การเก็บข้อมูลโรคพืช–ไม้ผล ด้วยระบบดิจิตอล*


นิพนธ์ วิสารทานนท์
ภาควิชาโรคพืช คณะเกษตร
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
E-mail : agrnpv@ku.ac.th
โทร. 02-5791026

      ประเทศไทยตั้งอยู่ในภูมิภาคอากาศร้อนและชื้น มีพืชหลากหลายชนิดเจริญได้ดี เช่น ไม้ผล ไม้ดอก ผัก พืชไร่ พืชสมุนไพร และพืชชนิดอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ พืชเหล่านี้มีปลูกทั่วท้องที่ประเทศไทย แต่เน้นปลูกมากเป็นเชิงการค้าเฉพาะบางพื้นที่เท่านั้น พืชชนิดที่ไม่เป็นประโยชน์ เช่น วัชพืช สามารถเจริญได้มากเช่นเดียวกันจึงต้องมีการควบคุมกำจัด แต่ปัญหาที่สำคัญต่อพืชเศรษฐกิจ คือ ศัตรูพืช ซึ่งรวมทั้งโรคพืช และแมลง

       ในส่วนของโรคพืช พบระบาดได้รวดเร็วในแทบทุกชนิดพืชในระดับความรุนแรงน้อยจนถึงระดับเสียหายทางเศรษฐกิจ

       การศึกษาในการป้องกันและกำจัดโรคพืชต้องทราบรายละเอียดของโรคพืชชนิดนั้นๆ และมักกระทำได้ดีเฉพาะบุคคลที่ได้ศึกษามาในทางสาขาโรคพืช (Plant Pathology) และเชี่ยวชาญในสายงานสาขาจุลินทรีย์สาเหตุของโรคพืช เช่น เชื้อรา แบคทีเรีย ไวรัส ไวรอยด์ ไฟโตพลาสมา และไส้เดือนฝอย เช่น มายคอโลยี (Mycology) ที่เกี่ยวกับเชื้อราและต้องมีความชำนาญในการใช้กล้องจุลทรรศน์ และการเตรียมตัวอย่างและสไลด์เชื้อโรคเพื่อสำรวจรายละเอียดลักษณะของเชื้อโรคเพื่อการจำแนกชนิด และต้องมีความชำนาญในการวาดรูปเชื้อ หรือเรียนรู้การถ่ายรูปจากกล้องจุลทรรศน์ (Photomicrography) ซึ่งทำได้ 2 ระบบคือ การใช้กล้องถ่ายรูปต่อกับเลนส์ตากล้องจุลทรรศน์ด้วยตัวประกอบดัดแปลง (Microscope adapter) โดยกล้องถ่ายรูปมี 2 ระบบคือ ระบบใช้ฟิล์มกับระบบกล้องดิจิตอลซึ่งมีตัวบันทึกข้อมูลในแผ่นความจำ (Memory card) กล้องดิจิตอลมีการใช้กันมากขึ้นเพราะไม่ต้องใช้ฟิล์ม ไม่ต้องล้างฟิล์มและอัดรูป และเมื่อต้องการใช้ภาพสามารถนำไปใช้ได้เลยในเครื่องคอมพิวเตอร์ ไม่ต้องนำรูปเข้าเครื่องสแกนเนอร์ ระบบใช้ฟิล์มจึงค่อนข้างยุ่งยากและช้ากว่าการใช้ภาพดิจิตอล

       การจัดระบบข้อมูลโดยใช้ระบบดิจิตอลจึงมีความจำเป็นในการนำเสนอผลงานทางวิชาการ และเป็นแหล่งอ้างอิงได้ดี โดยจัดเตรียมข้อมูลภาพลักษณะอาการของโรคพืชโดยทั่วไป ภาพถ่ายใกล้บริเวณส่วนที่เป็นโรค อาจมีภาพหน้าใบและหลังใบเปรียบเทียบภาพขยายให้เห็นส่วนขยายพันธุ์ของเชื้อจากกล้อง Stereo นำภาพดิจิตอลเชื้อสาเหตุระยะต่างๆ มาประกอบเป็นภาพที่มีข้อมูลที่สมบูรณ์อ่านเข้าใจง่าย ดำเนินการตามขั้นตอนที่แสดงในหน้าต่อไป

       การจัดทำข้อมูลโรคพืชโดยระบบดิจิตอลทำให้ได้ข้อมูลโรคพืชที่เรียนรู้ง่าย ผู้วิจัยนำเสนอให้นักวิชาการโรคพืชทั่วประเทศจัดทำตามระบบนี้ก็ได้ ผลงานสำรวจปัญหาโรคพืชทุกชนิดทุกท้องที่ของประเทศไทย และควรนำเสนอในการประชุมวิชาการหรือตีพิมพ์เพื่อนักวิชาการจะได้รู้ปัญหาร่วมกันทั้งประเทศ มีหนังสือโรคไม้ผล 10 เล่ม และโปสเตอร์โรคไม้ผล 12 เรื่อง ใช้เผยแพร่ เซ็นต์ชื่อรับได้ที่ห้อง 514 ภาควิชาโรคพืช คณะเกษตร

 



       * นำเสนอในนิทรรศการวิชาการ “เกษตรนำชาติ ศาสตร์ที่ยั่งยืน คืนทรัพยากรสู่ชุมชน” งานเกษตรแห่งชาติ 28 มกราคม-5 กุมภาพันธ์ 2548 ณ อาคารจักรพันธ์เพ็ญศิริ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน