 หน่อในระยะเวลา 1 ปี อีกวิธีหนึ่งที่พบเห็นทั่วไป คือ เห็ดทะเลจะปล่อยตัวเองออกจากวัสดุยึดเกาะ และล่องลอยไปกับกระแสน้ำเมื่อไปตกในสถานที่ที่มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม เห็ดทะเลเหล่านั้นจะสามารถเจริญเติบโตต่อไป

การเลี้ยงเห็ดทะเล

      เนื่องจากเห็ดทะเลมีสีสันที่หลากหลาย และรูปร่างที่แปลกตา เห็ดทะเลจึงถูกนำมาเลี้ยงในตู้ทะเลกันเป็นจำนวนมาก การเลี้ยงเห็ดทะเลควรให้เห็ดทะเลได้รับแสงอย่างเหมาะสม ควรใช้หลอดเมทัลเฮไลท์ หากความเข้มแสงน้อยเห็ดทะเลจะได้รับอาหารไม่เพียงพอ จะเกิดอาการ ฟอกขาวขึ้น จึงเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เห็ดทะเลตายในขณะเลี้ยง

      อุณหภูมิเป็นสิ่งที่สำคัญในการเลี้ยงเห็ดทะเลเป็นอย่างมาก แม้ว่าเห็ดทะเลจะสามารถทนต่ออุณหภูมิที่สูงกว่าสัตว์ทะเลสวยงามชนิดอื่น แต่ก็ควรจะควบคุมอุณหภูมิในการเลี้ยงอย่าให้เกิน 28 องศาเซลเซียส โดยใช้เครื่องทำความเย็นที่ทนทานต่อการกัดกร่อนของน้ำทะเล มักใช้โลหะ ไททาเนียมเป็นสื่อในการปรับอุณหภูมิของเครื่องทำความเย็น

                        

การเพาะและขยายพันธุ์ม้าน้ำดำ (Hippocampus kuda Bleeker,1852 )

ความสำคัญของม้าน้ำ

      ม้าน้ำเป็นสัตว์ทะเลชนิดหนึ่งซึ่งมีรูปร่างแปลกตา กล่าวคือมีส่วนหัวคล้ายม้า มีส่วนหางที่สามารถม้วนงอจับกับวัตถุใต้น้ำได้ เคลื่อนที่โดยใช้ครีบหู และครีบหลัง จากลักษณะภายนอกเหล่านี้พบว่าแตกต่างจากปลาโดยทั่วไปมาก แต่นักมีนวิทยาหรือนักวิทยาศาสตร์ผู้ศึกษาเกี่ยวกับปลาได้จัดม้าน้ำไว้พวกเดียวกับปลากระดูกแข็ง เนื่องจากเป็นสัตว์ที่มีระบบต่าง ๆ ในร่างกายเหมือนกับปลามากที่สุด ม้าน้ำจัดอยู่ในวงศ์ Syngnathidae เป็นปลากลุ่มที่มีปากเป็นท่อ และสกุลของม้าน้ำคือ Hippocampus พบกระจายในทะเลเขตร้อนและเขตกึ่งหนาว ทั่วโลกพบม้าน้ำประมาณ 43 ชนิด ในประเทศไทยพบม้าน้ำประมาณ 7 ชนิด ชนิดที่พบได้ง่ายมี 4 ชนิดคือ ม้าน้ำดำ(Hippocampus kuda) ม้าน้ำหนาม(Hippocampus spinosissimus) ม้าน้ำสามจุด(Hippocampus trimaculatus) และม้าน้ำแคระ(Hippocampus mohnikei)

       เนื่องจากม้าน้ำมีรูปร่างที่แปลกตา มีลีลาการว่ายน้ำที่งดงาม จึงเป็นสัตว์น้ำชนิดหนึ่งที่ได้รับความนิยมในการนำมาเลี้ยงใน ตู้ปลาทะเล อีกทั้งม้าน้ำตากแห้งยังมีคุณค่าในด้านการเป็นยาเเผนโบราณ จากปัจจัยต่าง ๆ ดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น จึงทำให้ประชากรของม้าน้ำในธรรมชาติลดลงเป็นจำนวนมาก ม้าน้ำจึงถูกจัดอยู่ในกลุ่มของสัตว์ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ (Endangered) และเป็นสัตว์ที่อยู่ในบัญชีรายชื่อที่ 2 ของอนุสัญญาว่าด้วยการค้าสัตว์ป่าและพันธุ์พืชที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ (CITES) ดังนั้นถ้าหากสามารถประสบความสำเร็จในการเพาะเลี้ยงจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยลดการจับม้าน้ำจากธรรมชาติ และจะช่วยรักษาประชากรม้าน้ำให้มีอยู่ต่อไปโดยการปล่อยกลับคืนสู่ธรรมชาติด้วย

