การเลี้ยงหอยแมลงภู่แบบพัฒนา
(แบบแพเชือก)
การเลี้ยงหอยแมลงภู่ในปัจจุบันกระทำโดยใช้หลักไม้
เช่น ไม้ไผ่ ปักลงในทะเลบริเวณชายฝั่ง เพื่อเป็นวัสดุให้ลูกหอยแมลงภู่ที่เกิดตามธรรมชาติมาเกาะอาศัยและเจริญเติบโตจนได้ขนาดที่จับขายได้
ปริมาณไม้ที่ใช้ในการเลี้ยงแต่ละครั้ง จะต้องใช้เป็นจำนวนมาก แต่มีอายุการใช้งานเพียง
1-2 ปีก็ต้องเปลี่ยนใหม่ ในปัจจุบัน การเลี้ยงหอยแมลงภู่แบบปักไม้เริ่มประสบปัญหาต่างๆ
คือ ไม้อ่อน บางครั้งทำให้หักก่อนที่จะทำการเก็บเกี่ยวผลผลิต, ไม้โดนพายุพัดหักล้ม
ทำให้ได้รับความเสียหายเก็บเกี่ยวผลผลิตได้น้อย, ไม้มีแนวโน้มหายากและมีราคาแพงขึ้น,
ไม้ที่ใช้เลี้ยงหอยแมลงภู่หลังจากการเก็บเกี่ยวแล้วจะปล่อยทิ้งในทะเลและย้ายไปปักไม้บริเวณอื่น
ซึ่งบริเวณเลี้ยงหอยเดิมก็จะเหลือตอไม้ไว้ ซึ่งใช้ระยะเวลานานในการย่อยสลายทำให้เป็นแหล่งหมักหมมของตะกอน,
ไม้ที่หลุดออกจากบริเวณที่เลี้ยงจะลอยไปติดชายหาด ทำให้เกิดทัศนียภาพที่ไม่สวยงาม
เป็นการทำลายแหล่งท่องเที่ยว, การเลี้ยงหอยแมลงภู่แบบปักไม้ไม่สามารถทำได้ในบริเวณที่มีสภาพดินแข็ง,
กีดขวางทางเดินเรือ เนื่องจากถ้าใช้ไม้ที่มีขนาดสั้นเวลาน้ำขึ้นเต็มที่จะมองไม่เห็นไม้,
การเลี้ยงหอยแมลงภู่แบบปักไม้ จะมีอายุการใช้งานประมาณ 1-2 ปี ซึ่งต้องเสียค่าไม้และค่าแรงงานในการปักไม้เป็นประจำทุกปี
ดังนั้นจึงได้มีการคิดค้นพัฒนาวิธีการเลี้ยงหอยแมลงภู่แบบใหม่ ที่สามารถเพิ่มผลผลิตให้สูงขึ้นและสามารถแก้ปัญหาจากวิธีการเลี้ยงแบบปักไม้ดั้งเดิม
เพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบอาชีพนี้ ให้ดำเนินกิจการต่อไปได้ด้วยดี
และยังทำให้อาชีพการเลี้ยงหอยแมลงภู่ขยายตัวออกไปด้วย ซึ่งวิธีใหม่นี้เรียกว่า
การเลี้ยงหอยแมลงภู่แบบแพเชือก
ในช่วง
4-5 ปีที่ผ่านมาบริเวณชายฝั่งทะเลด้านอ่าวไทยได้รับผลกระทบจากการเกิดปรากฏการณ์น้ำเปลี่ยนสี
(Red Tide) ซึ่งการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งจะได้รับความเสียหายจากปรากฏการณ์นี้โดยเฉพาะการเลี้ยงหอยแมลงภู่
ถ้าเป็นการเลี้ยงหอยแมลงภู่แบบปักไม้เวลาเกิดปรากฏการณ์น้ำเปลี่ยนสี
นอกจากหอยจะตายแล้วไม้ที่ใช้ก็ไม่สามารถใช้ได้อีกเพราะหอยจะไม่มาเกาะแล้ว
ขั้นตอนการทำแพ
นำเชือกขนาด 16 มิลลิเมตร ตัดยาว 50 เมตร มาถักให้ได้ขนาดตา 1x1 ตารางเมตร
กว้าง 40 เมตร ยาว 40 เมตร ซึ่งจะเท่ากับพื้นที่ 1 ไร่ เสร็จแล้วใช้เชือกขนาด
20 มิลลิเมตร ผูกยึดเป็นโครงตัวแพรอบนอกเพื่อเพิ่มความคงทนและแข็งแรง
นำถังทุ่นขนาด 20-30 ลิตร มาผูกโดยใช้เชือกขนาด 6-8 มิลลิเมตร ผูกถังทุ่นที่ปมให้แน่น
โดยผูก 6 แถวตามแนวตั้งแล้วเว้น 1 แถว ทำสลับกันจนหมดพื้นที่ 1 ไร่
จัดทำทุ่นสมอปูนและนำไปทิ้งตามจุดที่ต้องการเพื่อใช้ยึดแพเชือก หลังจากนั้นจัดเตรียมสายอวนเลี้ยงลูกหอยโดยใช้เชือกขนาด
