"
..ปัญหาสำคัญ คือ เรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องน้ำเสียกับขยะ
ได้ศึกษามาแล้วเหมือนกัน ทำไม่ยากนัก ในทางเทคโนโลยีทำได้ แล้วในเมืองไทยเองก็ทำได้
.."
"
..แล้วก็ต้องทำการเรียกว่า การกรองน้ำ ให้ทำน้ำนั้นไม่ให้โสโครก
แล้วปล่อยน้ำลงมาที่เป็นที่ทำการเพาะปลูก หรือทำทุ่งหญ้า หลังจากนั้นน้ำที่เหลือก็ลงทะเลโดยที่ไม่ทำให้น้ำนั้นเสีย
.."
พระราชดำรัสดังกล่าวข้างต้นนี้ แสดงออกถึงน้ำพระราชหฤทัยที่ทรงห่วงใยและทรงตระหนักถึงปัญหามลภาวะ
ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมซึ่งนับวันจะเป็นปัญหาที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น
ความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมเป็นไปอย่างรวดเร็วและส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา
สาเหตุสำคัญประการหนึ่ง คือ ชุมชน และเมืองต่างๆ ส่วนใหญ่ยังขาดระบบบำบัดน้ำเสียและกำจัดขยะมูลฝอยที่มีประสิทธิภาพ
หรืออาจเนื่องมาจากเทคโนโลยีที่จะนำมาใช้ในการกำจัดขยะมูลฝอยและบำบัดน้ำเสียนั้นมีค่าใช้จ่ายสูงทั้งในการก่อสร้างและการบำรุงรักษา
และจากกระแสพระราชดำรัสข้างต้นนี้เอง จึงเป็นที่มาของโครงการต้นแบบการบำบัดน้ำเสียและการกำจัดขยะมูลฝอยโดยวิธีธรรมชาติที่มีชื่อว่า
"โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ"
พื้นที่ดำเนินงานศึกษาวิจัยของโครงการฯ ตั้งอยู่บริเวณบ้านพะเนิน
ตำบลแหลมผักเบี้ย อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี ห่างจากเทศบาลเมืองเพชรบุรี
ประมาณ 22 กิโลเมตร มีพื้นที่ประมาณ 642 ไร่ เป็นพื้นที่สาธารณะประโยชน์ติดทะเล
และบางส่วนแต่เดิมเคยเป็นพื้นที่ทำนาเกลือมาก่อน
ชุมชนเทศบาลเมืองเพชรบุรี ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเพชรบุรี
ซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลักที่สำคัญสายหนึ่งของ ภาคตะวันตก มีประชากรประมาณ
45,000 คน แต่เดิมมีการใช้ประโยชน์จากน้ำในแม่น้ำทั้งในการอุปโภค บริโภค
เกษตรกรรม และการคมนาคม นอกจากนี้ได้มีการนำน้ำจากแม่น้ำเพชรบุรีไปใช้ในพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา
ต่อมา ระยะหลังก่อนมีการดำเนินโครงการฯ คุณภาพน้ำของแม่น้ำเพชรบุรีมีสภาพเสื่อมโทรมลงมาก
โดยในแต่ละวันจะมีน้ำเสียถูกปล่อยลงสู่แม่น้ำเพชรบุรีประมาณ 3,500
- 4,500 ลูกบาศก์เมตร ทำให้น้ำในแม่น้ำเกิดการเน่าเสีย จนไม่สามารถนำน้ำมาใช้ในการอุปโภคและบริโภคได้