ชีววิทยา และพฤติกรรมในการสืบพันธุ์ของม้าน้ำ

      ม้าน้ำเป็นปลาที่มีเพศแยก เมื่อพ่อแม่พันธุ์ม้าน้ำเติบโตจนพร้อมที่จะสืบพันธุ์ ม้าน้ำจะเลือกคู่แล้วผสมพันธุ์กัน โดยแม่ม้าน้ำจะฝากไข่ที่ได้รับการปฏิสนธิแล้วไว้ในถุงหน้าท้องของพ่อม้าน้ำ ไข่ที่อยู่ภายในถุงหน้าท้องจะพัฒนาเป็นลูกม้าน้ำที่สมบูรณ์ โดยใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ หลังจากนั้นพ่อม้าน้ำก็จะคลอดลูกม้าน้ำที่มีลักษณะคล้ายม้าน้ำตัวเต็มวัย สามารถว่ายน้ำได้ โดยทั่วไป ลูกม้าน้ำจะมีสีเข้มจนถึงสีดำ แต่ในบางครั้งพบว่ามีลูกม้าน้ำบางตัวปรากฏสีของลำตัวตั้งแต่แรกเกิดเช่น สีแดง สีเหลือง สีขาว เป็นต้น หลังจากที่ลูกม้าน้ำออกจากถุงหน้าท้อง ก็จะเริ่มกินอาหารได้ทันที และหลังจากนั้นอีกประมาณ 18 เดือน ลูกม้าน้ำก็จะเติบโตได้เท่ากับพ่อแม่

ม้าน้ำดำ

      เป็นม้าน้ำที่สามารถพบได้ง่ายในทะเลของไทย มีขนาดใหญ่ ความยาวสูงสุดถึงประมาณ 30 เซนติเมตร มีสีสันที่แตกต่างกันออกไป คืออาจเป็นสีเหลืองขุ่น เหลือง น้ำตาลแดง อาจเป็นสีเรียบหรืออาจเป็นจุดด่างบนลำตัวก็ได้ สีที่พบทั่วไปมักจะเป็นสีน้ำตาลดำ หรือดำเข้ม ม้าน้ำดำเป็นม้าน้ำที่มีศักยภาพในการเพาะพันธุ์ สามารถปรับตัวให้เข้ากับที่เลี้ยงได้ดี กินอาหารง่ายและสามารถสืบพันธุ์ได้ในตู้เลี้ยง
ในสภาพธรรมชาติม้าน้ำดำ จะกินแพลงก์ตอนสัตว์เป็นอาหาร เช่น ลูกกุ้ง เคย ลูกปลา และมักพบม้าน้ำดำถูกจับมาขายเพื่อเลี้ยงเป็นปลาทะเลสวยงามและขายในรูปม้าน้ำแห้งในตลาดยาสมุนไพรของประเทศในแถบเอเชีย

ขั้นตอนการเพาะเลี้ยงม้าน้ำประกอบด้วย

      1. การเตรียมความพร้อมเพื่อให้ได้พ่อแม่พันธุ์ที่สมบูรณ์
      2. การเตรียมอาหารสำหรับอนุบาลลูกม้าน้ำวัยอ่อน
      3. การให้อาหารและการดูแลความสะอาดของตู้อนุบาล
      4. การดูแลคุณภาพน้ำให้อยู่ในสภาพที่เหมาะสม

1. การเตรียมความพร้อมเพื่อให้ได้พ่อแม่พันธุ์ที่สมบูรณ์


      คัดเลือกพ่อแม่พันธุ์ม้าน้ำ ส่วนมากมักเป็นม้าน้ำที่ถูกจับจากธรรมชาติ การเลือกควรเลือกม้าน้ำที่มีขนาดโตเต็มที่ ไม่ควรเลือกม้าน้ำที่มีลักษณะหายใจถี่ ๆ หรือมีแผลตามตัว การว่ายน้ำต้องนิ่ง ไม่กระวนกระวาย และมีรูปร่างลักษณะสวยงาม

       การให้อาหารสำหรับพ่อแม่พันธุ์ ควรให้ไรน้ำเค็ม(อาร์ทีเมีย) ตัวเต็มวัย มีชีวิต วันละ 2 ครั้ง ให้พออิ่มและมีการบำบัดคุณภาพน้ำด้วยระบบกรองชีวภาพ

       หลังจากนั้นนำพ่อแม่พันธุ์ ไปเลี้ยงในภาชนะเลี้ยงซึ่งเป็นที่สงบ หากม้าน้ำมีการผสมพันธุ์สังเกตดูได้จากถุงหน้าท้องของม้าน้ำเพศผู้นั้นว่า มีไข่ในถุงหน้าท้องหรือไม่ ถ้ามีไข่ถุงหน้าท้องจะขยายขนาดขึ้น ไข่จะใช้ระยะเวลาพัฒนาเป็นลูกปลาประมาณ 2 สัปดาห์ หากถุงหน้าท้องมีขนาดใหญ่มากให้แยกพ่อพันธุ์ม้าน้ำออกจากตู้เลี้ยงมาใส่ไว้ในถังอนุบาลที่มีความจุประมาณ 50-70 ลิตร รอจนกระทั่งพ่อม้าน้ำคลอดลูกจึงช้อนกลับไปไว้ในถังพ่อแม่พันธุ์ตามเดิม

