การใช้ต้นข้าวโพดฝักอ่อนเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตโคนม
Utilization of Baby Corn Storer to Increase Productivity in Dairy Cows
 
จีระชัย กาญจนพฤฒิพงศ
ภาควิชาสัตวบาล คณะเกษตร
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

โทร. 034-351-892

คุณค่าทางอาหารของต้นข้าวโพดฝักอ่อน

          ต้นข้าวโพดฝักอ่อนเป็นผลพลอยได้จากการผลิตข้าวโพดฝักอ่อนเพื่อการส่งออก ซึ่งมีพื้นที่ปลูกมาก และมีผลผลิตต่อไร่สูงประมาณ 6-8 ตันต่อไร่ ใช้เป็นอาหารหยาบที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง ประกอบด้วย ความชื้นร้อยละ 80-85 โปรตีนรวมร้อยละ 8-10 เยื่อใยในรูปผนังเซลล์ร้อยละ 48-52 แป้งและน้ำตาลร้อยละ 20-23 เมื่อเปรียบเทียบคุณค่ากับอาหารหยาบชนิดอื่นๆ ในประเทศไทย นอกจากนี้ต้นข้าวโพดฝักอ่อนมีเยื่อใยในรูปผนังเซลล์ต่ำมาก ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการย่อยและการหมักในกระเพาะหมัก ทำให้โคนมกินอาหารดีและได้รับพลังงานได้มากขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตนมลดลง

การใช้ต้นข้าวโพดฝักอ่อนเป็นแหล่งเยื่อใยรูปผนังเซลล์สำหรับโคนม

          ต้นข้าวโพดฝักอ่อนมีลำต้นที่เป็นข้อและค่อนข้างแข็ง หากนำต้นข้าวโพดฝักอ่อนทั้งต้น โดยไม่ได้สับไปเลี้ยงโคนม มักก่อให้เกิดปัญหาการเลือกกินเฉพาะส่วนที่เป็นใบและลำต้นในส่วนที่อ่อน จะเหลือลำต้นส่วนที่แข็งและส่วนที่เป็นข้อ ซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหาการกินเยื่อใยที่ไม่เพียงพอ ในกรณีแม่โครีดนมที่ให้นมมาก ทำให้มีปัญหากีบอักเสบตามมา

การใช้ต้นข้าวโพดฝักอ่อนเป็นแหล่งเยื่อใยในรูปผนังเซลล์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตโคนมมีข้อปฏิบัติดังนี้

กรณีใช้ต้นข้าวโพดฝักอ่อนเป็นอาหารหยาบในรูปสด

          ให้นำต้นข้าวโพดฝักอ่อนมาสับเป็นชิ้นเล็กๆ โดยเลือกใช้เครื่องสับที่สามารถบีบข้อให้แตกก่อน และสับเป็นชิ้นที่มีความยาว 2-3 เซนติเมตร แม่โครีดนมสามารถกินต้นข้าวโพดฝักอ่อนดังกล่าวได้วันละไม่น้อยกว่า 25 กิโลกรัมต่อตัว อนึ่งไม่ควรนำต้นข้าวโพดฝักอ่อนที่ตัดข้าม 2-3 วัน มาเลี้ยงแม่โครีดนม เพราะอาจมีเชื้อราที่เจริญเติบโตในส่วนเนื้อในของลำต้นข้าวโพดฝักอ่อน ซึ่งพิษของเชื้อราอาจก่อให้เกิดการแท้งในแม่โคอุ้มท้อง และก่อให้เกิดการปนเปื้อนน้ำนมด้วยสารพิษจากเชื้อรา

กรณีใช้ต้นข้าวโพดฝักอ่อนถนอมเป็นอาหารหยาบหมักที่ใช้เลี้ยงโคนม

          ในฤดูกาลที่ขาดแคลนอาหารหยาบ เนื่องจากต้นข้าวโพดฝักอ่อนมีส่วนประกอบของน้ำหรือความชื้นสูงมาก การนำต้นข้าวโพดฝักอ่อนมาสับและถนอมเป็นอาหารหยาบหมักโดยตรง มักก่อให้เกิดปัญหาอาหารหยาบหมักที่มีคุณภาพไม่ดีและอายุการเก็บสั้น การนำต้นข้าวโพดฝักอ่อนมาถนอมเป็นอาหารหยาบหมักคุณภาพสูง มีข้อปฏิบัติดังนี้

  1. ตัดต้นข้าวโพดฝักอ่อนแล้วผึ่งแดดในแปลง 1 วัน เพื่อให้ความชื้นลดลง
  2. นำต้นข้าวโพดฝักอ่อนที่ผึ่งแดดแล้ว มาสับด้วยเครื่องสับที่บีบข้อให้แตกแล้วสับเป็นชิ้นที่มีความยาว 2-3 เซนติเมตร
  3. นำต้นข้าวโพดฝักอ่อนที่สับแล้วมาผสมกับมันเส้นในอัตราส่วนน้ำหนัก 90 ต่อ 10 ซึ่งมันเส้นในอัตราส่วน 10 นี้ จะช่วยลดความชื้นและช่วยเพิ่มอายุการเก็บถนอมต้นข้าวโพดฝักอ่อนในรูปอาหารหยาบหมักได้ยาวนานขึ้น
  4. นำส่วนผสมของต้นข้าวโพดฝักอ่อนและมันเส้นที่คลุกเคล้าอย่างทั่วถึงแล้ว มาบรรจุในถุงพลาสติกชนิดใสที่สามารถบรรจุได้ 25-30 กิโลกรัม (ห้ามใช้ถุงดำสำหรับรองรับขยะ เพราะอากาศสามารถผ่านเข้าออกถุงดำได้ เป็นผลให้เชื้อราสามารถเจริญเติบโตในอาหารหยาบหมักที่ถนอมในถุงดำได้) แล้วนำมาเหยียบให้แน่น
  5. ก่อนมัดถุงให้ใช้เครื่องดูดฝุ่น ดูดอากาศออกให้มากที่สุด โดยสังเกตเห็นถุงแฟบลงแล้วจึงมัดปากถุงให้แน่น
  6. เมื่อหมักถนอมครบ 3 สัปดาห์ สามารถนำอาหารหยาบหมักดังกล่าว ไปเลี้ยงแม่โครีดนมได้วันละไม่น้อยกว่า 16 กิโลกรัมต่อตัว