ทั้งนี้เป็นผลมาจากกิจกรรมในการใช้น้ำในรูปแบบต่าง ๆ ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่เป็นอย่างมาก
การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของประชากรในเขตเทศบาลฯ
และการประกอบกิจกรรมต่าง ๆ นอกจากจะส่งผลกระทบถึงปัญหาน้ำเสียชุมชนแล้ว
ปัญหาที่ตามมาอีกอย่างหนึ่งก็คือ ปัญหาการเพิ่มขึ้นของปริมาณขยะมูลฝอยในแต่ละวัน
ปัจจุบันมีปริมาณขยะมากถึง 40 ตัน และยังมีวิธีการกำจัดที่ไม่ถูกต้อง
บางส่วนถูกกองทิ้งไว้กลางแจ้ง และบางแห่งยังมีการทิ้งลงสู่แม่น้ำ ก่อให้เกิดปัญหาการปนเปื้อนของมลสารในดินและน้ำใต้ดิน
ปัญหาการแพร่กระจายของเชื้อโรค และปัญหาการส่งกลิ่นเหม็น เป็นต้น

โครงการฯ
ได้ทำการศึกษาค้นคว้าวิจัยเพื่อหาเทคโนโลยีในการกำจัดขยะและบำบัดน้ำเสียชุมชนโดยยึดหลักการตามแนวพระราชดำริ
กล่าวคือ การให้ธรรมชาติช่วยเหลือธรรมชาติด้วยกันเองอาศัยกลไกต่าง
ๆ ที่เกิดขึ้นจากกระบวนการย่อยสลายของจุลินทรีย์ การเติมอากาศจากพืช
สาหร่าย ลม และแสงแดด ทั้งนี้โดยใช้วิธีการในการจัดการเพื่อสนับสนุนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ซึ่งเทคโนโลยีในการกำจัดขยะและบำบัดน้ำเสียของโครงการฯ ได้ทำการศึกษาค้นคว้าวิจัยและพัฒนามาอย่างเป็นขั้นตอนและผสมผสานกันอย่างต่อเนื่องตั้งแต่กระบวนการกำจัดและบำบัด
และการนำไปใช้ประโยชน์ ทั้งทางวิทยาศาสตร์ ทางสังคม การประชาสัมพันธ์
และสิ่งแวดล้อมศึกษา ซึ่งเทคโนโลยีตามแนวพระราชดำริในการกำจัดขยะและบำบัดน้ำเสียชุมชนดังกล่าวประกอบด้วย
เทคโนโลยีการกำจัดขยะ
ร้อยละ 50 ของขยะชุมชนโดยทั่วไปจะเป็นขยะอินทรีย์
(ขยะเน่าเสีย) ที่สามารถย่อยสลายได้ง่าย ส่วนที่เหลือเป็นพวกที่ไม่ย่อยสลาย
จึงสามารถนำไปผ่านกระบวนการเพื่อนำกลับใช้ประโยชน์ได้ใหม่ และส่วนที่ใช้ประโยชน์ไม่ได้จะถูกนำไปฝังกลบอย่างถูกต้องตามหลักสุขาภิบาล
โครงการฯ ได้ทำการศึกษาวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีในการกำจัดขยะชุมชน ด้วยวิธีการนำขยะมาหมักทำปุ๋ยโดยการประยุกต์การฝังกลบตามหลักสุขาภิบาลมาทำในกล่องคอนกรีต
ทั้งนี้เพื่อเป็นการลดปัญหาการสูญเสียพื้นที่ขนาดใหญ่ เพื่อความประหยัดค่าใช้จ่าย
และเพื่อความสะดวกในการนำปุ๋ยที่ได้จากการหมักมาใช้ประโยชน์ สำหรับเทคโนโลยีนี้จะใช้ขยะอินทรีย์ใส่ในกล่องคอนกรีตเป็นชั้น
ๆ ระหว่างชั้นจะใส่ดินแดงหรือดินนา เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการย่อยสลายของจุลินทรีย์
และมีการรดน้ำเพิ่มความชื้นและลดอุณหภูมิในกระบวนการหมัก ซึ่งใช้ระยะเวลาในการทำปุ๋ยหมักจากขยะเพียง
90 วัน

เทคโนโลยีการบำบัดน้ำเสีย