8 มิลลิเมตร ตัดให้ยาว 2 เมตร ถ่วงปลายด้านหนึ่งด้วยอิฐมอญแดง ส่วนอีกปลายด้านหนึ่งผูกกับเชือกขนาด
16 มิลลิเมตร ของแพที่จัดเตรียมไว้แล้วในทะเลโดยผูกใต้ถังทุ่น 1 สายและผูกรอบนอกของถังทุ่นให้ห่างกัน
30 เซนติเมตร อีก 4 สาย ดังนั้น 1 ถังทุ่นจะมีสายเลี้ยงหอย 5 สาย ในพื้นที่
1 ไร่ จะผูกสายเลี้ยงหอยทั้งหมด (1,600x5) = 8,000 สาย
ตาราง :
แสดงการเปรียบเทียบประมาณการรายรับและรายจ่ายการเลี้ยงหอยแมลงภู่แบบปักไม้กับการเลี้ยงแบบแพเชือก
(ในช่วง 3 ปี)

การเพาะเลี้ยงแพลงก์ตอนอาหารสัตว์น้ำวัยอ่อน
ในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ
แพลงก์ตอนซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งที่จะใช้เป็นอาหารหลักในการอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน
เพราะแพลงก์ตอนเป็นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง ช่วยควบคุมคุณภาพน้ำให้เหมาะสมต่อการอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน
แม้ว่าในปัจจุบันได้มีการพัฒนาอาหารสำเร็จรูปให้มีขนาดเหมาะสมต่อสัตว์น้ำวัยอ่อนและสามารถกินได้ตั้งแต่
สัตว์น้ำวัยอ่อนเริ่มกินอาหาร แต่อาหารสำเร็จรูปที่มีคุณค่าทางโภชนาการที่สมบูรณ์ทำได้ยาก
และผลเสียก็คืออาหารจะจมน้ำได้ง่ายไม่สอดคล้องกับธรรมชาติของลูกสัตว์น้ำที่ล่องลอยน้ำในช่วงระยะแรก
ปัจจุบันอาหารที่ใช้ในการอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อนทั้งแพงก์ตอนพืชและแพลงก์ตอนสัตว์
เริ่มมีบทบาทที่สำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ แต่ส่วนใหญ่เกษตรกรมักประสบปัญหาในการเพาะเลี้ยงแพลงก์ตอน
ซึ่งอาจมาจากหลายสาเหตุ เช่น หัวเชื้อที่ได้มาคุณภาพไม่ดี ไม่แข็งแรงพอ
ขาดความรู้และความชำนาญในการเพาะเลี้ยงแพลงก์ตอน
ดั้งนั้น
การเพาะเลี้ยงแพลงก์ตอนพืชและแพลงก์ตอนสัตว์เพื่อใช้อนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อนจึงจำเป็นที่ควรส่งเสริมและถ่ายทอดความรู้ให้แก่เกษตรกรและผู้สนใจทั่วไป
เพื่อประโยชน์แก่เกษตรกร ที่เพาะและอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจการเพาะเลี้ยงแพลงก์ตอนอาหารสัตว์น้ำต่อไป
แพลงก์ตอนที่ใช้ในการอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน
แบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ
แพลงก์ตอนพืชและแพลงก์ตอนสัตว์
แพลงก์ตอนพืช
เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีสารสีในเซลล์ ทำให้สามารถดูดซับพลังงานแสงและใช้สำหรับการสังเคราะห์แสงเพื่อผลิตอาหาร
แพลงก์ตอนพืชมีความสำคัญ เพราะเป็นอาหารเบื้องต้นของโซ่อาหาร(food
chian) ในแหล่งน้ำ ซึ่งจัดได้ว่าเป็นผู้ผลิต ( producer) แพลงก์ตอนพืชที่นิยมทำการเพาะเลี้ยงใช้เป็นอาหารลูกสัตว์น้ำวัยอ่อนได้แก่
Chlorella sp., Tetraselmis sp. , Isochrysis sp.