2. การเตรียมอาหารสำหรับลูกม้าน้ำวัยอ่อน

      อาหารที่สะดวกต่อการอนุบาลลูกม้าน้ำ คือ ตัวอ่อนระยะนอเพลียสของไรน้ำเค็มที่เพิ่งฟักออกจากซีสต์ การเตรียมตัวอ่อนไรน้ำเค็ม สามารถเตรียมได้ดังนี้

      - นำไข่ไรทะเลประมาณ 1 ช้อนชา ใส่ในถังที่เตรียมน้ำทะเลสะอาดจำนวน 5 ลิตร ความเค็มที่ใช้ในการฟักประมาณ 15-30 ส่วนในพัน
      - ใส่หัวทรายให้อากาศ ประมาณ 12-24 ชั่วโมง
      - เมื่อตัวอ่อนไรน้ำเค็มเริ่มฟัก จะสังเกตได้จากน้ำที่ใช้เพาะเริ่มเปลี่ยนเป็นสีแดงจาง ๆ ให้หยุดการให้อากาศใช้สายยางขนาดเล็กดูดด้วยวิธีกาลักน้ำให้ผ่านสวิงกรอง นำไปล้างน้ำทะเลสะอาดก่อนนำไปให้ลูกม้าน้ำกิน

3. การให้อาหารและการดูแลความสะอาดของตู้อนุบาล


      ลูกม้าน้ำสามารถกินอาหารได้ทันทีที่ออกจากถุงหน้าท้อง ดังนั้นจึงควรเตรียมอาหารให้พร้อมให้ลูกม้าน้ำทันทีหลังจากคลอด การให้ลูกไรทะเลควรให้วันละ 1-2 ครั้ง การให้แต่ละครั้งต้องมีปริมาณมากพอ เมื่อความหนาแน่นของลูกไรลดลงก็เติมลูกไรลงไปอีก

      หลังจากเริ่มให้อาหาร จะมีตะกอนที่เกิดจากสิ่งขับถ่ายของลูกม้าน้ำและซากของไรน้ำเค็ม ดังนั้นจึงควรใช้สายยางดูดตะกอนเหล่านี้ออก โดยทำก่อนการเปลี่ยนถ่ายน้ำ

4. การดูแลคุณภาพน้ำในการอนุบาลลูกม้าน้ำ


      ภาชนะที่ใช้ในการอนุบาลลูกม้าน้ำควรเป็นตู้กระจกที่มีความจุประมาณ 50-70 ลิตร ให้อากาศโดยใช้หัวทราย ไม่ควรเลี้ยงในตู้ที่มีระบบกรอง เนื่องจากลูกม้าน้ำยังไม่แข็งแรงพอ อาจติดระบบกรองตายได้ การรักษาคุณภาพน้ำจึงใช้วิธีเปลี่ยนถ่ายน้ำดูดตะกอนทุกวัน โดยถ่ายน้ำประมาณวันละ 50 เปอร์เซ็นต์ เมื่อลูกม้าน้ำอายุได้ 1 เดือน ควรย้ายมาอนุบาลในตู้ที่มีระบบกรอง เพื่อลดภาระการถ่ายน้ำ

ปัญหาที่พบในการอนุบาลม้าน้ำ


      1. คุณค่าทางอาหารที่ใช้อนุบาล อาหารหลักที่ใช้ในการอนุบาลลูกม้าน้ำ คือ ตัวอ่อนไรน้ำเค็ม มักพบว่ามีคุณค่าทางอาหารไม่เพียงพอต่อการอนุบาลลูกม้าน้ำ โดยเฉพาะในลูกไรที่มีอายุมากกว่า 1 วัน ดังนั้นควรเสริมกรดไขมันไม่อิ่มตัว (HUFA) โดยใช้น้ำมันปลาตีผสมกับไข่แดงสดจนเข้ากันดีแล้วนำไปให้ตัวอ่อนไรทะเลกรองกิน แล้วจึงนำไปเลี้ยงในการอนุบาลลูกม้าน้ำ

      2. โรคและปรสิต ในการอนุบาลลูกม้าน้ำต้องคำนึงถึงความสะอาดเป็นพิเศษ อย่าทิ้งให้เศษอาหารหรือของเสียที่เกิดจากการขับถ่ายหมักหมมในตู้เลี้ยง สิ่งเหล่านี้จะเป็นแหล่งขยายพันธุ์ที่ดีของเชื้อโรค เช่น โปรโตซัว ซึ่งเป็นสาเหตุให้ลูกม้าน้ำตายขณะอนุบาล

      3. อุณหภูมิ การอนุบาลในช่วงฤดูหนาวต้องมีการควบคุมอุณหภูมิให้คงที่ด้วยเครื่องทำความร้อนใต้น้ำ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิในรอบวันในช่วงกว้างจะเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ม้าน้ำอ่อนแอและเป็นโรคตายได้ง่าย ดังนั้นจึงควรต้องคำนึงถึงปัจจัยเกี่ยวกับอุณหภูมิเป็นอย่างมาก