ฟาแลนนอฟซิส พันธุ์พระนาม “จุฬาภรณ์”
(Phalaenopsis Princess Chulabhorn)


จิตราพรรณ พิลึก
ภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร มหาวิืทยาลัยเกษตรศาสตร์

      เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2542 ในระหว่างที่ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จเยือนสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกาอย่างเป็นทางการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและที่ดิน ในนามของรัฐบาลศรีลังกา ได้ทูลถวายต้นกล้วยไม้ลูกผสมพันธุ์ใหม่ซึ่งเป็นผลงานการผสมพันธุ์ของ Royal Botanical Garden Peradeniya นามว่า ฟาแลนนอฟซิส พริ้นเซส จุฬาภรณ์ (Phalaenopsis Princess Chulabhorn)

       กล้วยไม้ฟาแลนนอฟซิสต้นนี้เป็นลูกผสมระหว่าง Phalaenopsis Rose Miva กับ Phalaenopsis Kandy Queen ผสมโดยสวนพฤกษศาสตร์ Royal Botanical Garden Peradeniya เมืองแคนดี ประเทศ ศรีลังกา เป็นพันธุ์ที่ดอกมีขนาดใหญ่ กลีบกว้างกลมมน เส้นผ่าศูนย์กลางดอกประมาณ 9 ซม. x 7.5 ซม. กลีบดอกสีขาว โคนกลีบเป็นสีชมพูอ่อน ซึ่งค่อย ๆ จางเรื่อลงไปจนกลืนกับสีขาว สวยงามนุ่มนวลมาก

       เมื่อเสด็จกลับถึงประเทศไทย ทรงพระกรุณามอบต้นให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ดูแลกล้วยไม้พันธุ์พระนามนี้ให้ดำรงไว้และขยายพันธุ์ให้แพร่หลาย ในเบื้องต้น ผศ.จิตราพรรณ พิลึก ภาควิชา พืชสวน คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ดำเนินการผสมเกสรข้ามดอกในต้นเดียวกันและผสมข้ามกับต้นอื่นเพื่อขยายพันธุ์และปรับปรุงพันธุ์ พบว่าดอกที่ผสมข้ามกับพันธุ์อื่นหลุดร่วงไป แต่ดอกที่ผสมตัวเองติดฝักได้ เมื่อฝักมีอายุ 4 เดือน ได้นำฝักมาเพาะเมล็ดในสภาพปลอดเชื้อ ได้ต้นกล้าจำนวนมาก ต้นแข็งแรงและเจริญเติบโตเร็ว ทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้ทูลเกล้าฯ ถวายต้นกล้ารวม 70 ขวด แด่พระองค์ท่าน เมื่อต้นเดือนมีนาคม 2544

       ในเดือนมิถุนายน 2544 โครงการปลูกเลี้ยงกล้วยไม้ Phalaenopsis Princess Chulabhorn ได้ถือกำเนิดขึ้นที่โรงเรือนปฏิบัติการเพาะพันธุ์กล้วยไม้ พระตำหนักกองบิน 41 จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีอากาศเย็นแต่ไม่เย็นจัด เหมาะแก่การเจริญเติบโตของกล้วยไม้พันธุ์ดังกล่าว โดยมีสำนักพระราชวัง กองทัพอากาศ และส่วนราชการในจังหวัดเชียงใหม่ให้การสนับสนุน มี คุณชาญณรงค์ มากพันธุ์ และ คุณประสิทธิ์ ท่ากระเชียง เป็นผู้ดำเนินงาน มีรองศาสตราจารย์นายแพทย์ชัยชน โลว์เจริญกูล เลขาธิการราชวัง และอธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เป็นที่ปรึกษา

       กล้วยไม้พันธุ์พระนาม “จุฬาภรณ์” ที่ปลูกเลี้ยงที่โครงการฯ ได้ให้ดอกชุดแรกในเดือนสิงหาคม 2545 นับเป็นดอกรุ่นแรกที่ผลิบานให้ได้ยลความงามในประเทศไทย

       ต่อมาในเดือนกันยายน 2546 ผศ.จิตราพรรณ พิลึก ร่วมกับคุณชาญณรงค์ มากพันธุ์ ได้ผสมข้าม Phalaenopsis Princess Chulabhorn กับกล้วยไม้หลายชนิด และประสบความสำเร็จเพียงคู่ผสมเดียวเมื่อใช้ม้าบิน (Doritis pulcherrima) ดอกสีเหลืองเป็นต้นแม่ เมื่อฝักอายุ 3 เดือน ได้นำมาเพาะเมล็ดในสภาพปลอดเชื้อ ได้ลูกผสมจำนวนหนึ่ง ซึ่งจะออกปลูกได้ในเดือนพฤษภาคม 2548 ลูกผสมชุดนี้คาดว่าจะได้ต้นและดอกที่มีขนาดเล็กลง เหมาะกับการเป็นกล้วยไม้กระถางวางประดับในบ้าน

       ความงดงามของดอก Phalaenopsis Princess Chulabhorn ได้ถูกถ่ายทอดเป็นภาพเขียนพิมพ์บนถ้วยเซรามิค เพื่อให้คนทั่วไปได้รู้จักและเป็นเจ้าของ นับว่าเป็นการแนะนำให้คนทั่วไปได้รู้จักกับกล้วยไม้สกุลฟาแลนนอฟซิส และการที่ทรงสนับสนุนให้มีโครงการปลูกเลี้ยงและขยายพันธุ์กล้วยไม้ Phalaenopsis Princess Chulabhorn นับเป็นพระปรีชาสามารถที่ทรงเห็นความสำคัญทางเศรษฐกิจของกล้วยไม้สกุลนี้ที่จะได้รับความนิยมอย่างสูงสุดในตลาดไม้กระถางของโลก ซึ่งมีปริมาณการผลิตทั่วโลกมากถึง 100 ล้านต้น ในปี 2546 ความรู้ที่ได้รับจากการปลูกเลี้ยงในโครงการฯและวิธีการขยายพันธุ์ จะสามารถนำไปประยุกต์ใช้เพื่อให้ประเทศไทยเป็นแหล่งสำคัญในการผลิตและส่งออกต้นฟาแลนนอฟซิสและลูกผสมออกสู่ตลาดโลก