โรคพืชเป็นปัญหาสำคัญต่อกระบวนการผลิตพืชและเกษตรกรมักใช้สารเคมีควบคุมในปริมาณและอัตราที่สูงขึ้นเป็นลำดับซึ่งส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมและสุขภาพของมนุษย์
ตลอดจนกระตุ้นให้เชื้อโรคเกิดการดื้อสารและเป็นปัญหาของโรคระบาดที่รุนแรงมากกว่าเดิม
การเกษตรในปัจจุบันจึงควรให้ความสำคัญในเรื่องการเกษตรแบบยั่งยืนและการควบคุมศัตรูพืชด้วยชีววิธี
โดยในเรื่องของโรคพืชนั้น สุดฤดี ประเทืองวงศ์
ภาควิชาโรคพืช คณะเกษตร และผู้ร่วมงาน ได้ศึกษาวิจัยและคัดเลือกจุลินทรีย์
ที่มีประโยชน์ต่อระบบการผลิตพืชหลายสายพันธุ์ เช่น
1. Bacillus firmus KPS46 และ Lactobacillus
sp. SW01/4 จากผิวใบถั่วเหลือง
2. Bacillus sereus SPt245 จากดินปลวก
3. Bacillus sp. KS217 จากเมล็ดงา
ที่สามารถควบคุมโรคและส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืชได้มากชนิด
เช่น การชักนำให้พืชเจริญเติบโตและควบคุมโรคใบจุดนูน (X. axonopodis pv.
glycines), แอนแทรคโนส (C. truncatum), โรคไวรัส (SMV และ SCLV), โรคเน่าคอดิน
(Pythium sp. และ R. solani), และโรคที่ระบบรากอื่น ๆ (F. oxysporum, F.
solani และ S. rolfsii) ของถั่วเหลือง ; โรคเน่าคอดินของอะคาเซียและสัก (P.
aphanidermatum) ; โรคใบจุดแบคทีเรียของงา (P. syringae pv. sesami) ; โรคใบจุดทานตะวัน
(Alternaria spp.) ; โรคใบไหม้ข้าวโพด (B. maydis) และ โรคใบไหม้ของหน้าวัว
(X. campestris pv. dieffenbachiae) (ภาพที่ 1)
ภาพที่ 1. ความอุดมสมบูรณ์ของพืชที่ได้รับเชื้อแบคทีเรียเป้าหมาย
;
(ก.) ถั่วเหลือง, (ข.) สัก,(ค.) งา, และ (ง ) หน้าวัว
ตามลำดับ
โดยแบคทีเรียเหล่านี้ส่งเสริมให้ราก
ลำต้น และยอดพืชเจริญยืดยาวอย่างรวดเร็ว (เกี่ยวข้องกับฮอร์โมนพืช) ขนาดและสีสรรส่วนต่าง
ๆ ของพืช ขยายใหญ่และเข้มขึ้นตามลำดับ (เกี่ยวข้องกับธาตุอาหาร/ปุ๋ย) ตลอดจนฆ่าและยับยั้งเชื้อโรคพืชหลายชนิด
(เกี่ยวกับสาร secondary metabolites และการเจริญแข่งขันกับเชื้อโรค) วิธีการใช้เชื้อแบคทีเรียดังกล่าวสามารถประยุกต์ได้หลายรูปแบบ
ได้แก่ ใช้คลุกเมล็ด การคลุกเมล็ดร่วมกับการราดดิน ใช้ผสมในดินหรือวัสดุปลูก
และการพ่นด้วย cell suspension รวมทั้งการพ่นด้วยสารเหลวที่กรองเอาเซลล์แบคทีเรียออก
(cell free culture filtrate) ทั้งนี้การศึกษาประสิทธิภาพของเชื้อแบคทีเรีย
2 สายพันธุ์ คือ KPS46 และ SW01/4
ในการควบคุมโรคสำคัญของถั่วเหลืองน้ำมันในสภาพแปลง
ณ ท้องที่จังหวัดนครราชสีมา และแปลงปลูกถั่วเหลืองฝักสดในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่
ด้วยวิธีคลุกเมล็ดร่วมกับการพ่น cell suspension พบว่าเชื้อแบคทีเรียดังกล่าวมีประสิทธิภาพในการกระตุ้นการงอกของเมล็ด
และส่งเสริมการเจริญเติบโตของต้นกล้าถั่วเหลืองได้ดี (PGPR) และสามารถลดความรุนแรงของโรคเป้าหมายได้ทัดเทียมกับการใช้สารเคมี
(copper hydroxide และ streptomycin) ตลอดจนเพิ่มปริมาณผลผลิตถั่วเหลืองได้มากกว่า
20%