การบำบัดน้ำเสียชุมชน โครงการฯ ได้จัดการรวบรวมน้ำเสียและลำเลียงจากเทศบาลเมืองเพชรบุรีไปตามท่อยาวประมาณ
18.5 กิโลเมตร เข้าสู่ระบบบำบัดน้ำเสียของโครงการฯ ที่ตำบลแหลมผักเบี้ย
อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี โดยใช้กระบวนการทางธรรมชาติตามแนวทางพระราชดำริ
ซึ่งแบ่งเทคโนโลยีการบำบัดน้ำเสียออกเป็น 4 ระบบ คือ
1. ระบบบ่อบำบัดน้ำเสีย (Lagoon Treatment)
เป็นระบบที่อาศัยการกักพักน้ำเสียไว้ในระยะเวลาที่เหมาะสมกับปริมาณความสกปรกของน้ำ
การเติมออกซิเจนด้วยกระบวนการสังเคราะห์แสงของแพลงก์ตอน และสาหร่าย
อาศัยแรงลมช่วยในการพลิกน้ำเติมอากาศ การย่อยสลายสารอินทรีย์ด้วยจุลินทรีย์
และระยะเวลากักพักน้ำจะช่วยฆ่าเชื้อโรค ระบบบ่อบำบัดน้ำเสียของโครงการฯ
ประกอบด้วย บ่อตกตะกอน 1 บ่อ บ่อผึ่ง 3 บ่อ และบ่อปรับสภาพ 1 บ่อ โดยเชื่อมต่ออย่างเป็นอนุกรม
สามารถรองรับปริมาณน้ำเสียสูงสุดได้ 10,000 ลูกบาศก์เมตร/วันโดยน้ำเสียจะถูกลำเลียงจากเทศบาลเมืองเพชรบุรีเข้าสู่บ่อตกตะกอน
แล้วผ่านไปยังบ่อผึ่ง 1 2 และ 3 ตามลำดับ จากนั้นเข้าสู่บ่อปรับสภาพคุณภาพน้ำเป็นขั้นสุดท้าย
ทั้งนี้น้ำเสียแต่ละบ่อ จะไหลล้นผ่านอาคารระบายน้ำด้านบนและเชื่อมต่อกันทางตอนล่างของบ่อถัดไปเป็นลำดับ
สำหรับระบบนี้มีประสิทธิภาพการบำบัดความสกปรกในรูปของบีโอดีได้ถึงร้อยละ
85-90

2.
ระบบพืชและหญ้ากรองน้ำเสีย (Plant and Grass Filtration) เป็นระบบที่ให้พืชช่วยดูดซับธาตุอาหารจากการย่อยสลายสารอินทรีย์เป็นสารอนินทรีย์ที่พืชต้องการของจุลินทรีย์ในดิน
การปลดปล่อยออกซิเจนจากกระบวนการสังเคราะห์แสงจากระบบราก สาหร่าย และแพลงค์ตอน
โดยการปล่อยให้น้ำเสียไหลผ่านแปลงพืชหรือหญ้า โดยน้ำเสียจะไหลผ่านผิวดินและต้นพืชหรือหญ้าเป็นระยะทางอย่างน้อย
50 เมตร ระดับความสูงของน้ำเสียที่กักขังบริเวณท้ายแปลงเท่ากับ 30
เซนติเมตร สำหรับระยะเวลาเก็บกักที่เหมาะสม คือ ขังน้ำเสียไว้ 5 วัน
แล้วปล่อยให้แห้ง 2 วัน เพื่อให้จุลินทรีย์ได้พักตัว สำหรับพืชและหญ้าที่ใช้ในการบำบัดแบ่งเป็น
2 กลุ่ม คือ หญ้าอาหารสัตว์ ได้แก่ หญ้าคาลลา หญ้าโคสครอส และหญ้าสตาร์
พืชทั่วไป ได้แก่ ธูปฤาษี กกกลม (กกจันทบูร) และหญ้าแฝกพันธุ์อินโดนีเซีย
เมื่อครบระยะเวลา 45 วัน (ยกเว้นธูปฤาษี 90 วัน) จะตัดพืชและหญ้าเหล่านั้นออก
เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของระบบ ซึ่งหญ้าเหล่านี้นำไปใช้ในการเลี้ยงสัตว์ได้
เนื่องจากการปนเปื้อนของมลสารไม่เกินมาตรฐานสำหรับสัตว์ ส่วนพืชทั่วไปนำไปใช้ในการจักสานได้เป็นอย่างดี

