กลุ่มทอผ้าไหมที่ร่วมโครงการนี้
ได้แก่ 1) กลุ่มปลูกหม่อนเลี้ยงไหมและทอผ้า บ้านทุ่งแสม ตำบลหนองขาม
อำเภอหนองหญ้าไซ จังหวัดสุพรรณบุรี 2) กลุ่มสตรีทอผ้าบ้านหัวเมือง
อำเภอมหาชนะชัย จังหวัดยโสธร 3) กลุ่มสตรีทอผ้าบ้านหนองกาด ตำบลลมศักดิ์
อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ 4) โครงการส่งเสริมศิลปาชีพบ้านสมพรรัตน์
ตำบลหนองสะโน อำเภอบุญฑริก จังหวัดอุบลราชธานี และ 5) กลุ่มสตรีทอผ้าบ้านหนองพง
ตำบลทุ่งใหญ่ อำเภอโพธิ์ประทับช้าง จังหวัดพิจิตร ซึ่งแต่ละกลุ่มมีความเชี่ยวชาญและมีผลิตภัณฑ์โดดเด่นแตกต่างกันไป
กลุ่มปลูกหม่อนเลี้ยงไหมและทอผ้าบ้านทุ่งแสม
มีความเชี่ยวชาญในการทอผ้ามัดหมี่ ผ้าลูกฟูก ผ้าขิด ผ้ายกดอก ผ้าเหลือบและผ้าพื้น
ที่น่าสนใจคือผ้ามัดหมี่ตาสก็อต และผ้ามัดหมี่ด้ายยืน กลุ่มสตรีทอผ้าบ้านหัวเมือง
สามารถทอผ้ามัดหมี่ ผ้าริ้ว ผ้าลูกฟูก ผ้าตา ผ้ายกดอก ผ้าเหลือบและผ้าพื้นได้ดี
ที่น่าสนใจคือ ผ้าไหมย้อมสีธรรมชาติทอยกดอกลายลูกแก้ว ในกลุ่มนี้มีการตัดเย็บผลิตภัณฑ์บ้าง
เช่น กระเป๋า กลุ่มสตรีทอผ้าบ้านหนองกาดเก่งในเรื่องทอผ้ามัดหมี่ลวดลายละเอียดประณีต
โครงการส่งเสริมศิลปาชีพบ้านสมพรรัตน์ ทอผ้าเหลือบ ผ้าหางกระรอก ผ้ากาบบัว
ผ้าขิดและผ้ายกดอกได้ดี ส่วนกลุ่มสตรีทอผ้าบ้านหนองพงสามารถทอผ้ามัดหมี่ได้ดี
อย่างไรก็ตามผลิตภัณฑ์ที่กลุ่มเหล่านี้ผลิตส่วนใหญ่เป็นผ้าซิ่น ผ้าขาวม้า
ผ้าผืนเป็นชุด (ผ้ามัดหมี่ 2 หลา ผ้าพื้น 2 หลา) ผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปจากผ้าค่อนข้างจำกัด
สีสันค่อนข้างสดใส และจากการทดสอบคุณภาพสีย้อม พบว่ามีความคงทนต่อการซักอยู่ในระดับ
ปานกลาง ถึง ดี แต่ถ้าพิจารณาจากค่าการเปื้อนสีบนผ้าขาว พบว่าอยู่ในระดับปานกลาง
ซึ่งแสดงว่ายังมีการตกสีอยู่ คณะผู้วิจัยจึงดำเนินการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าไหมในเรื่องต่างๆ
ดังนี้
1. พัฒนาให้มีความคงทนของสีต่อการซักดีขึ้น
โดยการใช้สีย้อมที่เหมาะสม มีการฝึกเรื่องการย้อมสีในกลุ่มปลูกหม่อนเลี้ยงไหมและทอผ้าบ้านทุ่งแสม
จังหวัดสุพรรณบุรี
2. พัฒนารูปแบบการผลิตผ้าผืนสำหรับตัดเย็บเครื่องแต่งกาย
โดยกำหนดลวดลายที่เหมาะสม และปรับเปลี่ยนรูปแบบการทอให้มีลายมัดหมี่ต่อเนื่องกัน
ซึ่งดำเนินการที่กลุ่มสตรีทอผ้าบ้านหนองกาด จังหวัดศรีสะเกษ และกลุ่มสตรีทอผ้าบ้านหนองพง
จังหวัดพิจิตร
3. พัฒนาลวดลายให้เหมาะสมกับผลิตภัณฑ์ เช่น
กำหนดลวดลายเฉพาะสำหรับผลิตภัณฑ์ ดำเนินการที่กลุ่มสตรีทอผ้าบ้านหนองกาด
จังหวัดศรีสะเกษ
4. พัฒนาเนื้อผ้าให้ดูแลรักษาง่ายขึ้น โดยทดลองใช้ด้ายไหมปั่นในการทอผ้า
ซึ่งดำเนินการที่กลุ่มปลูกหม่อนเลี้ยงไหมและทอผ้าบ้านทุ่งแสม จังหวัดสุพรรณบุรี
และกลุ่มสตรีทอผ้าบ้านหัวเมือง จังหวัดยโสธร
5. พัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องแต่งกายสำหรับวัยรุ่นและผู้ใหญ่ตอนต้น
โดยออกแบบและตัดเย็บจากผ้าไหมในโครงการ จำนวน 40 แบบ ซึ่งได้จัดแสดงในงาน
"มหกรรมเทคโนโลยี 60 ปี มก.-37 ปี ธ.ก.ส. พัฒนาชนบทไทย"
6. พัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องใช้และเคหสิ่งทอจากผ้าไหม
อาทิ ปลอกหมอนอิง กระเป๋า กล่องใส่ของ และสิ่งประดับบ้าน

|