การพัฒนาและปรับปรุงคุณภาพผลิตภัณฑ์กล้วย
Development and Quality Improvement of Banana Products
 
มณฑาทิพย์ ยุ่นฉลาด1 กาญจนารัตน์ ทวีสุข2 รัศมี ศุภศรี2 และ เนื้อทอง วนานุวัธ2
1 สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร
2ภาควิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร   คณะอุตสาหกรรมอาหาร
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

โทร. 0-2942-8629-35

    กล้วยเป็นพืชเศรษฐกิจชนิดหนึ่งที่น่าสนใจยิ่งในปัจจุบัน ผลผลิตกล้วยส่วนใหญ่ใช้บริโภคภายในประเทศในรูปของผลไม้สดและผลไม้แปรรูป โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์แปรรูปประเภทกล้วยตากหรือกล้วยอบเป็นผลิตภัณฑ์ที่ให้มูลค่าทางเศรษฐกิจสูงโดยประมาณว่าในปี 2539 มีการส่งออกกล้วยตากถึง 62 ตัน มูลค่า 10.3 ล้านบาท (ศูนย์สถิติการพาณิชย์, 2539) การนำเทคโนโลยีอบแห้งรูปแบบต่างๆอาทิการใช้โรงตากพลังแสงอาทิตย์ หรือเตาอบลมร้อนมาใช้ปรับปรุงกระบวนการผลิตโดยทดแทนการตากแดดธรรมดา ซึ่งมักจะมีปัญหาด้านสุขาภิบาลอาหารในขั้นตอนการผลิตในระดับพื้นบ้าน ก็จะสามารถช่วยให้ผลิตภัณฑ์กล้วยตากมีคุณภาพเป็นไปตามมาตรฐานและข้อกำหนดได้
    กลุ่มสตรีสหกรณ์บ้านท่าเสา อ. บ้านค่าย จ. ระยอง ได้ผลิตกล้วยอบอนามัย จากกล้วยน้ำหว้าที่มีเอกลักษณ์เฉพาะท้องถิ่น กล่าวคือ ผลิตภัณฑ์มีลักษณะเป็นกล้วยทั้งลูกที่ไม่ผ่านการทับให้แบนเหมือนกล้วยตากในเขตพิษณุโลก กรรมวิธีการผลิตอยู่ในเกณฑ์พอใช้ แต่ยังคงต้องมีการปรับปรุงสถานที่ให้มีสุขลักษณะที่ดีในการผลิตและการควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์ให้มีความสม่ำเสมอ อย่างไรก็ตาม จากการตรวจวิเคราะห์กล้วยอบอนามัยในเบื้องต้นพบว่า ผลิตภัณฑ์มีค่าAw เท่ากับ 0.65 และมีปริมาณจุลินทรีย์อยู่ในระดับต่ำมาก แสดงว่าคุณภาพทางจุลินทรีย์ของกล้วยอบอนามัยอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน แต่โดยธรรมชาติของการเก็บรักษากล้วยอบที่อุณหภูมิห้องจะเกิดการเปลี่ยนสีเป็นน้ำตาลเข้มถึงน้ำตาลดำ เนื่องจากปฎิกิริยาทางชีวเคมี ทำให้กล้วยอบมีอายุการเก็บค่อนข้างสั้น ภายใต้สภาวะการเก็บผลิตภัณฑ์ที่มีความชื้นสัมพัทธ์สูงในถุงฟิล์มที่อากาศซึมผ่านได้ ดังนั้น สิ่งสำคัญที่อาจช่วยยืดอายุการเก็บกล้วยอบได้ คือ การใช้บรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสมบรรจุผลิตภัณฑ์กล้วยอบเพื่อจัดจำหน่าย ซึ่งกำลังทำการทดลองที่สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร นอกจากนี้ ยังมีผลพลอยได้จากการทำกล้วยอบอนามัย คือ การทำกล้วยกวนจากกล้วยน้ำหว้าที่สุกหงอมเกินไป หรือจากกล้วยอบที่มีสีไม่สม่ำเสมอเพราะการควบคุมการอบไม่ดี กล้วยกวนมีเนื้อสัมผัสและรสชาติอร่อย แต่จำเป็นต้องปรับปรุงขั้นตอนการผลิตตั้งแต่การทำแผ่นกล้วยกวน ตัดหั่น และปั้นชิ้น จากการประมวลและวิเคราะห์ข้อมูลของปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นในการผลิตผลิตภัณฑ์กล้วยดังกล่าว จึงเห็นความจำเป็นที่จะต้องมีการศึกษาวิจัย พัฒนาและปรับปรุงเทคโนโลยีการผลิต โดยเฉพาะการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิต และการควบคุมคุณภาพ เพื่อให้ผลิตภัณฑ์มีคุณภาพได้มาตรฐานในตลาดสากล อันจะเป็นการยกระดับให้ผลิตภัณฑ์หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ.

 

    กล้วยอบเนยหรือกล้วยเบรกแตก เป็นผลิตภัณฑ์กล้วยอีกชนิดหนึ่งที่คนไทยมีความคุ้นเคยต่อคุณลักษณะของผลิตภัณฑ์ ทั้งในด้านสี และเนื้อสัมผัส มีกรรมวิธีการผลิตที่ง่าย โดยการทอดแผ่นกล้วยน้ำหว้าดิบพร้อมเนย น้ำตาลและเกลือ ในน้ำมันพืช ซึ่งโดยทั่วไปนิยมใช้น้ำมันมะพร้าวผ่านกระบวนการทำให้บริสุทธิ์ (น้ำมันบัว) ผลิตภัณฑ์กล้วยอบเนยนี้ กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรหนองบัว อ. กงไกรลาศ จ. สุโขทัย (นางกิมหล่าน แซ่ด่าน )ทำการผลิตในปริมาณที่ค่อนข้างมากต่อวัน และส่งผลิตภัณฑ์ไปขายที่จังหวัดทางภาคใต้อาทิตย์ละ 6 ตัน ทุกอาทิตย์ ผู้รับซื้อที่อำเภอหาดใหญ่จะทำการบรรจุใหม่เพื่อส่งไปจำหน่ายที่ประเทศมาเลย์เซีย จากการประมวลข้อมูลที่ได้พบว่า นอกจากปัญหาสุขลักษณะในกระบวนการผลิตแล้ว ยังพบปัญหาการแตกหักของผลิตภัณฑ์จากการวางทับซ้อนกันขณะขนส่งด้วย และปัญหาที่สำคัญ คือการยืดอายุการเก็บรักษาผลิตภัณฑ์ให้นานกว่าเดิมที่มีอายุการเก็บเพียง 3 เดือน ซึ่งเป็นผลจากปัจจัยต่างๆที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ การเลือกใช้ชนิดน้ำมันที่เหมาะสมสำหรับการทอด และชนิดบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสมเพื่อป้องกันการซึมผ่านเข้าออกของอากาศ ซึ่งมีผลทำให้ชะลอการเกิดกลิ่นหืนในกล้วยอบเนย และการเปลี่ยนแปลงของเนื้อสัมผัสที่เกิดจากความชื้น ซึ่งอยู่ในขั้นตอนของการทดลองศึกษาอายุการเก็บด้วยวิธี Q10 และอาจมีการเติมแก๊สไนโตรเจนในบรรจุภัณฑ์เพื่อลดการแตกหัก ซึ่งจะทำการศึกษาทดลองต่อไป