3. ระบบพื้นที่ชุ่มน้ำเทียม
(Constructed Wetland) เป็นระบบที่ใช้หลักการและกลไกในการบำบัดน้ำเสียเช่นเดียวกับระบบพืชและหญ้ากรอง
จะแตกต่างกันที่วิธีการ กล่าวคือ การปล่อยให้น้ำเสียขังในแปลงพืชน้ำ
ที่ระดับความสูง 30 เซนติเมตรจากพื้นแปลง โดยให้น้ำเสียมีระยะเวลากักพักอย่างน้อย
1 วัน ใช้การเติมน้ำเสียใหม่ลงสู่ระบบให้ได้ระดับ 30 เซนติเมตร ซึ่งเท่ากับปริมาณน้ำเสียที่สูญหายไปโดยกระบวนการระเหยในแต่ละวัน
และอีกวิธีการหนึ่งคือ การเติมน้ำเสียใหม่ลงสู่ระบบอย่างต่อเนื่องตลอดวัน
โดยที่อัตราความเร็วของน้ำเสียเท่ากับปริมาณน้ำเสียใหม่ที่สามารถผลักดันไล่น้ำเสียเก่าออกจากระบบหมดในเวลา
1 วัน สำหรับพืชที่ใช้ในการบำบัดคือ ธูปฤาษี และกกกลม (กกจันทบูร)
เมื่อครบระยะเวลาจะตัดพืชเหล่านั้นออก เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของระบบ
ระยะเวลาที่เหมาะสม คือ 90 วันสำหรับธูปฤาษี และ 45 วันสำหรับกกกลม
(กกจันทบูร) พืชเหล่านี้นำไปใช้ในการจักสาน เยื่อกระดาษ และเชื้อเพลิงเขียวได้

4.
ระบบแปลงพืชป่าชายเลน (Mangrove Forest Filtration) เป็นการบำบัดน้ำเสียโดยใช้แปลงพืชป่าชายเลน
ใช้หลักการเจือจางระหว่างน้ำเสียกับน้ำทะเล และกักพักน้ำเสียกับน้ำทะเลที่ผสมกันแล้วไว้ระยะเวลาหนึ่งโดยการเลียนแบบธรรมชาติตามระยะเวลาการขึ้น-ลงของน้ำทะเลในแต่ละวัน
เพื่อให้เกิดการตกตะกอนของสารอินทรีย์ในน้ำเสีย อาศัยระบบรากของพืชป่าชายเลนช่วยในการปลดปล่อยก๊าซออกซิเจนเติมให้กับน้ำเสียและจุลินทรีย์ในดิน
เพื่อให้กลไกการย่อยสลายสารอินทรีย์โดยจุลินทรีย์ในดินในการบำบัดน้ำเสียมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
สำหรับสัดส่วนในการผสมระหว่างน้ำเสียและน้ำทะเลจะมีสัดส่วนมากน้อยเพียงใดนั้นขึ้นอยู่กับค่าเฉลี่ยความสกปรกของน้ำเสียในรูปบีโอดี
ที่ตรวจวัดได้

แบบจำลองการฝึกอบรมเพื่อสร้างความรู้เกี่ยวกับการกำจัดขยะและการบำบัดน้ำเสีย
สำหรับพระภิกษุในเขตเทศบาลเมืองเพชรบุรี
การวิจัยเรื่องแบบจำลองการฝึกอบรมเพื่อสร้างความรู้เกี่ยวกับการกำจัดขยะและการบำบัดน้ำเสียสำหรับพระภิกษุในเขตเทศบาลเมืองเพชรบุรี
มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างแบบจำลองการฝึกอบรมเพื่อสร้างความรู้เกี่ยวกับการกำจัดขยะและการบำบัดน้ำเสียสำหรับประชากรซึ่งเป็นพระภิกษุ
จำนวน 37 รูป เป็นบุคคลที่บวชเป็นสมณเพศโดยถูกต้องตามหลักพุทธศาสนามาแล้วอย่างน้อย
3 พรรษา และอยู่ในเขตเทศบาลเมืองเพชรบุรี โดยยังไม่ผ่านการอบรมตามหลักสูตรพระสังฆาธิการอาสาสมัครสิ่งแวดล้อม