นอกจากนี้ยังพบว่าเชื้อแบคทีเรียทั้ง
2 สายพันธุ์นั้น ยังสามารถชักนำให้พืชสร้างภูมิคุ้มกันต้านทานการเข้าทำลายของเชื้อโรคพืชในสภาพธรรมชาติได้หลายชนิดในลักษณะของ
induced systemic resistance (ISR) และจากการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกถั่วเหลืองฝักสดในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่
พบว่าแบคทีเรียสายพันธุ์เป้าหมายมีศักยภาพในการส่งเสริมการเจริญเติบโตและกระตุ้นให้พืชต้านทานต่อโรคสำคัญหลายชนิด
รวมทั้งเพิ่มคุณภาพให้ฝักสมบูรณ์ได้มาตรฐานส่งออก โรคเหล่านั้นได้แก่ ใบจุดนูน
ราน้ำค้าง แอนแทรคโนส (ฝักเป็น รอยเปื้อน) เน่าคอ ดินโคนเน่าและโรคเหี่ยว
และโดยเฉพาะโรคไวรัส (SMV และ SCLV) ทีสร้างความเสียหายให้ถั่วเหลืองฝักสดป็น
อย่างมาก ซึ่งแต่เดิมเกษตรกรต้องใช้สารเคมีในปริมาณสูงเพื่อควบคุมโรคและแมลงพาหะของไวรัสดังกล่าว
ที่อาจส่งผลให้เกิดปัญหาสารเคมีตกค้างในผลผลิตและถูกระงับการนำเข้าจากประเทศคู่ค้าดังเช่นที่เกิดกับผักแช่แข็งของประเทศจีน
ผลการวิจัยชี้ให้เห็นว่าเชื้อแบคทีเรียเป้าหมายมีความสามารถในการลดการระบาดของพาหะแมลงพาหะ
ส่งผลให้ถั่วเหลืองที่ได้รับเชื้อแบคทีเรียเป็นโรคไวรัสน้อยลง
การใช้แบคทีเรียที่อาศัยตามบริเวณรากและดินรอบรากพืช
ที่มีความสามารถในการอยู่อาศัยร่วมกัน มาเพิ่มปริมาณและใส่ลงไปในดินปลูกพืชเพื่อส่งเสริมการใช้ธาตุอาหารของพืช
และ/หรือการกระตุ้นให้พืชเติบโตแข็งแรงตลอดจนการผลิตสารต่าง ๆ ออกมายับยั้งการเจริญของเชื้อโรค
เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะช่วยลดปัญหาในการใช้สารเคมี และช่วยส่งเสริมการทำการเกษตรดีที่เหมาะสม
โดยเชื้อแบคทีเรีย Bacillus sereus สายพันธุ์ SPt245 จากดินปลวกมีประสิทธิภาพสูงในการกระตุ้นการเจริญเติบโตของพืชป่าไม้ทั้งกระถินเทพาและสักที่ปลูกภายใต้สภาพโรงเรือนอย่างมีนัยสำคัญ
สามารถส่งเสริมความยาวราก ความสูงของพืชดังกล่าวได้ป็นอย่างดี และมีประสิทธิภาพในการควบคุมและลดความรุนแรงของโรคที่ระบบรากได้
จึงมีแนวโน้มสูงที่จะนำเชื้อแบคทีเรีย PGPR สายพันธุ์ดังกล่าวไปปรับใช้ในการส่งเสริมการเจริญของพืชเศรษฐกิจที่สำคัญอื่น
ๆ พืชป่าไม้ พืชอนุรักษ์ และ/หรือพืชโตช้า ซึ่งจะช่วยสร้างเสริมระบบการปลูกป่าทดแทนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ผลการวิจัยนี้แสดงให้เห็นว่าเชื้อแบคทีเรียทุกสายพันธุ์
มีศักยภาพสูงในลักษณะของการเป็นเชื้อปฏิปักษ์ควบคุมโรคพืชได้อย่างครอบคลุมทั้งโรคที่เกิดจากเชื้อรา
แบคทีเรีย และไวรัส สามารถส่งเสริมการใช้ธาตุอาหารและกระตุ้นการเจริญเติบโตของพืช
ตลอดจนชักนำให้พืชเกิดความต้านทานต่อการเข้าทำลายของเชื้อสาเหตุโรคชนิดต่าง
ๆ ได้กว้างขวาง ทั้งนี้สายพันธุ์เชื้อที่มีประโยชน์ดังกล่าวอยู่ในระหว่างการพัฒนารูปแบบที่เหมาะสม
เพื่อสะดวกต่อการนำไปใช้ และการผลิตในระดับเชิงอุตสาหกรรม ตลอดจนการถ่ายทอดให้นำไปปรับใช้ในระบบการเกษตรแบบผสมผสานได้อย่างเหมาะสมมากยิ่งขึ้น
|