ทรัพยากรพืชสวน: พืชพื้นบ้านและภูมิปัญญาท้องถิ่น |
ยิ่งยง ไพสุขศานติวัฒนา วิทยา แก้วศรี, เบญญา มะโนชัย, บดินทร สอนสุภาพ และ สุภาวดี บูระพันธ์ ภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ |
ประเทศไทยในอดีตมีทรัพยากรธรรมชาติหลากหลาย
และมีภูมิปัญญาท้องถิ่นซึ่งได้รับการถ่ายทอดมาหลายชั่วอายุคน พืชพื้นบ้านหลายชนิดจึงมีศักยภาพสูงในการพัฒนาให้เกิดประโยชน์ในแง่ต่างๆ
เพื่อใช้ภายในประเทศและทดแทนการนำเข้าสินค้าบางชนิดจากต่างประเทศได้ อย่างไรก็ตามการพัฒนาประเทศในระยะที่ผ่านมาตั้งแต่แผนพัฒนาสังคมเศรษฐกิจแห่งชาติ
ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2504) ถึงปัจจุบัน เน้นการพัฒนาเศรษฐกิจ มีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติเพื่อการผลิตโดยขาดการจัดการที่เหมาะสมเป็นเหตุให้ทรัพยากรพืชที่มีคุณค่าเหล่านั้นสูญพันธุ์ไปเป็นจำนวนมาก
ในขณะเดียวกันภูมิปัญญาท้องถิ่นก็สูญหายไปพร้อมกับการพัฒนาสังคมเมือง จึงจำเป็นต้องเร่งอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นดังกล่าวในชุมชนต่างๆ
ภาควิชาพืชสวนได้เล็งเห็นถึงความสำคัญดังกล่าว จึงได้มุ่งเน้นงานวิจัยเพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรพืชพื้นบ้านและภูมิปัญญาชาวบ้านในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศ เพื่อนำพืชและภูมิปัญญาดังกล่าวมาพัฒนาต่อยอดให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของประเทศ ตัวอย่างเช่น การศึกษาพฤกษศาสตร์พื้นบ้านของชาวไทยทรงดำ อำเภอ กำแพงแสน จังหวัดนครปฐม และ การศึกษาพฤกษศาสตร์พื้นบ้านในเขตทองผาภูมิตะวันตก ซึ่งเป็นการสำรวจและรวบรวมข้อมูลพรรณไม้ที่ชาวไทยทรงดำนำมาใช้ประโยชน์ทั้งในการบริโภคและนำมารักษาโรค และโครงการ การศึกษาสภาพแวดล้อมที่มีผลต่อปริมาณสาระสำคัญในไพล ซึ่งเป็นงานวิจัยเพื่อนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาใช้พัฒนาให้เกิดประโยชน์ จากงานวิจัยดังกล่าวจะเห็นได้ว่า การพัฒนาประโยชน์จากพรรณไม้นั้น อาศัยข้อมูลจากภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นข้อมูลพื้นฐานที่นำมาใช้ในงานวิจัยในด้านต่างๆ โดยตัวอย่างพืชที่เราสามารถพัฒนาจากภูมิปัญญาท้องถิ่น สู่งานวิจัยและพัฒนาจนถึงระดับอุตสาหกรรมนั้น ตัวอย่างเช่น ไพล ซึ่งเป็นพืชที่มีใช้กันมานานสำหรับบรรเทาอาการปวดเมื่อย โดยภูมิปัญญาพื้นบ้านที่ใช้ก็นำมาเป็นส่วนประกอบสำคัญในลูกประคบ ต่อมางานวิจัยหลายแหล่งก็พบว่า สารสำคัญที่พบในน้ำมันหอมระเหยที่สกัดจากไพล ได้แก่ terpinen-4-ol และ DMPB จึงได้นำมาผลิตเป็นยาแก้ปวดในรูปครีม ซึ่งสามารถใช้เป็นยาทาแผนปัจจุบัน
|