เครื่องมือในการวิจัย เป็นแบบจำลองการฝึกอบรม
ประกอบไปด้วย คู่มือการใช้แบบจำลองการฝึกอบรมเพื่อสร้างความรู้เกี่ยวกับการกำจัดขยะและการบำบัดน้ำเสียสำหรับพระภิกษุในเขตเทศบาลเมืองเพชรบุรี
สื่อสิ่งพิมพ์เรื่องความรู้เกี่ยวกับการกำจัดขยะและการบำบัดน้ำเสีย
วิทยากรบรรยายเพื่อสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับการกำจัดขยะและบำบัดน้ำเสีย
เบื้องต้น สื่อวีดิทัศน์แนะนำโครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
การศึกษาดูงานพื้นที่โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ย
อันเนื่องมาจาก พระราชดำริ และแบบทดสอบเพื่อวัดความรู้ เจตคติ ความสำนึก
การตอบโต้ และทักษะ เกี่ยวกับการกำจัดขยะและการบำบัดน้ำเสีย โดยกระบวนการสร้างแบบจำลองการฝึกอบรมเพื่อสร้างความรู้เกี่ยวกับการกำจัดขยะและการบำบัดน้ำเสียสำหรับพระภิกษุใน
เขตเทศบาลเมืองเพชรบุรี สรุปได้ดังภาพ

การสร้างแบบจำลองการฝึกอบรม
ผู้วิจัยได้สร้างขึ้นมีคุณภาพเป็นที่ยอมรับในด้านค่าความตรง ค่าความยากง่าย
ค่าอำนาจจำแนก ค่าความเชื่อมั่น และค่าความเป็นปรนัย ปรากฏผลการเรียนรู้ในเรื่องความรู้เกี่ยวกับขยะและน้ำเสีย
5 ระดับ คือ ความรู้ เจตคติ ความสำนึก การตอบโต้ และทักษะ โดยมีผลของการเรียนรู้ของพระภิกษุหลังการใช้แบบจำลองการฝึกอบรมโดยมีค่าคะแนนเฉลี่ย
ร้อยละคือ ด้านความรู้ ได้คะแนนเฉลี่ยหลังการฝึกอบรมร้อยละ 81.20 ด้านเจตคติ
ได้คะแนนเฉลี่ยหลังการฝึกอบรมร้อยละ 86.50 ด้านความสำนึก ได้คะแนนเฉลี่ยหลังการฝึกอบรมร้อยละ92.43
ด้านการตอบโต้ ได้คะแนนเฉลี่ยหลังการฝึกอบรมร้อยละ 80.10 และด้านทักษะ
ได้คะแนนเฉลี่ยหลังการฝึกอบรมร้อยละ 75.10 ซึ่งได้คะแนนเฉลี่ยสูงกว่าเกณฑ์ที่
ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมตั้งไว้ ร้อยละ 70 (เกษม, 2545) ทุกจุดประสงค์เชิงพฤติกรรม
ดังนั้นจึงสรุป ได้ว่า แบบจำลองการฝึกอบรมจะช่วยเสริมสร้างให้ผู้เข้ารับการ
ฝึกอบรมมีความรู้เกี่ยวกับการกำจัดขยะและการบำบัดน้ำเสียที่ถูกต้องมากขึ้น
ซึ่งสอดคล้องกับ กนิษฐา กอวัฒนา (2530: 8) ที่ได้กล่าวถึงฝึกอบรมไว้ว่า
เป็นกระบวนการอันที่จะทำให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรม เกิดความรู้ความเข้าใจ
เจตคติ และความชำนาญเกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง จนกระทั่งผู้เข้ารับการฝึกอบรม
เกิดความรู้ หรือการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไปตามวัตถุประสงค์ของการฝึกอบรมนั้น
ๆ
|