, Chaetoceros sp. และ Skeletonema sp.
การเพาะขยายแพลงก์ตอนพืช
การขยายแพลงก์ตอนในห้องปฏิบัติการ
นำน้ำทะเลที่มีความเค็ม
25-28 ppt. ที่ผ่านการ autoclave ปริมาณ 900 มิลลิลิตร เติมสารอาหาร
และเติมหัวเชื้อแพลงก์ตอน ปริมาณ 100 มิลลิลิตร นำไปให้อากาศ และวางในที่ที่มีแสงประมาณ
3,000 - 5,000 Lux อุณหภูมิ 22-26 องศาเซียเซียส
การขยายแพลงก์ตอนในปริมาณมาก
เตรียมน้ำทะเลที่สะอาดผ่านการกรองและการฆ่าเชื้อแล้ว
ความเค็ม 25 - 28 ppt เติมปุ๋ยโดยใช้สูตรอาหารที่เหมาะสม โดยถ้าขยายแพลงก์ตอนกลุ่มไดอะตอมใช้สูตรซาโตะและซาริกาวา
ถ้าขยายสาหร่ายสีเขียวใช้สูตรสำหรับสาหร่ายสีเขียว เติมแพลงก์ตอนในอัตราส่วน
1:50 ให้อากาศ และตั้งทิ้งไว้ที่มีแสง นาน 3-5 วัน จึงนำไปใช้งาน สำหรับในขั้นตอนของการเพาะและขยายพันธุ์แพลงก์ตอนพืชชนิดTetraselmis
sp. , Isochrysis sp. ทั้งในห้องปฏิบัติการและนอกห้องปฏิบัติการ จะไม่เติมสารอาหารส่วนของ
โซเดียมเมตาซิลิเกต ลงไป
แพลงก์ตอนสัตว์
เป็นสิ่งมีชีวิตกลุ่มที่ไม่สามารถสร้างอาหารพวกสารอินทรีย์ได้ด้วยตัวเอง
จึงจัดว่าเป็นสัตว์ประเภท heterotrophic หรือเป็นกลุ่ม secondary production
ในระบบนิเวศของน้ำ แพลงก์ตอนสัตว์มีบทบาทสำคัญในด้านสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศน์วิทยาของแหล่งน้ำ
ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าแพลงก์ตอนพืช เช่น ใช้เป็นดัชนีชี้ถึงสภาพของแหล่งน้ำทั้งในด้านการประมงและด้านอื่นๆ
ว่าแหล่งน้ำนั้นมีความอุดมสมบูรณ์เพียงใด
ชนิดแพลงก์ตอนสัตว์ที่ใช้ในการอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน
เช่นโรติเฟอร์ , ไรน้ำกร่อย , ไรน้ำจืด , อาร์ทีเมีย และโคพีพอด
การเพาะขยายแพลงก์ตอนสัตว์
- ทำการล้างถังหรือบ่อเพาะแพลงก์ตอนสัตว์
ให้สะอาด ตากบ่อให้แห้ง
- ทำการเพาะเลี้ยงแพลงก์ตอนพืชเพื่อใช้เป็นอาหารของแพลงก์ตอนสัตว์
ใช้เวลาประมาณ 3 วัน
- เติมหัวเชื้อแพลงก์ตอนสัตว์
- เมื่อแพลงก์ตอนสัตว์เพิ่มจำนวนมากขึ้นหรือสังเกตดูว่าอาหารหมด
หรือน้ำเริ่มใส ใช้ระยะเวลาประมาณ 2-3 วัน ก็ทำการเก็บเกี่ยว โดยกรองเอาแพลงก์ตอนสัตว์ไปใช้เป็นอาหารลูกสัตว์น้ำวัยอ่อนต่อไป
|