การขยายพันธุ์กล้วยไม้ป่าบางชนิดที่มีศักยภาพในการเป็นไม้กระถาง


จิตราพรรณ พิลึก
ภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
จตุจักร กทม.10900


      กล้วยไม้ป่าที่สำรวจพบในประเทศไทยมีมากกว่า 1,100 ชนิด หลายชนิดมีทรงต้นและดอกสวยงาม บานทน มีกลิ่นหอม จึงมีผู้นิยมนำไปปลูกเลี้ยงเป็นไม้กระถางประดับในและนอกบ้าน ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ เช่น รองเท้านารีคางกบ รองเท้า นารีอินทนนท์ดอกบานทน 70 วัน ไอยเรศ 12-17 วัน เอื้องเหลี่ยม 30 วัน ฟ้ามุ่ย 30 วัน ในประเทศอังกฤษและอเมริกา นิยมนำต้นกล้วยไม้ที่มีดอกมาปลูกประดับบ้าน หรือวางประดับในสวน เช่น ปลูกใส่กระถาง วางรวมกับต้นไม้อื่น หรือใส่กระเช้าแล้วแขวนไว้กับเสา หรือต้นไม้

       มีกล้วยไม้หลายชนิดที่ทนต่ออากาศหนาวได้ เช่น สกุลลิ้นมังกร(Habenaria), กระดิงภู(Pleione) และมีอีกหลายชนิดที่ปลูกลงแปลงได้ เช่น สกุลกาเรการ่อน(Cymbidium), สกุลหวาย(Dendrobium), เอื้องใบไผ่(Arundina), กล้วยไม้ดินใบหมาก(Spathoglottis), เอื้องน้ำต้น(Calanthe) และ เอื้องพร้าว(Phaius) กล้วยไม้เหล่านี้ล้วนเป็นชนิดพันธุ์ที่มีอยู่ในประเทศไทยซึ่งในอดีตมีการเก็บจากป่าส่งออกไปต่างประเทศ แต่ในปัจจุบันทางราชการห้ามส่งออกกล้วยไม้ป่าที่เก็บจากป่า แต่ตลาดยังคงมีความต้องการ ทำให้ราคาสูงขึ้น จึงมีผู้ลงทุนปลูกเลี้ยงกล้วยไม้ป่า แต่พบปัญหาที่กล้วยไม้ป่าหลายชนิดเพาะเมล็ดยาก โดยเฉพาะกล้วยไม้ดิน และต้นกล้าส่วนมากเลี้ยงยาก ตายได้ง่ายหลังจากนำออกจากสภาพปลอดเชื้อ

      ดังนั้นโครงการวิจัยนี้จึงมุ่งศึกษาวิธีการและสูตรอาหารที่เหมาะสมในการเพาะเมล็ดและปลูกเลี้ยงต้นกล้ากล้วยไม้ป่าที่มีศักยภาพในการผลิตเป็นกล้วยไม้กระถางเช่น เอื้องคำ เอื้องผาเวียง เอื้องจำปาน่าน เอื้องน้ำนม เอื้องเงินหลวง เอื้องปากนกแก้ว เอื้องน้ำต้น นางอั้วสาคริก ลิ้นมังกรใบจุด กล้วยไม้ดินใบหมาก นอกจากนั้น ผลการวิจัยยังสามารถถ่ายทอดสู่ชาวบ้านชนบทในแหล่งกำเนิดเดิม เป็นการสร้างรายได้สู่ท้องถิ่นและเป็นการอนุรักษ์พันธุ์ไม้ป่าไปพร้อมกัน